คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5892/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เงินบำเหน็จมิใช่เงินที่นายจ้างมีหน้าที่จะต้องจ่ายตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน การจะจ่ายเงินบำเหน็จหรือไม่อย่างไรเป็นไปตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่จะตกลงกันไว้อย่างไรก็ได้ ระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จกำหนดว่า ในกรณีที่พนักงานประจำมีสิทธิได้รับทั้งเงินชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานและเงินบำเหน็จ ถ้าเงินบำเหน็จมากกว่าเงินชดเชยให้ตัดเงินบำเหน็จออกเท่ากับเงินชดเชย ถ้าเงินบำเหน็จน้อยกว่าเงินชดเชยก็ให้ได้รับเงินชดเชยอย่างเดียว ดังนี้เป็นการกำหนดเงื่อนไขในการจ่ายเงินบำเหน็จ มิใช่เป็นการกำหนดเกี่ยวกับสิทธิที่จะได้รับเงินชดเชย สิทธิที่จะได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานมีอยู่อย่างไรก็เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบดังกล่าวจึงไม่เป็นการขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ข้อกำหนดวิธีการจ่ายเงินบำเหน็จ ไม่กระทบกระเทือนถึงคนอื่นที่มิได้ตกลงด้วย จึงมิใช่ปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน.

ย่อยาว

คดีทั้งยี่สิบเจ็ดสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 27
โจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ดสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ดเป็นลูกจ้างของจำเลย วันเข้าทำงาน ตำแหน่งหน้าที่ และค่าจ้างอัตราสุดท้ายของโจทก์แต่ละคนปรากฏตามฟ้องต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ดเพราะเหตุเกษียณอายุ และไม่จ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมายขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งยี่สิบเจ็ดสำนวนให้การว่า เงินบำเหน็จที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ดมีจำนวนมากกว่าค่าชดเชยที่โจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ดมีสิทธิได้รับจากจำเลย การจ่ายเงินบำเหน็จดังกล่าวเป็นการจ่าจค่าชดเชยรวมไปด้วยแล้ว ถือได้ว่าโจทก์แต่ละคนได้รับค่าชดเชยไปครบถ้วนแล้ว โจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ดไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยจากจำเลยอีก
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ดสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ดอุทธรณ์ว่าระเบียบตามเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 37 ขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานและขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน พิเคราะห์แล้ว ระเบียบดังกล่าว ข้อ 37 กำหนดว่า “ในกรณีที่พนักงานประจำมีสิทธิได้รับทั้งเงินชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานตามความในข้อ 23 และ24 และเงินบำเหน็จตามระเบียบนี้ ถ้าเงินบำเหน็จมากกว่าเงินชดเชยให้ตัดเงินบำเหน็จออกเท่ากับจำนวนเงินชดเชย แต่ถ้าเงินบำเหน็จน้อยกว่าเงินชดเชยก็ให้ได้รับแต่เงินชดเชยอย่างเดียว” ระเบียบข้อ 37นี้ อยู่ในเรื่องของเงินบำเหน็จซึ่งมีระเบียบข้อ 28 กำหนดไว้ว่า”นอกจากเงินชดเชยที่ต้องจ่ายตามความในข้อ 23 และ 24 ให้โรงงานสุราจ่ายเงินบำเหน็จซึ่งเป็นเงินตอบแทนความชอบในกรณีออกจากงานหรือตายอีกประการหนึ่ง ตามหลักเกณฑ์ซึ่งกำหนดไว้ในระเบียบนี้”ดังนั้นข้อกำหนดตามข้อ 37 จึงเป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับการจ่ายเงินบำเหน็จ ซึ่งเงินบำเหน็จนั้นมิใช่เงินที่จำเลยมีหน้าที่ที่จะต้องจ่ายตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน การที่จะมีการจ่ายเงินบำเหน็จหรือไม่อย่างไรก็เป็นไปตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่จะตกลงกันไว้อย่างไรก็ได้เพราะกฎหมายคุ้มครองแรงงานไม่มีการกำหนดไว้ในการตกลงเรื่องเงินบำเหน็จ เมื่อข้อกำหนดในข้อ 37 ตามที่กล่าวแล้วนั้นเป็นการกำหนดเงื่อนไขในการจ่ายเงินบำเหน็จ มิใช่เป็นการกำหนดเกี่ยวกับสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานของโจทก์แต่ละคนมีอยู่อย่างไรก็คงเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบดังกล่าวจึงไม่เป็นการขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานและข้อกำหนดดังว่านั้นเป็นวิธีการจ่ายเงินบำเหน็จซึ่งไม่ใช่เงินที่จะต้องจ่ายตามกฎหมายตามที่ได้กล่าวแล้ว การที่จะตกลงกันอย่างไรไม่กระทบกระเทือนถึงคนอื่นที่มิได้เข้ามาตกลงด้วยจึงมิใช่ปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนดังที่โจทก์อ้าง…”
พิพากษายืน.

Share