คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5353/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสิบเอ็ดร่วมกันละเมิดต่อโจทก์ขอให้ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ซึ่งมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ไม่อาจแบ่งแยกได้แม้จำเลยที่4ที่8และที่9จะไม่ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้และจำเลยอื่นมิได้ยื่นคำร้องให้ศาลชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวก็ได้รับประโยชน์จากข้อต่อสู้และคำร้องขอชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยที่3และที่7ด้วยโดยถือการดำเนินกระบวนพิจารณาของคู่ความร่วมคนหนึ่งเมื่อกระทำไปแล้วย่อมถือว่าได้กระทำแทนคู่ความอื่นร่วมด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา59(1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องมูลละเมิด ขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบเอ็ดร่วมกันรับผิดชดใช้ราคาเครื่องสูบน้ำให้โจทก์ ซึ่งในขณะเกิดเหตุมีราคาเครื่องละ 60,000 บาท รวมทั้งสิ้น 120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 9 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า อธิบดีกรมตำรวจทราบเหตุละเมิดและผู้ตัวผู้ทำละเมิดตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2535 โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2536 จึงเกิน 1 ปี และเกิน 10 ปี นับแต่วันทำละเมิดเมื่อ พ.ศ. 2517 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า อธิบดีกรมตำรวจทราบเหตุละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิดตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2535โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2536 จึงเกิน 1 ปี นับแต่อธิบดีกรมตำรวจทราบถึงเหตุละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิดและเกิน 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด คดีโจทก์จึงขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ทราบว่าเครื่องสูบน้ำตามฟ้องสูญหายตั้งแต่ พ.ศ. 2517 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่29 มิถุนายน 2536 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 6 ให้การว่า เหตุคดีนี้เมื่อ พ.ศ. 2517 โจทก์ทราบเหตุละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2535แต่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2536 ซึ่งเกิน10 ปี นับแต่วันเกิดเหตุละเมิดและเกิน 1 ปี นับแต่โจทก์ทราบเหตุละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 7 ให้การว่า เหตุละเมิดเกิดตั้งแต่ พ.ศ. 2517ทั้งโจทก์ก็ยืนยันในคำฟ้องว่าอธิบดีกรมตำรวจทราบถึงมูลละเมิดและตัวผู้กระทำผิด ตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2535 แล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 8 ให้การว่า จากรายงานของคณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งเมื่อ พ.ศ. 2532 จะเห็นได้ว่าเครื่องสูบน้ำตามฟ้องมิได้สูญหายจริง แต่เหตุที่หาไม่พบเพราะการบริหารงานพัสดุในขณะเกิดเหตุยังไม่รัดกุมเพียงพอ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 10 ให้การว่า ฟ้องโจทก์ยืนยันว่าอธิบดีกรมตำรวจทราบมูลละเมิดและผู้ทำละเมิดตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2535แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2536 ซึ่งเกิน 1 ปีคดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 11 ให้การว่า โจทก์ทราบมูลละเมิดและผู้ทำละเมิดแล้วตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2535 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2536 เกิน 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 3 และที่ 7 ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า ฟ้องขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 หรือไม่
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายที่ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามคำร้องของจำเลยที่ 3 และที่ 7 แล้วพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสิบเอ็ด โดยที่จำเลยที่ 4 และที่ 9 ขาดนัดยื่นคำให้การ และจำเลยที่ 8ไม่ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6ที่ 8 ที่ 10 และที่ 11 ต่างไม่มีความประสงค์จะให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 7 กระทำแทนจำเลยอื่น ชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องพิจารณาสืบพยานโจทก์และจำเลยต่อไป การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยยกฟ้องไปถึงจำเลยอื่นด้วยไม่ชอบนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสิบเอ็ดร่วมกันละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ซึ่งมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ไปอาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 4 ที่ 8 และที่ 9 จะไม่ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ และจำเลยอื่นมิได้ยื่นคำร้องให้ศาลชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ก็ได้รับประโยชน์จากข้อต่อสู้และคำร้องขอชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยที่ 3 และที่ 7ด้วย โดยถือว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาของคู่ความร่วมคนหนึ่งเมื่อกระทำไปแล้ว ย่อมถือว่าได้กระทำแทนคู่ความอื่นร่วมด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59(1) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share