คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5377/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา320โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้จะบังคับให้เจ้าหนี้รับชำระหนี้เป็นอย่างอื่นผิดไปจากที่จะต้องชำระแก่เจ้าหนี้ไม่ได้ซึ่งตามสัญญาระบุให้ชำระสินไถ่เป็นจำนวน8,800,000บาทสินไถ่จำนวนดังกล่าวเป็นเงินจำนวนมากการชำระค่าสินไถ่ด้วยแคชเชียร์เช็คซึ่งเป็นเช็คที่ทางธนาคารออกให้เช็คดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนเงินสดหากจำเลยมีความสงสัยว่าเป็นเช็คปลอมหรือไม่มีเงินก็อาจตรวจสอบโดยโทรศัพท์สอบถามไปยังธนาคารที่ออกแคชเชียร์เช็คได้แต่จำเลยก็ ยืนกรานไม่ยอมรับแคชเชียร์เช็คซึ่งเป็นการผิดปกติเพราะหากจำเลยต้องการรับชำระหนี้ด้วยเงินสดก็น่าจะระบุไว้ในสัญญาหรือแจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าตามพฤติการณ์ถือได้ว่าจำเลยบิดพลิ้วไม่ยอมรับชำระหนี้เองและโจทก์ได้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากแล้ว แม้โจทก์มิได้ติดต่อกับจำเลยเรื่องไถ่ถอนการขายฝากด้วยตนเองแต่ส.ซึ่งเป็นหุ้นส่วนร่วมกันกระทำแทนแล้วส่วนการติดต่อล่วงหน้า30วันก่อนมีการไถ่ถอนหรือไม่ไม่ปรากฎซึ่งแม้จะติดต่อการไถ่ถอนล่วงหน้าไม่ครบ30วันแต่จำเลยก็ได้มาพบโจทก์กับพวกที่ธนาคารและไม่ได้ยกระยะเวลาดังกล่าวขึ้นเป็นสาระสำคัญจำเลยคงยกเรื่องไม่รับแคชเชียร์เช็คและต้องการเงินสดเท่านั้นแสดงว่าระยะเวลาบอกกล่าวการไถ่ถอนล่วงหน้า30วันไม่เป็นสาระสำคัญอีกต่อไปโจทก์จึงไม่ผิดสัญญาในข้อนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 29713 พร้อมบ้านไม้ชั้นเดียว ไปจดทะเบียนขายฝากไว้กับจำเลย ครั้นในวันนัดไถ่ถอนจำเลยบ่ายเบี่ยงไม่ยินยอมรับค่าไถ่ถอน ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 29713 พร้อมส่งมอบโฉนดที่ดินคืนโจทก์และรับเงินค่าไถ่ถอนที่ดินจากโจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามขอให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยในการจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากเพื่อที่โจทก์จะได้ดำเนินการไถ่ถอนการขายฝากกับเจ้าพนักงานที่ดินต่อไป
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่เคยบอกกล่าวหรือแจ้งความประสงค์ขอไถ่ถอนการขายฝาก คงมีบุคคลภายนอกซึ่งทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ โทรศัพท์ติดต่อจำเลยขอไถ่ถอนการขายฝากแต่พวกของโจทก์ไม่สามารถนำเงินเข้าบัญชีให้จำเลยตามที่ตกลงไว้ได้ครบถ้วน โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องบังคับจำเลยไถ่ถอนการขายฝากคืนได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยรับเงินค่าไถ่ถอนที่ดินจำนวน 8,800,000 บาท จากโจทก์ และให้จำเลยไปจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 29713 เลขที่ดิน 31 ตำบลริมกกอำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย โดยค่าภาษีอากร ค่าธรรมเนียมตลอดจนค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนไถ่ถอนให้โจทก์เป็นฝ่ายรับผิดและส่งมอบที่ดินคืนแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้อง
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ตามที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันว่า เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2533 โจทก์ได้ขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 29713 เลขที่ดิน 31 ตำบลริมกกอำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เนื้อที่ 11 ไร่ 71 ตารางวาพร้อมบ้านไม้ชั้นเดียวปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวไว้แก่จำเลยมีกำหนดระยะเวลาไถ่คืน 3 เดือน สินไถ่เป็นเงิน 8,800,000 บาท ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากคืนภายในกำหนดแล้วหรือไม่ ตามทางนำสืบโจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า