คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5350/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จะไม่ปรากฏใบแต่งทนายสำหรับ อ.แต่อ. ได้ เรียงคำฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนโจทก์ จน เสร็จการพิจารณาของศาลชั้นต้นโดยโจทก์ยอมรับเอาผลของการดำเนินกระบวนพิจารณานั้นตลอดมา และฝ่ายจำเลยก็มิได้คัดค้านประการใดมาแต่ต้น ตามพฤติการณ์น่าเชื่อว่าโจทก์ได้ให้ อ. เป็นทนายความของโจทก์ในคดีนี้แล้วเมื่อปรากฏว่ายังไม่มีใบแต่งทนายสำหรับ อ. อยู่ในสำนวนศาลก็มีอำนาจที่จะอนุญาตให้แก้ไขจัดทำเสียให้ถูกต้องได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 แม้ศาลชั้นต้นมิได้ให้แก้ไขข้อบกพร่องก่อนพิพากษาคดี แต่โจทก์ก็ได้ยื่นใบแต่งทนายแต่งตั้ง อ.เป็นทนายความในคดีพร้อมกับการยื่นอุทธรณ์ อันเป็นการแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวการดำเนินกระบวนพิจารณาของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์ที่ ย.และ จ.ได้มาในระหว่างเป็นสามีภรรยากัน เมื่อ ย.ถึงแก่กรรม การสมรสย่อมสิ้นสุดลงโดยผลของกฎหมาย ทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาก็ต้องแบ่งกันฝ่ายละครึ่ง ดังนั้น จ. จึงยกที่ดินพิพาทให้จำเลยได้เฉพาะส่วนที่เป็นของ จ. เท่านั้น แต่ส่วนที่เป็นของ ย. ต้องเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมโจทก์ทั้งห้าและจำเลยเป็นบุตรของ ย. ซึ่งเป็นเจ้ามรดกโจทก์ทั้งห้าและจำเลยจึงเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 1 จ.เป็นคู่สมรส เป็นทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1629 มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกเสมือนทายาทชั้นบุตรตามมาตรา 1635 ที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของ ย.ต้องแบ่งออกเป็น 7 ส่วนเท่า ๆ กัน เพื่อแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งห้า จำเลยและ จ. คนละ 1 ส่วน ปัญหาที่จำเลยฎีกาว่า คดีขาดอายุความนั้น ในชั้นอุทธรณ์จำเลยมิได้ยกอายุความขึ้นอ้างเป็นประเด็นให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ ประเด็นเรื่องอายุความจึงมิใช่เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในชั้นอุทธรณ์ ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรกศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งห้าและจำเลยที่ 1 เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน นายยก ชุมทอง บิดาถึงแก่กรรมไปก่อนนางจุ้ย ชุมทอง มารดาโจทก์ทั้งห้าและจำเลยที่ 1 ได้ครอบครองที่นา 1 แปลง ที่บ้าน 1 แปลง ที่สวน 1 แปลง ร่วมกันตลอดมาเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2522 นางจุ้ยได้ทำพินัยกรรมยกที่นาให้แก่จำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 4 ที่ 5 โดยความยินยอมของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ส่วนที่บ้านและที่สวน นางจุ้ยและโจทก์ทั้งห้ากับจำเลยที่ 1 คงครอบครองร่วมกันตลอดมาจนปลายพ.ศ. 2522 จำเลยทั้งหมดได้ออกจากบ้านเลขที่ 6 หมู่ที่ 2ซึ่งเคยอาศัยอยู่ด้วยกันกับนางจุ้ยไปอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่จังหวัดสงขลา นางจุ้ยได้ถึงแก่กรรมเมื่อปลาย พ.ศ. 2523ต่อมาวันที่ 25 มิถุนายน 2529 โจทก์ทั้งห้าตรวจสอบหลักฐานที่สำนักงานที่ดินจังหวัดพัทลุงจึงทราบว่าเมื่อวันที่ 23กุมภาพันธ์ 2533 จำเลยที่ 1 ได้แจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินจังหวัดพัทลุงว่า ที่สวนตั้งอยู่หมู่ที่ 6ตำบลท่าแค อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง เนื้อที่ 1 ไร่2 งาน 3 7/10 ตารางวา จำเลยที่ 1 ได้รับการยกให้มาจากนางจุ้ยเมื่อ พ.