คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2213/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า บริษัท อ. ซึ่ง เป็นนายจ้างในต่างประเทศเป็นฝ่ายผิดสัญญาโดย ให้โจทก์ทั้งสองทำงานไม่ตรง ตามตำแหน่ง ที่ระบุในสัญญา ดังนี้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงไม่ชอบด้วยกฎหมายโดย รับฟังแต่ คำเบิกความของโจทก์เพียงฝ่ายเดียว ส่วนพยานหลักฐานของจำเลยคือหนังสือลาออกจากงานของโจทก์ ศาลแรงงานกลางมิได้วินิจฉัยโดย ละเอียดว่าไม่น่าเชื่อถือเพราะเหตุใด คงให้เหตุผลเพียงว่าหนังสือดังกล่าวมิได้แสดงว่าบริษัทนายจ้างในต่างประเทศไม่เป็นฝ่ายผิดสัญญาทั้งที่พยานหลักฐานของจำเลยในส่วนนี้มีน้ำหนักกว่าคำเบิกความของโจทก์ทั้งสองนั้น จึงเป็นอุทธรณ์คัดค้านดุลพินิจ ในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง ซึ่ง เป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์.

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1และที่ 2
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทอิริยาล เอส ดี เอ็น บีเฮชดี จำกัด ตัวการ ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ประเทศบรูไน ได้ทำสัญญาจัดหางานและสัญญาแห่งการจ้างงานกับโจทก์ทั้งสอง โดยจะให้โจทก์ทั้งสองไปทำงานที่ประเทศบรูไน ตำแหน่งช่างไม้ อัตราค่าจ้างคนละ 286 บาท ต่อวัน มีกำหนด 1 ปี จำเลยได้เรียกเก็บเงินค่าบริการและค่าใช้จ่ายจากโจทก์ทั้งสอง คนละ35,800 บาท โจทก์ทั้งสองได้ออกเดินทางไปทำงานตามสัญญา แต่ปรากฏว่านายจ้างผิดสัญญาจ้างโดยไม่ให้โจทก์ทั้งสองทำงานเป็นช่างไม้ตามสัญญา นอกจากนั้น ยังไม่ยอมจ่ายค่าจ้างช่วงระหว่างวันที่ 7 ธันวาคม 2532 ถึงวันที่ 3 มกราคม 2533 โจทก์ทั้งสองไปติดต่อสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศบรูไนให้ติดต่อกับนายจ้าง แต่นายจ้างไม่ยอมรับโจทก์ทั้งสองกลับเข้าทำงานอีก และหักค่าจ้างโจทก์ทั้งสองคนละ 5,000 บาท เป็นค่าตั๋วเครื่องบินส่งกลับทั้ง ๆ ที่ตามสัญญานายจ้างจะต้องเป็นผู้ออกค่าตั๋วเครื่องบินดังกล่าว การผิดสัญญาของนายจ้างทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหายโจทก์ทั้งสองเสียค่าใช้จ่ายและค่าบริการให้จำเลยคนละ 35,800 บาทเสียค่าตั๋วเครื่องบินเที่ยวกลับอีกคนละ 5,000 บาท รวมค่าเสียหายคนละ 40,800 บาท จำเลยในฐานะตัวแทนของตัวการที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศจึงต้องรับผิด ขอให้จำเลยใช้เงินดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การว่า จำเลยเรียกค่าใช้จ่ายจากโจทก์คนละ 12,864 บาทโดยแบ่งเป็นค่าบริการจัดหางาน 6,864 บาท ค่าตั๋วเครื่องบิน5,000 บาท ค่าตรวจโรค 500 บาท และค่าทดสอบฝีมือ 500 บาท โจทก์ทั้งสองได้รับบริการจากจำเลยแล้ว จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินคืนจำเลยได้จัดให้โจทก์ทั้งสองเข้าทำงานในหน่วยงานของนายจ้างตามตำแหน่งที่ระบุไว้ในสัญญาแล้ว โจทก์ทั้งสองแสดงเจตนาจะขอลาออกจากตำแหน่งงานและขอเดินทางกลับประเทศไทยโดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า1 เดือน ตามสัญญา นายจ้างสามารถหักเงินเดือนของโจทก์ทั้งสองเป็นค่าเครื่องบินตามสัญญาได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า บริษัท อิริยาล เอส ดี เอ็น บีเฮชดีจำกัด ซึ่งเป็นนายจ้างในต่างประเทศเป็นฝ่ายผิดสัญญา โดยให้โจทก์ทั้งสองทำงานไม่ตรงตามตำแหน่งที่ระบุไว้ในสัญญา โจทก์ทั้งสองได้เสียค่าบริการและค่าใช้จ่ายให้แก่จำเลยคนละ 35,800 บาท และเสียค่าตั๋วเครื่องบินเดินทางกลับประเทศไทยคนละ 5,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นคนละ 40,800 บาท พิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์ทั้งสองคนละ 40,800 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ปรากฏว่าศาลแรงงานกลางสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยเพียงข้อเดียวที่ว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงโดยไม่ชอบต่อกฎหมาย และมิได้ชั่งน้ำหนักพยานจากหลักฐานที่คู่ความนำสืบในชั้นพิจารณา อันเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 กล่าวคือ ศาลแรงงานกลางรับฟังแต่คำเบิกความของโจทก์ทั้งสองแต่เพียงฝ่ายเดียว ส่วนพยานหลักฐานของจำเลยซึ่งมีหนังสือลาออกจากงานของโจทก์ทั้งสองตามเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 นั้น ศาลแรงงานกลางให้เหตุผลแต่เพียงสั้น ๆ ว่า หนังสือดังกล่าวมิได้แสดงว่าบริษัทนายจ้างในต่างประเทศไม่เป็นฝ่ายผิดสัญญา แต่มิได้วินิจฉัยให้ละเอียดว่าเอกสารดังกล่าวไม่น่าเชื่อถือเพราะเหตุใด ซึ่งจำเลยเห็นว่าพยานหลักฐานของจำเลยในส่วนนี้มีน้ำหนักดีกว่าคำเบิกความของโจทก์ทั้งสอง นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการอุทธรณ์คัดค้านดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้”
พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย.

Share