ในวันนัดไถ่ถอนทรัพย์ที่ขายฝากคือวันที่4 มกราคม 2534 เวลาประมาณ 14 นาฬิกา โจทก์พร้อมด้วยนายผวุฒิชัยนายอิทธิพลหรือนายโอม นายสมพงษ์ ธีรบุษเวศ และนายปราโมทย์ได้นำแคชเชียร์เช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาประดิพัทธ์จำนวนเงิน 6,200,000 บาท แคชเชียร์เช็คธนาคารกรุงเทพฯ จำกัดสาขาถนนตะนาว จำนวนเงิน 1,500,000 บาท แคชเชียร์เช็คธนาคารศรีนคร จำกัด สาขาเวิ้งนครเขษม จำนวนเงิน 400,000 บาทและแคชเชียร์เช็คธนาคารศรีนคร จำกัด สาขาเสาชิงช้าจำนวนเงิน600,000 บาท รวม 4 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.8 เป็นเงิน8,700,000 บาท กับเงินสดอีก 100,000 บาท รวมทั้งหมด 8,800,000 บาทไปมอบให้จำเลยที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขารามาธิบดีจำเลยบอกว่าต้องการเงินสด แต่จะกลับไปหารือพี่สาวก่อนว่าจะรับแคชเชียร์เช็คหรือไม่ จะกลับมาเวลาประมาณ 16 นาฬิกา ครั้นเวลา16 นาฬิกา จำเลยกลับมาบอกว่าไม่รับแคชเชียร์เช็ค โจทก์กับพวกจึงนำแคชเชียร์เช็คไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลพญาไทไว้เป็นหลักฐานปรากฎตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.9 และได้นำหลักฐานดังกล่าวไปอายัดที่ดินไว้ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงราย ฝ่ายจำเลยนำสืบรับว่า จำเลยไม่รับแคชเชียร์เช็คเพราะได้ปรึกษากับทางธนาคารแล้ว ขณะนั้นเป็นเวลาล่วงเลยการนำเช็คเข้าบัญชีและเรียกเก็บในวันนั้นแล้ว และไม่อาจต้องเรียกเก็บในวันถัดไปได้ เพราะตรงกับวันเสาร์อาทิตย์ ต้องเรียกเก็บวันจันทร์จำเลยจึงต้องการเป็นเงินสด เห็นว่า แม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 320 โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้จะบังคับให้เจ้าหนี้รับชำระหนี้เป็นอย่างอื่นผิดไปจากที่จะต้องชำระแก่เจ้าหนี้ไม่ได้ ซึ่งตามสัญญาระบุให้ชำระสินไถ่เป็นเงินจำนวน8,800,000 บาท สินไถ่จำนวนดังกล่าวเป็นเงินจำนวนมาก การชำระค่าสินไถ่ด้วยแคชเชียร์เช็ค ซึ่งเป็นเช็คที่ทางธนาคารออกให้เช็คดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนเป็นเงินสด หากจำเลยมีความสงสัยว่าเป็นเช็คปลอมหรือไม่มีเงินก็อาจตรวจสอบโดยโทรศัพท์สอบถามไปยังธนาคารที่ออกแคชเชียร์เช็คได้ แต่จำเลยก็ยืนกรานไม่ยอมรับแคชเชียร์เช็คซึ่งเป็นการผิดปกติ เพราะหากจำเลยต้องการรับชำระหนี้ด้วยเงินสดในกรณีดังกล่าวน่าจะระบุไว้ในสัญญาหรือแจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้า ตามพฤติการณ์ถือได้ว่าจำเลยบิดพลิ้วไม่ยอมรับชำระหนี้เองและโจทก์ได้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยอีกประการหนึ่งตามคำแก้ฎีกาของจำเลยว่าโจทก์ได้บอกกล่าวล่วงหน้า 30 วัน ก่อนใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากแล้วหรือไม่ ข้อนี้โจทก์นำสืบโดยมีนายสมพงษ์ ธีรบุษเวศ เบิกความเป็นพยานว่า พยานเป็นหุ้นส่วนกับโจทก์และพวกที่จะทำการก่อสร้างคอนโดมิเนียมบนที่ดินที่โจทก์ได้ขายฝากไว้ และเป็นผู้ติดต่อเรื่องไถ่ถอนการขายฝากกับจำเลยทางโทรศัพท์หลายครั้งจำเลยก็นำสืบยอมรับในข้อนี้แสดงให้เห็นว่า แม้โจทก์มิได้ติดต่อกับจำเลยเรื่องไถ่ถอนการขายฝากด้วยตนเองแต่นายสมพงษ์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนร่วมกันกระทำแทนแล้ว ส่วนการติดต่อล่วงหน้า 30 วันก่อนมีการไถ่ถอนหรือไม่ ไม่ปรากฎ ซึ่งแม้จะติดต่อการไถ่ถอนล่วงหน้าไม่ครบ 30 วันแต่จำเลยก็ได้มาพบโจทก์กับพวกที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัดสาขารามาธิบดี ตามฟ้อง และไม่ได้ยกระยะเวลาดังกล่าวขึ้นเป็นสาระสำคัญ จำเลยคงยกเรื่องไม่รับแคชเชียร์เช็คและต้องการเงินสดเท่านั้น แสดงว่าระยะเวลาบอกกล่าวการไถ่ถอนล่วงหน้า 30 วันไม่เป็นสาระสำคัญอีกต่อไปแล้ว โจทก์จึงไม่ผิดสัญญาในข้อนี้ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ บังคับคดี ตาม คำพิพากษา ศาลชั้นต้น

Share