คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 537/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยขว้างวัตถุระเบิดขนาดเล็กมาตกระเบิดห่างผู้เสียหาย 2 เมตร ขณะผู้เสียหายบังเสาไฟหลบอยู่ ผู้เสียหายไม่ได้รับอันตรายจากการระเบิดนั้น ปรากฏว่าวัตถุระเบิดที่จำเลยใช้เป็นวัตถุจำพวกคลอเรตหุ้มด้วยพลาสติก จำนวนวัตถุระเบิดและชิ้นส่วนที่ใส่ผสมมีแรงระเบิดเพียงสามารถทำอันตรายต่อร่างกายให้ได้รับบาดเจ็บ และทรัพย์สินเสียหายได้เท่านั้น ดังนี้ การขว้างระเบิดของจำเลยย่อมไม่สามารถบรรลุผลให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้อย่างแน่แท้ กรณีจึงต้องปรับด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 81

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับนายสมเจตน์ ยุติรัตน เยาวชนซึ่งแยกสำนวนดำเนินคดีไปส่วนหนึ่งต่างหาก บังอาจร่วมกันมีวัตถุระเบิดชนิดพลาสติก อันเป็นวัตถุที่สามารถส่งกำลังดันอย่างแรงต่อสิ่งห้อมล้อมโดยฉับพลันในเมื่อเกิดระเบิดขึ้น โดยมีสิ่งที่เหมาะมาทำให้เกิดกำลังดัน และโดยการสลายตัวของวัตถุระเบิดนั้นทำให้มีแรงทำลายและแรงประหารจำนวน ๒ ลูก ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และได้พกพาเข้าไปในเมือง หมู่บ้าน ถนนหลวง ทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันสมควร กับได้ร่วมกันใช้วัตถุระเบิดดังกล่าวเป็นอาวุธขว้างปาสิบตำรวจโทสมพร ประสงค์ผล และพลตำรวจนพคุณ คุณมิโน เจ้าพนักงานตำรวจผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่ โดยเจตนาฆ่า และเพื่อต่อสู้ขัดขวางไม่ยอมให้ทำการค้นจับกุมตัวจำเลยกับพวก เป็นเหตุให้เกิดระเบิดขึ้น จำเลยกับพวกได้กระทำผิดไปตลอดแล้วแต่ไม่บรรลุผล โดยสิบตำรวจโทสมพรและพลตำรวจนพคุณหลบเสียทัน เศษวัตถุระเบิดจึงไม่ถูก ไม่ถึงแก่ความตายสมดังเจตนาของจำเลยกับพวก เจ้าพนักงานยึดได้เศษพลาสติกซึ่งเป็นชิ้นส่วนของวัตถุระเบิด ๒ ชิ้น ในบริเวณที่เกิดเหตุเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๘, ๒๒๑, ๒๘๘, ๓๗๑, ๘๐, ๘๓, ๙๑ พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๓๘, ๗๔ พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๑ มาตรา ๓ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๖๓ และฉบับที่ ๑๑ ข้อ ๒ ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๘, ๒๒๑, ๒๘๘, ๒๘๙, ๘๐, ๘๓ ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๘๙, ๘๐, ๘๓ ซึงเป็นบทหนัก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุกตลอดชีวิต แต่ให้เปลี่ยนโทษตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ข้อ ๒ เป็นจำคุก ๕๐ ปี กับมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๓๘, ๗๔ จำคุก ๑ ปี และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๔ ปรับ ๑๐๐ บาท รวมเป็นโทษจำคุก ๕๑ ปี ปรับ ๑๐๐ บาท จำเลยอายุ ๑๗ ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๕ คงจำคุก ๒๕ ปี ๖ เดือน ปรับ ๕๐ บาท ไม่ชำระค่าปรับ จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ ของกลางริบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว เห็นว่า วัตถุระเบิดที่จำเลยใช้ขว้างปา ยังฟังไม่ได้ว่าอาจทำให้เป็นอันตรายถึงตายได้ กรณีต้องปรับด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๑ พิพากษาแก้เฉพาะความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงาานผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่ เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙, ๘๑ ประกอบด้วยมาตรา ๕๒ จำเลยอายุ ๑๖ ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่งตามมาตรา ๗๕ จำคุกเฉพาะความผิดฐานนี้ ๑๒ ปี ๖ เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นผู้ปาวัตถุระเบิดมาทางเจ้าพนักงานตำรวจผู้จะเข้าไปทำการตรวจค้นตัวจำเลยจริง ส่วนปัญหาว่าวัตถุระเบิดที่จำเลยใช้จะสามารถทำให้เจ้าพนักงานตำรวจถึงแก่ความตายได้หรือไม่นั้น เห็นว่า โดยสภาพของวัตถุระเบิดเป็นอาวุธที่สามารถทำให้ถึงตายได้ แต่วัตถุระเบิดที่จำเลยใช้คงได้ความจากสิบตำรวจโทสมพร ประสงค์ผล เพียงว่า เห็นจำเลยยกมือที่กำวัตถุอย่างหนึ่งไว้ วัตถุระเบิดที่จำเลยใช้จึงน่าเชื่อว่ามีขนาดเล็ก ชิ้นส่วนวัตถุระเบิดของกลางที่พนักงานสอบสวนส่งไปตรวจพิสูจน์เป็นเศษถึงพลาสติกสีน้ำเงินซ้อนกันเป็นชั้น และเศษหนังพลาสติกขาดเป็นท่อน ๆ ติดอยู่รวมกัน มีคราบสารเคมีโปรแตสเซี่ยมคลอเรตติดอยู่ ผลการพิสูจน์เชื่อว่าเป็นวัตถุแยกตัวออกมาจากการระเบิดของวัตถุระเบิดจำพวกคลอเรตหุ้มด้วยพลาสติก ซึ่งวัตถุระเบิดดังกล่าวเมื่อระเบิดขึ้นจะสามารถทำอันตรายต่อร่างกายให้ได้รับบาดเจ็บและทรัพย์สินเสียหายได้ ส่วนจะถึงตายได้หรือไม่ ได้ความจากร้อยตำรวจเอกสุรัตน์ อนุทินทศพรพิท ผู้ตรวจพิสูจน์ว่า ขึ้นอยู่กับจำนวนมากน้อยของวัตถุระเบิดและชิ้นส่วนที่ใส่ผสม คดีได้ความว่า วัตถุระเบิดที่จำเลยกับพวกปามาตกห่างที่เจ้าพนักงานตำรวจโดดบังเสาไฟฟ้าหลบอยู่เพียง ๒ เมตร เจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้รับอันตรายจากการระเบิดเลย และเมื่อจับจำเลยได้แล้ว เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับได้มาตรวจสถานที่เกิดเหตุการณ์ระเบิด คงพบแต่เศษวัตถุระเบิดของกลางที่ส่งไปพิสูจน์เท่านั้น จากภาพถ่ายและบันทึกการตรวจสถานที่เกิเหตุไม่ปรากฏว่าบริเวณใกล้เคียงที่เกิดเหตุมีวัตถุใดถูกทำลายหรือมีชิ้นส่วนระเบิดติดฝังอยู่ แสดงว่าวัตถุระเบิดที่จำเลยใช้มีจำนวนวัตถุระเบิดและชิ้นส่วนที่ใส่ผสมมีแรงระเบิดเพียงทำอันตรายต่อร่างกายให้ได้รับบาดเจ็บและทรัพย์สินเสียหายได้ตามผลการพิสูจน์เท่านั้น การขว้างระเบิดของจำเลยจึงไม่สามารถบรรลุผลให้ผู้เสียหายพึงแก่ความตายได้เป็นแน่แท้ กรณีต้องปรับด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๑ ดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์
พิพากษายืน

Share