คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1508/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่โจทก์สมัครใจวิวาทต่อสู้กับจำเลยจนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัส เป็นการยอมรับผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ตนเองถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้มีดทำร้ายโจทก์จนได้รับบาดเจ็บสาหัส ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 39,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยจำเลยทั้งสองให้การว่า ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์โจทก์เคยร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ดำเนินคดีอาญากับจำเลยทั้งสอง คดีดังกล่าวศาลอุทธรณ์พิพากษาถึงที่สุด ขอให้ยกฟ้องศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้เงินจำนวน 8,000 บาทแก่โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำละเมิดโดยทำร้ายร่างกายโจทก์ได้รับอันตรายสาหัส จึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่ามูลกรณีนี้เป็นเรื่องเดียวกันกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2942/2525 ของศาลชั้นต้นระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดศรีสะเกษ โจทก์ นายสุพรรณ นามปัญญาโจทก์ร่วม นายพัฒนา ชื่นตา กับพวก จำเลย จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การพิพากษาคดีส่วนแพ่งจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 เมื่อศาลอุทธรณ์ซึ่งมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า เหตุคดีนี้เกิดขึ้นเพราะมีสาเหตุมาจากจำเลยที่ 1มีความหึงหวงที่โจทก์ทำชู้กับภรรยาจำเลยที่ 1 ก่อนเกิดเหตุแล้วภรรยาจำเลยที่ 1 หนีไปเพราะกลัวว่าจำเลยที่ 1 จะประจานที่ไปเป็นชู้กับโจทก์ และวันเกิดเหตุมารดาของภรรยาจำเลยที่ 1มาขนของบุตรสาวกลับ จำเลยที่ 1 จะต้องโกรธแค้นโจทก์เป็นกำลังเมื่อโจทก์มาพูดจาทำนองจะแต่งงานกับภรรยาจำเลยที่ 1 จึงเป็นลักษณะยั่วยุให้จำเลยที่ 1 เกิดโทสะ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1โกรธโจทก์จึงได้โต้เถียงและทำร้ายกัน ที่โจทก์โต้เถียงและเกิดวิวาทกับจำเลยที่ 1 ดังกล่าว ถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยทั้งสองสมัครใจวิวาทต่อสู้กัน เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัส การที่โจทก์สมัครใจวิวาทต่อสู้กับจำเลยทั้งสองจึงเป็นการยอมรับผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ตนเอง ถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสองที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ชอบด้วยรูปคดีแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share