ศ. 2516 และครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องกันตลอดมาซึ่งไม่เป็นความจริง เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อจึงได้ออกโฉนดที่ดินเลขที่ 186881 ตำบลท่าแค อำเภอเมืองพัทลุงจังหวัดพัทลุง ให้แก่จำเลยที่ 1 นอกจากนั้นในวันที่ 29 พฤษภาคม2522 จำเลยที่ 1 ได้แจ้งความเท็จต่อพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินจังหวัดพัทลุงว่าที่บ้านตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลท่าแค อำเภอเมืองพัทลุงจังหวัดพัทลุง เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 64 1/10 ตารางวา จำเลยที่ 1 ได้รับการยกให้จากนางจุ้ย เมื่อ พ.ศ. 2521 ซึ่งไม่เป็นความจริง เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อจึงได้ออกโฉนดที่ดินเลขที่ 20381 ตำบลท่าแคอำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง ให้แก่จำเลยที่ 1 ต่อมาในวันที่ 23 มิถุนายน 2529 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนการให้ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 18688 ตำบลท่าแค อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง ให้แก่จำเลยที่ 2 และจดทะเบียนการให้ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 20381 ตำบลท่าแค อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง ให้แก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ทำให้โจทก์ทั้งห้าเสียเปรียบเสียหาย ด้วยเจตนาฉ้อโกงโจทก์ทั้งห้าเนื่องจากที่ดินทั้ง 2 แปลงนี้โจทก์ทั้งห้ามีสิทธิที่จะได้รับมรดกและครอบครองส่วนแบ่งกันอยู่เท่า ๆ กับจำเลยที่ 1 ขอให้ศาลพิพากษาว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 18688 และโฉนดที่ดินเลขที่ 20381 ตำบลท่าแค อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุงร่วมกับจำเลยที่ 1 คนละ 1 ส่วน ใน 6 ส่วน และการที่จำเลยที่ 1ขอออกโฉนดที่ดินทั้ง 2 โฉนด แล้วจดทะเบียนการให้ไปยังจำเลยที่ 2 หนึ่งแปลง จำเลยที่ 3 หนึ่งแปลง เป็นการไม่ชอบขอให้เพิกถอนการทำนิติกรรมการให้ที่ดินทั้ง 2 โฉนด และหรือให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ในฐานะบิดามารดาผู้ปกครองของจำเลยที่ 2และที่ 3 ผู้เยาว์โดยการอนุญาตของศาลให้จำเลยที่ 2 และที่ 3จดทะเบียนลงในโฉนดที่ดินแต่ละแปลงให้โจทก์ทั้งห้าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 1 ส่วนเท่า ๆ กันในจำนวนทั้งหมด 6 ส่วน หากจำเลยที่ 1 และที่ 4 ไม่นำโฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลง ไปให้ความยินยอมแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยการอนุญาตของศาล ก็ขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งหมดในการที่จะจดทะเบียนลงในโฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลงให้โจทก์ทั้งห้ามีสิทธิคนละ 1 ส่วน ในจำนวน 6 ส่วน
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม จำเลยที่ 2 ทายาทของจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงเป็นของนางจุ้ย นางจุ้ยได้ยกให้แก่จำเลยที่ 1 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้ให้โจทก์ทั้งห้าพักอาศัยอยู่บนที่ดินดังกล่าวเนื่องจากเห็นว่าเป็นพี่น้องกัน ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงได้ประกาศให้ทำการสำรวจรังวัดที่ดินเพื่อออกโฉนดที่ดินให้แก่ราษฎรในตำบลท่าแค อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง พร้อมกันนางจุ้ยและโจทก์ทั้งห้าได้ตกลงให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ไปขอออกโฉนดที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินจึงได้ออกโฉนดที่ดินเลขที่ 18688และโฉนดที่ดินเลขที่ 20381 ตำบลท่าแค อำเภอเมืองพัทลุงจังหวัดพัทลุง ให้แก่จำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งห้าทราบดีอยู่แล้วแต่ไม่ได้โต้แย้งหรือคัดค้าน ภายหลังจากที่ นาง จุ้ย ได้ถึงแก่กรรมแล้วโจทก์ทั้งห้าก็ไม่เคยโต้แย้งหรือคัดค้านการมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงของจำเลยที่ 1 คำฟ้องของโจทก์ทั้งห้าจึงขาดอายุความ และจำเลยที่ 1 