คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5343/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 กำหนดให้ต้องมีการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ที่จะบันทึกในวัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือภาพและเสียงก่อนที่จะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักรได้ต่อไปก็เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ได้จัดจำแนกประเภทเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้ชมตามมาตรา 26 หรือเพื่อตรวจสอบว่ามีเนื้อหาที่ฝ่าฝืนมาตรา 29 หรือไม่ การบรรยายคำฟ้องในข้อหาจะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักร ซึ่งภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ฯ มาตรา 78 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงต้องกล่าวอ้างโดยชัดแจ้งว่า ภาพยนตร์เรื่องใดในบรรดาภาพยนตร์ที่บันทึกอยู่ในแผ่นดีวีดีของกลางเป็นภาพยนตร์เรื่องที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาต เมื่อโจทก์ไม่บรรยายฟ้องให้ปรากฏโดยชัดแจ้งหรือบรรยายฟ้องอ้างอิงไปยังเอกสารท้ายฟ้องที่มีชื่อภาพยนตร์เหล่านั้นปรากฏอยู่ จึงต้องถือว่าคำฟ้องของโจทก์ขาดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด เป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลย่อมมีอำนาจยกฟ้องเสียได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 28, 31, 69, 70, 75, 76 พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 3, 4, 25, 31, 38, 43, 47, 53, 54, 78, 79, 81, 82 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 และ 91 กับริบแผ่นดีวีดีจำนวน 92 แผ่น ของกลาง และให้แผ่นดีวีดีจำนวน 40 แผ่น ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์และสั่งจ่ายค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายทั้งห้า
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1) ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 79 เป็นการกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าปรับ 50,000 บาท ฐานประกอบกิจการให้เช่าแลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายภาพยนตร์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนปรับ 200,000 บาท รวมปรับ 250,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 125,000 บาท ให้แผ่นดีวีดีภาพยนตร์ของกลาง จำนวน 40 แผ่น ที่ทำขึ้นอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตามฟ้องตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ ให้จ่ายค่าปรับที่จำเลยได้ชำระตามคำพิพากษาฐานละเมิดลิขสิทธิ์แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตามฟ้องเป็นจำนวนกึ่งหนึ่ง สำหรับความผิดฐานนำภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ออกจำหน่าย ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 78 นั้น โจทก์มิได้บรรยายว่าเป็นภาพยนตร์เรื่องใด ซึ่งการตรวจภาพยนตร์นั้นเป็นการตรวจเนื้อหาของภาพยนตร์ มิใช่เป็นการตรวจรายแผ่น การที่โจทก์ระบุเพียงแต่จำนวนแผ่นจึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 จึงให้ยกฟ้องในข้อหานี้ ส่วนที่โจทก์ขอให้ริบแผ่นดีวีดีภาพยนตร์ของกลาง จำนวน 92 แผ่น เห็นว่า ความผิดที่ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 79 ฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายภาพยนตร์ โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนมีสาระสำคัญของการกระทำผิดอยู่ที่จำเลยประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน ดังนั้นแผ่นดีวีดีภาพยนตร์ของกลาง จำนวน 92 แผ่น จึงไม่ใช่ทรัพย์ที่จำเลยมีไว้เป็นความผิดหรือได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดอันจะพึงริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 และ 33 จึงไม่ริบและเห็นควรคืนแก่เจ้าของ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คำฟ้องที่บรรยายเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยในข้อหา จะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายในราชอาณาจักรซึ่งภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 78 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง เป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 4 นิยามคำว่า “ภาพยนตร์” ว่า “วัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง แต่ไม่รวมถึงวีดิทัศน์” การกำหนดให้ต้องมีการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ที่จะบันทึกในวัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือภาพและเสียงก่อนที่จะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักรได้ต่อไปก็เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ได้จัดจำแนกประเภทเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนั้น ๆ ให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้ชมทั้งนี้ตามมาตรา 26 หรือเพื่อตรวจสอบว่าภาพยนตร์เรื่องนั้น ๆ มีเนื้อหาที่ฝ่าฝืนมาตรา 29 หรือไม่ เหตุนี้การบรรยายคำฟ้องในข้อหานี้ โจทก์จึงต้องกล่าวอ้างโดยชัดแจ้งว่า ภาพยนตร์เรื่องใดในบรรดาภาพยนตร์เรื่องต่าง ๆ แต่ละเรื่องที่บันทึกอยู่ในแผ่นดีวีดีของกลางที่ยึดได้จากจำเลยซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 132 แผ่น เป็นภาพยนตร์เรื่องที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ จึงทำให้เห็นได้ต่อไปในตัวว่า การบรรยายฟ้องว่าภาพยนตร์เรื่องใดหรือเรื่องใดบ้างที่บันทึกในดีวีดีของกลางแต่ละแผ่นที่กล่าวหาว่าไม่ผ่านการตรวจพิจารณา เป็นองค์ประกอบของความผิดสำหรับข้อหาตามมาตรา 78 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลย เมื่อโจทก์ไม่บรรยายฟ้องไว้ให้ปรากฏโดยชัดแจ้ง หรือบรรยายฟ้องอ้างอิงไปยังเอกสารท้ายฟ้องที่มีชื่อภาพยนตร์เหล่านั้นปรากฏอยู่ จึงต้องถือว่าคำฟ้องของโจทก์ขาดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด เป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลย่อมมีอำนาจยกฟ้องเสียได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161 แต่แม้ในเวลาที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยฟังก่อนการถามคำให้การของจำเลย จำเลยจะมิได้โต้แย้งคัดค้านว่า คำฟ้องของโจทก์ในข้อหาดังกล่าวนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นว่า ในการอ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยฟังนั้น เป็นการอ่านและอธิบายเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่จำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ซึ่งคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องข้อหานี้รวมมาในข้อเดียวกับการบรรยายฟ้องข้อหาความผิดฐานประกอบกิจการจำหน่ายภาพยนตร์โดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 79 ประกอบมาตรา 38 วรรคหนึ่ง อันเป็นลักษณะการบรรยายฟ้องให้เห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองข้อหานี้เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ไม่ได้บรรยายฟ้องแยกเป็นรายกระทงเรียงเป็นลำดับไป ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 160 วรรคหนึ่ง และการจะเข้าใจว่าคำฟ้องของโจทก์ที่บรรยายไว้นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย เพราะการรับคำฟ้องที่ขาดองค์ประกอบของความผิดไว้พิจารณาพิพากษาย่อมกระทบถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งแม้จำเลยจะไม่ยกขึ้นต่อสู้ ก็เป็นหน้าที่ของศาลจะต้องยกขึ้นวินิจฉัยเอง โดยการตรวจเปรียบเทียบกับองค์ประกอบของความผิดในมาตรานั้น ๆ เพื่อให้แน่ใจในเบื้องต้นว่าการกระทำของจำเลยตามที่กล่าวไว้ในคำฟ้องครบองค์ประกอบของความผิดตามกฎหมายที่ขอให้ลงโทษ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามาจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้แผ่นดีวีดีภาพยนตร์ของกลางจำนวน 40 แผ่น ที่มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 5 ตกเป็นของผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 75 เดิม ซึ่งประสงค์จะเยียวยาความเสียหายเบื้องต้นให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์ จึงมิได้บัญญัติให้ริบสิ่งที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์นั้น เห็นว่า ที่มาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 บัญญัติให้นำพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 75 ที่แก้ไขใหม่ ไปใช้บังคับแก่คดีที่ยังไม่ถึงที่สุดเช่นคดีนี้ด้วยนั้น บทบัญญัติมาตรา 75 ที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวเป็นบทบัญญัติให้ริบสิ่งที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นบทบัญญัติกำหนดโทษริบทรัพย์สิน อันเป็นโทษทางอาญาซึ่งเป็นโทษแก่จำเลยผู้กระทำความผิด เป็นกรณีที่กฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดแตกต่างกับพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 75 เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด จึงต้องใช้บทบัญญัติมาตรา 75 เดิม แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 อันเป็นกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 บังคับใช้แก่คดีนี้
พิพากษายืน

Share