คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5357/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยเรื่องผิดสัญญาจ้างทำของเพียงข้อหาเดียวจำเลยที่ 2 ให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเป็นคำให้การชัดแจ้งว่า ข้อเท็จจริงเรื่องจ้างทำของทั้งหมดขาดอายุความแล้ว คำให้การจำเลยที่ 2 จึงชอบด้วยป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง
โจทก์ทำงานเสร็จและส่งมอบงานให้จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 22สิงหาคม 2530 โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 21 สิงหาคม 2532 ยังไม่เกิน 2 ปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 164 เดิม (มาตรา 193/34 ที่แก้ไขใหม่)
จำเลยที่ 2 เป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างโบสถ์แม่พระแห่งเหรียญอัศจรรย์ จำเลยที่ 2 จึงมีนิติสัมพันธ์ในฐานะคู่สัญญาจ้างทำของกับโจทก์ แม้โบสถ์ดังกล่าวจะมิใช่ทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลยที่ 2 หากแต่เป็นทรัพย์สินของมิสซังโรมันคาทอลิก กรุงเทพมหานคร ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นคู่สัญญาจ้างทำของในฐานะผู้ว่าจ้างโจทก์ในการก่อสร้างโบสถ์แห่งนั้นแล้วจำเลยที่ 2 ผิดสัญญาชำระค่าจ้างให้โจทก์ไม่ครบถ้วน โจทก์ก็ชอบที่จะฟ้องบังคับเอาแก่จำเลยที่ 2 ได้
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยเพียงว่า จำเลยค้างชำระค่าวัสดุและค่าแรงงานโจทก์เป็นจำนวน 1,500,000 บาท ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 จ้างโจทก์ให้ทำการแก้ไขออกแบบก่อสร้างตกแต่งเพิ่มเติมภายในและภายนอกอาคารโบสถ์แม่พระแห่งเหรียญอัศจรรย์และอื่น ๆ โดยหมดค่าจ้างเป็นเงิน2,000,000 บาท กับค่าวัสดุและค่าแรงอีกเป็นเงิน 3,000,000 บาทเศษ จำเลยที่ 2 ชำระให้โจทก์แล้ว บางส่วนคงค้างอยู่รวมต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน2,412,996.10 บาท แต่โจทก์ขอเรียกร้องจากจำเลยทั้งสองเพียง 1,500,000บาท ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวนดังกล่าวโดยมิได้ขอให้บังคับจำเลยที่ 2ชำระราคาความคิดสร้างสรรค์ด้วย ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาจึงชอบแล้ว เช่นนี้ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า ตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวไม่ปรากฏว่า ศาลอุทธรณ์ได้ประเมินราคาผลงานของโจทก์โดยรวมเอาค่าความคิดสร้างสรรค์ตามความเห็นของ บ. มารวมเป็นค่าจ้างให้แก่โจทก์แต่อย่างใด ดังนั้น ฎีกาจำเลยที่ 2ที่ว่าโจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่าความคิดสร้างสรรค์เอาแก่จำเลยที่ 2 การที่ศาลอุทธรณ์ประเมินผลงานของโจทก์โดยรวมเอาค่าความคิดสร้างสรรค์ตามความเห็นของ บ. มารวมเป็นค่าจ้างแรงงานของโจทก์ด้วย เป็นการไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 2 ย่อมไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าความคิดสร้างสรรค์ตามราคาประเมินของ บ. จึงเป็นฎีกาที่มิได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เป็นฎีกาไม่ชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

Share