คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2988/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ซึ่งเกิดในราชอาณาจักรไทยโดยมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตาม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 มาตรา 7 (1) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 มาตรา 4 ประกอบมาตรา 10 ซึ่งบัญญัติให้บทบัญญัติมาตรา 7 (1) แห่งพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่ พ.ร.บ.สัญชาติ(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ใช้บังคับด้วย
โจทก์มีสัญชาติไทยแล้วตั้งแต่เกิด แต่กลับถูกถอนสัญชาติไทยแล้วนำไปจดแจ้งไว้ในทะเบียนบ้านญวนอพยพอันเป็นสัญชาติอื่น ถือได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิว่าไม่ได้เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทยตลอดมานับแต่ถูกถอนสัญชาติ ดังนั้นแม้โจทก์ฟ้องคดีเกิน 10 ปี นับแต่ทราบเหตุโต้แย้งสิทธิดังกล่าวคดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นคนสัญชาติไทย ให้จำเลยถอนชื่อโจทก์ทั้งเจ็ดออกจากทะเบียนบ้านญวนอพยพ
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นบุตรคนญวนอพยพอยู่ในข่ายที่ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ คดีโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งเจ็ดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษากลับว่า โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นบุคคลมีสัญชาติไทย ให้จำเลยถอนชื่อโจทก์ทั้งเจ็ดออกจากทะเบียนบ้านญวนอพยพ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามารดาของโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นคนสัญชาติไทยโจทก์ทั้งเจ็ดซึ่งเกิดในราชอาณาจักรไทยโดยมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทยย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ มาตรา ๗ (๑) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ มาตรา ๔ ประกอบมาตรา ๑๐ ซึ่งบัญญัติให้บทบัญญัติมาตรา ๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย ทั้งพระราชบัญญัตินี้มาตรา ๓ ให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ แล้ว โจทก์ทั้งเจ็ดจึงเป็นบุคคลผู้ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามบทบัญญัติกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่า คดีโจทก์ทั้งเจ็ดขาดอายุความเพราะทราบเหตุถูกถอนสัญชาติไทยเกินกว่า ๑๐ ปีแล้วนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ทั้งเจ็ดมีสัญชาติไทยแล้วตั้งแต่เกิด แต่กลับถูกถอนสัญชาติไทยแล้วนำไปจดแจ้งไว้ในทะเบียนบ้านญวนอพยพอันเป็นสัญชาติอื่น ถือได้ว่าโจทก์ทั้งเจ็ดถูกโต้แย้งสิทธิว่าไม่ได้เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทยตลอดมานับแต่ถูกถอนสัญชาติใน พ.ศ.๒๕๑๘ ดังนั้นแม้โจทก์จะมาฟ้องร้องคดีนี้เกิน ๑๐ ปี นับแต่ทราบเหตุโต้แย้งสิทธิดังกล่าว คดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน.

Share