คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 272/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 กระทำละเมิดโดยเบียดบัง ยักยอกเงินของสมาชิกโจทก์ซึ่งประสงค์จะซื้อหุ้นเพิ่มเติม และเงินที่ สมาชิกโจทก์นำมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายข้ออ้าง ที่ อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในฟ้องหรือในเอกสารท้ายฟ้องอันเป็น ส่วนหนึ่งของคำฟ้องว่า สมาชิกดังกล่าวเป็นผู้ใดประสงค์ซื้อหุ้นเพิ่ม หรือชำระหนี้รายละเท่าใด อันชัดเจนเพียงพอที่จะให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอย่างไร ทั้งเพียงพอที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 เข้าใจและให้การต่อสู้คดีได้ ฟ้องโจทก์จึงขาดสาระสำคัญตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172เป็นฟ้องเคลือบคลุม.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติจัดตั้งสหกรณ์พ.ศ. 2511 จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ตำแหน่งผู้จัดการมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการจัดเก็บเงินสะสมรายเดือน เงินหุ้นเงินฝาก จ่ายเงินกู้ จัดทำเอกสารเกี่ยวกับเงินกู้ ดำเนินการอย่างอื่นเกี่ยวกับเรื่องการให้กู้เงิน รับผิดชอบในการรับจ่ายเงินทั้งปวงของโจทก์ รวบรวมใบสำคัญและเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเงินเก็บรักษาเงินสดของโจทก์ รับผิดชอบการจัดทำบัญชีและอื่น ๆจำเลยที่ 2 เป็นพนักงานของโจทก์มีหน้าที่เก็บสะสมเงิน เงินหุ้นเงินฝาก เงินชำระหนี้และรับจ่ายเงิน เก็บรักษาเงินสดของโจทก์ในเขตอำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้มอบหมายให้รับผิดชอบและอยู่ในความควบคุมดูแลของจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 3เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 2 ต่อมาเมื่อเดือนสิงหาคม2528 คณะกรรมการตรวจสอบบัญชีของโจทก์ในเขตรับผิดชอบของจำเลยที่ 2ตรวจสอบพบว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคม 2528 จำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกันทุจริต รับเงินจากสมาชิกของโจทก์ซึ่งประสงค์จะซื้อหุ้นเพิ่มเติมจำนวน 7,400 บาท และรับเงินที่สมาชิกนำมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จำนวน 113,500 บาท แล้วจำเลยทั้งสองไม่นำเงินส่งเข้าบัญชีของโจทก์ แต่ได้ร่วมกันลงบัญชีรายรับของโจทก์ว่าได้รับชำระหนี้จากสมาชิกดังกล่าวครบถ้วนแล้ว ทั้งได้ลงรายการว่าได้ขายหุ้นให้แก่สมาชิกแล้วจำนวน 7,400 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสองไม่ได้นำเงินส่งเข้าบัญชีของโจทก์เพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ และเป็นรายรับของโจทก์ กับร่วมกันเบียดบังเอาเงินจำนวน 120,900 บาทเป็นของจำเลยทั้งสอง และจากการตรวจสอบบัญชีงบปีต่อเนื่องระหว่างพ.ศ. 2527 และ พ.ศ. 2528 พบว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันลงรายการแสดงยอดเงินในบัญชีลูกหนี้ของโจทก์ไม่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงโดยใน พ.ศ. 2527 จำเลยทั้งสองได้รับชำระหนี้จากสมาชิกของโจทก์จำนวน 33 รายการ เป็นเงิน 162,600 บาท แต่จำเลยทั้งสองไม่นำเงินส่งเข้าบัญชีของโจทก์แต่กลับแสดงบัญชีต่อคณะกรรมการดำเนินการว่าได้รับชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว และร่วมกันเบียดบังเอาเงินจำนวนดังกล่าวไปเป็นของจำเลยทั้งสองอันเป็นการทุจริต เมื่อโจทก์ตรวจพบการทุจริตดังกล่าวจึงแจ้งให้จำเลยทั้งสอง และจำเลยที่ 3ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันนำเงินจำนวน 283,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 กันยายน 2528 ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการดำเนินการทราบถึงการละเมิดมาชำระให้แก่โจทก์แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 กันยายน 2528 จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 75 วัน เป็นเงินค่าดอกเบี้ย 4,368.99 บาท ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงินจำนวน287,868.99 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 283,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่าฟ้องเคลือบคลุม เพราะไม่บรรยายฟ้องให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 กระทำการอย่างใด เมื่อใดและในลักษณะเช่นใดในแต่ละครั้งที่เป็นการละเมิด ทั้งไม่แสดงหลักฐานที่แสดงว่า การกระทำของจำเลยเป็นละเมิด จำเลยที่ 1 ได้แบ่งแยกสายงานมอบหมายหน้าที่และความรับผิดชอบให้เจ้าหน้าที่ในบังคับบัญชารับไปปฏิบัติ โดยจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายประจำหน่วยฝ่ายที่ 3ปฏิบัติงานในหน่วยแต่ละอำเภอ หน้าที่ของจำเลยที่ 2 คือจัดทำบัญชีทะเบียนและดำเนินการเกี่ยวกับสมาชิกเข้าออกจากโจทก์ จัดทำบัญชีคุมเงินคงเหลือของเงินสะสมรายยดือน ทุนเรือนหุ้น และยอดลูกหนี้คงเหลือ โดยจำเลยที่ 1 ไม่เคยมอบหมายให้จัดเก็บเงิน ส่วนการรับเงินหรือจ่ายเงินต่าง ๆ ของโจทก์นั้น เป็นหน้าที่ของฝ่ายการเงินจำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับเงินจากสมาชิกโจทก์ที่จะซื้อหุ้นเพิ่มเติมจำนวน 7,400 บาท และไม่เคยรับเงินชำระหนี้จากสมาชิกที่ชำระแก่โจทก์จำนวน 113,500 บาท แต่อย่างใด บัญชีงบปีต่อเนื่องระหว่างพ.