ได้ครอบครองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงตลอดมา ก่อนที่นางจุ้ย จะถึงแก่กรรมที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง จึงไม่เป็นมรดกของนางจุ้ย โจทก์ทั้งห้าไม่มีสิทธิที่จะมาขอแบ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงจากจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนการให้ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น ได้กระทำไปโดยทุจริตไม่ได้มีเจตนาฉ้อฉลแต่อย่างใด โจทก์ทั้งห้าไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3และที่ 5 มีกรรมสิทธิ์รวมอยู่ในที่ดินพิพาทโฉนดที่ดินเลขที่ 18688และ 20381 ตำบลท่าแค อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุงคนละ 1 ใน 14 ส่วน ให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนให้โจทก์ที่ 1ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 18688 คนละ 1 ใน 14 ส่วน และให้จำเลยที่ 3 จดทะเบียนให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 20381 คนละ 1 ใน 14 ส่วน หากจำเลยที่ 2 และที่ 3ไม่ดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3ฎีกาและจำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนายยกและนางจุ้ย ชุมทองระหว่างมีชีวิตอยู่ นายยกและนางจุ้ยมีที่ดินมา 1 แปลงที่ดินบ้าน 1 แปลง และที่ดินสวน 1 แปลง อยู่ที่ตำบลท่าแคอำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง นายยกถึงแก่กรรมก่อนนางจุ้ยหลายปีโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ หลังจากนายยกถึงแก่กรรมแล้วก็ยังไม่ได้แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท วันที่ 7 พฤษภาคม 2522นางจุ้ยได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินนาให้แก่จำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 4และที่ 5 ตามเอกสารหมาย จ.4 ทายาททุกคนยินยอม ต่อมาวันที่12 ธันวาคม 2523 นางจุ้ยถึงแก่กรรม ปรากฏตามมรณบัตรเอกสารหมาย จ.3 สำหรับที่ดินพิพาท คือ ที่ดินบ้าน 1 แปลงและที่ดินสวน 1 แปลง เดิมเป็นที่ดินที่ไม่ได้แจ้งการครอบครองประมาณต้น พ.ศ. 2522 ขณะนั้นนางจุ้ยยังมีชีวิตอยู่ จำเลยที่ 1ได้ขอออกโฉนดที่ดินพิพาทใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ทั้ง 2 แปลง โดยอ้างว่านางจุ้ยยกให้ ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5ถึง จ.8 ปัญหาแรกที่ต้องวินิจฉัยในชั้นนี้มีว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาของโจทก์ที่ 3 ชอบด้วยกฎหมายแล้วหรือไม่ ปัญหานี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า คำฟ้องของโจทก์ทั้งห้ามีลายมือชื่อนายอำนาจ ศิลปสมศักดิ์ ทนายความของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 เป็นโจทก์ แต่ไม่มีลายมือชื่อของโจทก์ที่ 3 หรือนายธีระโชค ขาวชู ซึ่งปรากฏใบแต่งทนายในสำนวนว่าเป็นทนายความของโจทก์ที่ 3 จนกระทั่งเสร็จการพิจารณาของศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคำฟ้องของโจทก์ที่ 3 ไม่ชอบด้วยกฎหมายศาลฎีกาเห็นว่า แม้จะไม่ปรากฏใบแต่งทนายสำหรับนายอำนาจแต่นายอำนาจได้เรียงคำฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนโจทก์ที่ 3 จนเสร็จการพิจารณาของศาลชั้นต้น โดยโจทก์ที่ 3ยอมรับเอาผลของการดำเนินกระบวนพิจารณานั้นตลอดมา และฝ่ายจำเลยก็มิได้คัดค้านประการใดมาแต่ต้น ตามพฤติการณ์น่าเชื่อว่าโจทก์ที่ 3 ได้ให้นายอำนาจเป็นทนายความของโจทก์ที่ 3ในคดีนี้แล้ว เมื่อปรากฏว่ายังไม่มีใบแต่งทนายสำหรับนายอำนาจอยู่ในสำนวน ศาลก็มีอำนาจที่จะอนุญาตให้แก้ไขจัดทำเสียให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 แม้ศาลชั้นต้นมิได้ให้แก้ไขข้อบกพร่องก่อนพิพากษาคดี แต่โจทก์ที่ 3 ก็ได้ยื่นใบแต่งทนายแต่งตั้งนายอำนาจเป็นทนายความในคดีพร้อมกับการยื่นอุทธรณ์ อันเป็นการแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว การดำเนินกระบวนพิจารณาของโจทก์ที่ 3 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า นางจุ้ยได้ยกที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1หรือไม่ โจทก์นำสืบว่า ระหว่างทีนางจุ้ยยังมีชีวิตอยู่นางจุ้ยไม่เคยยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 1แจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่านางจุ้ยยกที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2516 และ พ.