คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2253/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่จำเลยฎีกาว่า การที่บริษัทโจทก์เช่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างมาให้เช่าช่วงเป็นการกระทำผิดวัตถุประสงค์โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เป็นเรื่องที่มิได้กระทบกระเทือนสิทธิของประชาชน จึงมิใช่ข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ ทั้งมิใช่ปัญหาที่จำเลยไม่สามารถยกขึ้นอ้างในศาลชั้นต้นเนื่องจากพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีนี้เป็นคดีฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละสองพันบาท และจำเลยมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ หรือมิได้ยกข้อโต้เถียงในเรื่องแปลความหมายแห่งข้อความในสัญญาเช่าหรืออาศัย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา224 บัญญัติห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง จำเลยฎีกาข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ระหว่างจำเลยทั้งสามสำนวนกับโจทก์ไม่มีสัญญาต่างตอบแทนต่อกัน เพราะไม่ปรากฏว่ามีผู้อื่นรู้เห็นการตกลงดังกล่าวเป็นกิจลักษณะหรือมีหลักฐานอย่างหนึ่งอย่างใดไว้ เป็นการกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอย แม้ศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาข้อนี้มาก็เป็นการวินิจฉัยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้าม และเมื่อเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามแล้วก็ไม่ถือว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในชั้นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวน ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน

โจทก์ฟ้องทั้งสามสำนวนว่า จำเลยแต่ละสำนวนได้เช่าตึกแถวจากโจทก์เมื่อครบกำหนดสัญญาโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเช่ากับจำเลยทั้งสาม และให้คืนห้องที่เช่า จำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติและไม่ยอมออกเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสามและบริวารออกจากห้องที่เช่า ให้จำเลยแต่ละรายใช้ค่าเสียหายเดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะออกไปจากตึกแถวพิพาทแก่โจทก์

ห้างหุ้นส่วนจำกัดธวัชยูเวลรี่ และบริษัทฮูเวอร์ จำกัด จำเลยต่างให้การว่าจำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาเช่าตึกแถวตามฟ้องจากโจทก์จริง แต่โจทก์ตกลงให้จำเลยก่อสร้างอาคารที่เช่าเพิ่มเติมและสิ่งต่อเติมเป็นของโจทก์แล้วโจทก์จะให้จำเลยทั้งสองเช่าตึกแถวพิพาทอีก 10 ปี นับแต่วันที่สัญญาเช่าครบกำหนดจำเลยทั้งสองได้ทำการก่อสร้างต่อเติมตึกแถวพิพาทไปหลายอย่าง โดยห้างหุ้นส่วนจำกัดธวัชยูเวลรี่สิ้นเงินไป 270,000 บาท และบริษัทฮูเวอร์ จำกัด สิ้นเงินไป 500,000 บาท โจทก์จึงต้องให้จำเลยทั้งสองเช่าต่อไปอีก 10 ปี นับแต่วันครบกำหนดสัญญาเช่า ส่วนนายกฤษดา กริชไกรวรรณ จำเลยให้การว่าในการรับโอนสิทธิการเช่า จำเลยได้เสียเงินค่าตอบแทนให้โจทก์ไป 15,000 บาท และโจทก์ตกลงยอมรับเอาสิ่งก่อสร้างที่จำเลยก่อสร้างเพิ่มเติมอาคารที่เช่าเป็นของโจทก์โดยยอมให้จำเลยมีสิทธิการเช่าต่อได้อีก 10 ปี นับแต่วันสิ้นสัญญา จำเลยทั้งสามต่างให้การอีกว่า โจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้นายวิชัยจันทราประภาวัฒน์ เป็นตัวแทนนายวิชัย จันทราประภาวัฒน์ จึงไม่มีอำนาจฟ้องเมื่อสัญญาเช่าครบกำหนด จำเลยทั้งสามได้ชำระค่าเช่าให้โจทก์ จึงเป็นการเช่าที่ไม่มีกำหนดเวลา โจทก์ไม่ได้บอกกล่าวเลิกสัญญาเช่ากับจำเลยทั้งสามตามกฎหมาย ทั้งตึกแถวพิพาทโจทก์เช่าจากนายวิลาศ บุนนาค แล้วเอาไปให้จำเลยทั้งสามเช่า นายวิลาศเลิกสัญญาเช่ากับโจทก์และครอบครองทรัพย์ที่เช่าแล้วโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินสมควร

ในชั้นพิจารณาศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยเป็นฝ่ายนำสืบก่อน ครั้นสืบพยานจำเลยไปได้บางปาก ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยมีพฤติการณ์ส่อไปในทางประวิงคดีจึงมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลยที่เหลือให้โจทก์นำพยานเข้าสืบจนแล้วเสร็จและได้มีคำพิพากษาไปแล้วครั้งหนึ่ง ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นได้ดำเนินการสืบพยานจำเลยทั้งสามต่อไป และอนุญาตให้โจทก์สืบแก้อีกได้ซึ่งศาลชั้นต้นก็ได้ดำเนินการสืบพยานจำเลยต่อแล้ว โจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยานต่อไป

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาขับไล่จำเลยทั้งสามและบริวารออกจากตึกแถวพิพาท ให้จำเลยแต่ละคนชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์เป็นบริษัทจำกัด โจทก์กระทำการผิดวัตถุประสงค์ของบริษัทที่จดทะเบียนไว้ซึ่งไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะให้โจทก์ไปเช่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างมาให้ผู้อื่นเช่าช่วงการที่โจทก์ให้จำเลยทั้งสามเช่าตึกพิพาทจึงขัดต่อวัตถุประสงค์ของบริษัทโจทก์นั้น เป็นเรื่องที่มิได้กระทบกระเทือนถึงสิทธิของประชาชนอย่างใด จึงมิใช่ข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ มิได้ยกขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้น เพราะในชั้นศาลชั้นต้นมีประเด็นตามคำให้การของจำเลยเพียงว่าบริษัทโจทก์ได้มอบอำนาจให้นายวิชัย จันทราประภาวัฒน์ ฟ้องคดีนี้หรือไม่เท่านั้น ทั้งมิใช่ปัญหาที่จำเลยไม่สามารถยกขึ้นอ้างในศาลชั้นต้นเนื่องจากพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยที่จำเลยทั้งสามสำนวนฎีกาว่า โจทก์กับจำเลยมีสัญญาต่างตอบแทนต่อกัน คดีนี้เป็นคดีฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละสองพันบาท และจำเลยมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ หรือมิได้ยกข้อโต้เถียงในเรื่องแปลความหมายแห่งข้อความในสัญญาเช่า หรืออาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 บัญญัติห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ฉะนั้น เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าระหว่างจำเลยทั้งสามสำนวนกับโจทก์ไม่มีสัญญาต่างตอบแทนต่อกัน เพราะไม่ปรากฏว่ามีผู้อื่นรู้เห็นการตกลงดังกล่าวเป็นกิจลักษณะ หรือมีหลักฐานอย่างหนึ่งอย่างใดไว้เป็นการกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอย ซึ่งศาลอุทธรณ์ก็ฟังข้อเท็จจริงอย่างเดียวกันว่า โจทก์กับจำเลยทั้งสามสำนวนไม่มีสัญญาต่างตอบแทนต่อกัน ฎีกาของจำเลยทั้งสามสำนวนจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แม้ศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาข้อนี้มา ก็เป็นการวินิจฉัยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ และเมื่อเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามแล้วก็ไม่ถือว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในชั้นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share