คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 536-537/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สำนักงานของจำเลยรับจัดหางานให้แก่ผู้มาสมัครเข้ารับการอบรมวิชาชีพโดยรับจะฝากเข้าทำงานในสำนักงาน องค์การหรือห้างร้านบริษัทต่าง ๆ การกระทำเช่นนี้ย่อมได้ชื่อว่า เป็นคนกลางระหว่างนายจ้างผู้ต้องการลูกจ้างผู้ต้องการหางานทำโดยคนกลางจะทำให้เปล่าหรือคิดสินจ้างก็ตาม หรือแม้จำเลยจะตั้งสำนักงานนี้เพี้ยนไปว่า สำนักงานส่งเสริมอาชีพ ก็ตาม หรือแม้ถึงว่าจำเลยจะอ้างว่าสำนักงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของบริษัทจำกัด สำนักงานนี้ก็คงเป็นสำนักงานจัดหางาน ตามความหมายใน มาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วย สำนักงานจัดหางาน พ.ศ. 2475
จำเลยวางแผนหลอกลวงเพื่อฉ้อโกงเอาเงินประชาชนทั่ว ๆ ไป โดยพิมพ์ใบปลิวโฆษณาข้อความอันเป็นเท็จให้ประชาชนหลงเชื่อเพื่อมาสมัครรับการอบรมวิชาชีพ โดยทุกคนต้องส่งมอบเงินให้แก่จำเลยด้วย เมื่อมีผู้หลงเชื่อมาสมัคร จำเลยก็ให้ส่งมอบเงินให้แก่จำเลย แล้วจำเลยก็หาได้ทำการอบรมเป็นกิจลักษณะอย่างใดไม่ จนเป็นที่เห็นว่าผู้สมัครเหล่านั้น จะไม่ได้งานทำตามที่จำเลยโฆษณาไว้ให้หลงเชื่อ ครั้นขอเงินคืน จำเลยก็ไม่มีเงินจะคืนให้ การกระทำของจำเลยก็ไม่มีความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341

ย่อยาว

คดี ๒ สำนวนนี้ พิจารณาพิพากษารวมกัน
ได้ความว่า จำเลยวางแผนหลอกลวงเพื่อฉ้อโกงเอาเงินประชาชนทั่ว ๆ ไป โดยพิมพ์ใบปลิวโฆษณาข้อความอันเป็นเท็จให้ประชาชนหลงเชื่อ เพื่อมาสมัครรับการอบรมวิชาชีพ โดยต้องส่งมอบเงินให้แก่จำเลยทุกคนด้วยเมื่อมีผู้หลงเชื่อมาสมัคร จำเลยก็ให้ส่งมอบเงินแล้วจำเลยก็หาได้ทำการอบรมเป็นกิจลักษณะอย่างใดไม่ จนเป็นที่เห็นว่า ผู้สมัครเหล่านั้นจะไม่ได้งานตามที่จำเลยโฆษณาไว้ให้หลงเชื่อ ขอเงินคืน จำเลยก็ไม่มีเงินจะคืนให้
ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลทั้งสองว่า จำเลยผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑, ๓๔๐, ๘๓ จำคุกคนละ ๑ ปี และผิดฐานประกอบกิจการในทางสำนักงานจัดหางาน พ.ศ. ๒๔๗๕ มาตรา ๑๕, ๑๖ (ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๔๗๖) ปรับคนละ ๖๐๐ บาท คำเบิกความของจำเลยชั้นพิจารณามีประโยชน์อยู่บ้าง ลดโทษลงคนละ ๑ ใน ๓ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก คนละ ๘ เดือน และปรับคนละ ๔๐๐ บาท ถ้าไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตาม มาตรา ๒๙, ๓๐ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้เงิน ๕,๖๐๐ บาท แก่เจ้าทรัพย์ด้วย
ข้อกฎหมายที่จำเลยฎีกาว่า สำนักงานส่งเสริมอาชีพที่จำเลยจัดตั้งขึ้นไม่เป็นสำนักงานจัดหางานตามความหมายใน พ.ร.บ. ว่าด้วยสำนักงานจัดหางาน พงศ. ๒๔๗๕ เพราะจำเลยมิได้มุ่งหวังผลตอบแทนเป็นบำเหน็จหรือเป็นค่านายหน้า เงินที่เรียกจากผู้มาสมัครก็เพื่อเป็นประกันความเสียหาย ในระหว่างมอบรมการปฏิบัติงาน ทั้งสำนักงานนี้หาเป็นเอกเทศไม่ แต่เป็นส่วนหนึ่งของบริษัทธนกิจจำกัด นั้น ศาลฎีกาเห็นชอบด้วยคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่า สำนักงานของจำเลยที่จัดตั้งขึ้นนี้ เป็นสำนักงานจัดหางาน ตามความหมายใน มาตรา ๓ แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยสำนักงานจัดหางาน พ.ศ. ๒๔๗๕ เพราะแม้จำเลยจะตั้งชื่อสำนักงานนี้เพี้ยนไปว่า สำนักงานสำนักงานส่งเสริมอาชีพ ก็ตาม ข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่า สำนักงานของจำเลยนี้ รับจัดหางานให้แก่ผู้มาสมัครเข้ารับการอบรมวิชาชีพโดยรับจะฝากเข้าทำงานในสำนักงาน องค์การหรือห้างร้านบริษัทต่าง ๆ การกระทำเช่นนี้ย่อมได้ชื่อว่า เป็นคนกลางระหว่างนายจ้างผู้ต้องการลูกจ้างผู้ต้องการหางานทำโดยคนกลางจะทำให้เปล่าหรือคิดสินจ้างก็ต้องด้วยบทบัญญัติของกฎหมายให้รวมอยู่ในความหมายอันเดียวกัน ส่วนที่จำเลยอ้างว่าสำนักงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของบริษัทธนกิจจำกัด
ก็ไม่เป็นข้อแก้ตัวได้อีก เพราะนอกจากข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าบริษัทนี้ยังหาได้ก่อตั้งขึ้นเป็นบริษัทจำกัดสำเร็จไม่แล้ว ตามกฎหมายว่าด้วยสำนักงานจัดหางานก็มิได้ยกเว้นว่า บริษัทจำกัดจะประกอบกิจการในทางสำนักงานจัดหางานได้โดยมิต้องขอรับอนุญาต
ส่วนฎีกาของจำเลยอีกข้อหนึ่งที่ว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ดังกล่าวข้างต้นก็จะลงโทษฐานฉ้อโกงในทางอาญามิได้ เป็นเพียงความรับผิดทางแพ่งนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของจำเลยครบองค์ความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ ทุกประการแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น

Share