ศ. 2527 และ พ.ศ. 2528 นั้น ได้ผ่านการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีซึ่งนายทะเบียนแต่งตั้งและรับรองความถูกต้องโดยคณะกรรมการดำเนินการในขณะนั้นก็รับรองเห็นชอบตลอดจนที่ประชุมใหญ่สามัญของโจทก์ประจำปี พ.ศ. 2527 ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติรับรองว่าฐานะทางการเงิน ตลอดจนหลักฐานทางบัญชีต่าง ๆ เป็นไปโดยถูกต้องแล้ว
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่ได้บรรยายโดยแจ้งชัดว่า เงินจากสมาชิกซึ่งประสงค์จะซื้อหุ้นเพิ่มเติมจำนวน 7,400 บาท และเงินที่สมาชิกนำมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จำนวน113,500 บาท ในปี 2528 และจำนวน 162,600 บาท ในปี 2527 มีจำนวนกี่หุ้น หุ้นละเท่าใด จำนวนกี่ราย รายละเท่าใด ใครบ้างชำระให้เมื่อใด เป็นหนี้ค่าอะไร รับมาจากสมาชิกของโจทก์ซึ่งอยู่ในเขตใดเป็นหน้าที่อยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่โจทก์คนใดบ้าง จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์ มีหน้าที่ควบคุมดูแลทางบัญชีการลงทะเบียนเงินงวดชำระหนี้ และหุ้นส่วนของสมาชิกในเขตอำเภอกาบเชิงซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบ จำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่เก็บสะสมเงินเงินหุ้น เงินฝาก เงินชำระหนี้โจทก์ และรับจ่ายเงินของโจทก์เก็บรักษาเงินสดของโจทก์ดังที่โจทก์กล่าวอ้างแต่อย่างใด แต่ละเดือนจะมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบบัญชีของโจทก์เป็นผู้ตรวจสอบการดำเนินการบัญชีรายรับรายจ่ายต่าง ๆ ของโจทก์พร้อมทั้งรับรองความถูกต้องเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการดำเนินการทุกเดือน ให้รับรองความถูกต้องอีกครั้งหนึ่ง ไม่มีการทุจริตยักยอกเงินของโจทก์ติดต่อกันเป็นเวลานานตามที่โจทก์อ้าง จำเลยที่ 2 ไม่ได้เก็บหรือรับเงินซื้อหุ้นเพิ่มเติมและเงินชำระหนี้จากสมาชิกของโจทก์รวม 283,500 บาทตามฟ้องแต่อย่างใด จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ใช้เงิน287,868.99 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 283,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีคงมีปัญหาเฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 3เพียงว่า ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 เคลือบคลุมหรือไม่พิเคราะห์คำฟ้องโจทก์มีใจความสำคัญว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นผู้จัดการและเป็นพนักงานของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสุรินทร์ โจทก์ตามลำดับ ต่างมีหน้าที่เกี่ยวกับจัดเก็บ เงินสะสมรายเดือน เงินหุ้นเงินฝาก เก็บรักษาเงินสดของสหกรณ์ โดยจำเลยที่ 2 อยู่ในความควบคุมของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 2ต่อมาเดือนสิงหาคม 2528 กรรมการตรวจสอบบัญชีของโจทก์ตรวจสอบพบว่าตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคม 2528 จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ร่วมกันทุจริตรับเงินจากสมาชิกสหกรณ์โจทก์ ซึ่งประสงค์ซื้อหุ้นเพิ่มเติมจำนวน 7,400 บาท และรับเงินที่สมาชิกนำมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จำนวน 113,500 บาท แล้วไม่นำเงินส่งเข้าบัญชีของโจทก์แต่ร่วมกันลงบัญชีรายรับของโจทก์ว่าได้รับชำระหนี้จากสมาชิกในจำนวนเงินดังกล่าว และพบว่าเมื่อ พ.ศ. 2527 จำเลยทั้งสองได้รับชำระหนี้จากสมาชิกของโจทก์จำนวน 33 ราย เป็นเงิน 162,600 บาทแล้วจำเลยทั้งสองเบียดบังเงินจำนวนดังกล่าวแต่แสดงบัญชีต่อคณะกรรมการดำเนินงานว่าได้รับชำระหนี้จากสมาชิกจำนวน 33 คนครบถ้วน เห็นว่า โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 กระทำละเมิดโดยเบียดบังยักยอกเงินของสมาชิกโจทก์ซึ่งประสงค์จะซื้อหุ้นเพิ่มเติมและเงินที่สมาชิกโจทก์นำมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในฟ้องหรือในเอกสารท้ายฟ้องอันเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องว่า สมาชิกดังกล่าวเป็นผู้ใด ประสงค์ซื้อหุ้นเพิ่ม หรือชำระหนี้รายละเท่าใด อันชัดเจนเพียงพอที่จะให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอย่างไรทั้งเพียงพอที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 เข้าใจและให้การต่อสู้คดีได้ฟ้องโจทก์จึงขาดสารสำคัญตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 เป็นฟ้องเคลือบคลุม ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์เฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”.

Share