ศ. 2521 ตามลำดับนั้นเป็นการแจ้งความเท็จ ทางราชการหลงเชื่อจึงได้ออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2523 แล้วจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2529 จำเลยนำสืบว่าเมื่อนางจุ้ยยกที่ดินพิพาทให้แล้วจำเลยที่ 1 ได้เข้าครอบครองตลอดมา จนกระทั่ง พ.ศ. 2522 จำเลยที่ 1 ได้ขอออกโฉนดที่ดินเจ้าพนักงานที่ดินได้ทำการรังวัดตรวจสอบแนวเขตที่ดิน โจทก์ทั้งห้าและนางจุ้ยก็ทราบดี แต่ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านแต่อย่างใดต่อมา พ.ศ. 2523 ทางราชการจึงออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1ศาลฎีกาได้ตรวจดูเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 แล้ว ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ออกโฉนดที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2522และ 29 พฤษภาคม 2522 ตามลำดับ ได้รับโฉนดที่ดินเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2523 ตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 เห็นว่าการรังวัดตรวจสอบแนวเขตที่ดินเพื่อขอออกโฉนดที่ดินนั้นได้ทำอย่างเปิดเผยและมีเจ้าของที่ดินข้างเคียงมาคอยระวังแนวเขตเพื่อรับรองความถูกต้องด้วย ขณะนั้นนางจุ้ยยังมีชีวิตอยู่แต่นางจุ้ยก็ไม่ได้โต้แย้งหรือคัดค้าน นอกจากนี้โจทก์ที่ 4 ได้เบิกความเป็นพยานจำเลยยืนยันว่า นางจุ้ยยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 3 บังคับให้โจทก์ที่ 4 ฟ้องคดีนี้พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ข้อเท็จจริงในส่วนนี้ฟังได้ว่า นางจุ้ยได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 จริง แต่การยกให้มีผลเพียงใดนั้น ตามข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันได้ความว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์ที่นายยกและนางจุ้ยได้มาในระหว่างเป็นสามีภรรยากัน เมื่อนายยกถึงแก่กรรม การสมรสย่อมสิ้นสุดลงโดยผลของกฎหมาย ทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาก็ต้องแบ่งกันฝ่ายละครึ่ง ดังนั้น นางจุ้ยจึงยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 ได้เฉพาะส่วนที่เป็นของนางจุ้ยเท่านั้น แต่ส่วนที่เป็นของนายยกต้องเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมตามกรณีในคดีนี้ โจทก์ทั้งห้าและจำเลยที่ 1เป็นบุตรของนายยกซึ่งเป็นเจ้ามรดกโจทก์ทั้งห้าและจำเลยที่ 1จึงเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 1 นางจุ้ยเป็นคู่สมรสเป็นทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกเสมือนทายาทชั้นบุตร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1635 ที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของนายยกต้องแบ่งออกเป็น 7 ส่วนเท่า ๆ กัน เพื่อแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งห้า จำเลยที่ 1 และนางจุ้ย คนละ 1 ส่วนสรุปแล้วโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 มีสิทธิเป็นเจ้าของในที่ดินพิพาทร่วมอยู่ด้วยคนละ 1 ส่วน ใน 14 ส่วน
ส่วนปัญหาที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า คดีขาดอายุความนั้นเห็นว่า ในชั้นอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มิได้ยกอายุความขึ้นอ้างเป็นประเด็นให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยไว้ ประเด็นเรื่องอายุความจึงมิใช่เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในชั้นอุทธรณ์ ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share