แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นสองกรรมแยกต่างหากจากกันแม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ แต่อาวุธปืนตามฟ้องเป็นกระบอกเดียวกันและโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ในตอนต้นว่า จำเลยมีอาวุธปืนกระบอกเดียวกันนี้ตั้งแต่เวลาตามฟ้องในกรรมแรกต่อเนื่องตลอดมาจนถึงเวลาตามฟ้องในกรรมหลัง การกระทำของจำเลยในข้อหานี้จึงเป็นกรรมเดียว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 ถึง 25 กันยายน 2528 จำเลยทั้งสองกับพวกกระทำความผิดหลายกรรม กล่าวคือ จำเลยที่ 1, ที่ 2แต่ละคนมีปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต และพกอาวุธปืนดังกล่าวไปปล้นทรัพย์กับจับตัว น.ส.สมปอง ไปเรียกค่าไถ่ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา และ ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ โดยเฉพาะความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ให้ลงโทษเป็นสองกรรม คือ การกระทำในวันที่ 17 กันยายน 2528 และวันที่ 25 กันยายน 2528 ซึ่งเป็นระยะเวลาต่อเนื่องจากการจับตัวน.ส.สมปอง*ไว้และรอรับค่าไถ่อยู่จำเลยที่ 1 รับสารภาพ แต่จำเลยที่ 2 ปฏิเสธ
ในส่วนที่เกี่ยวกับ พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ศาลชั้นต้นลงโทษกระทงเดียว จำคุกคนละ 1 ปี รวมโทษความผิดอื่นและลดโทษแล้วจำคุก จำเลยที่ 1 รวม 39 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 รวม 21 ปีโจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติตามที่ศาลล่างวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 กับพวกหลายคนร่วมกันใช้อาวุธปืนขู่เข็ญเอาผู้เสียหายไปหน่วงเหนี่ยวกักขังไว้ที่ห้างนาเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2528 ต่อมาวันที่ 25 เดือนเดียวกันนั้นเจ้าพนักงานตำรวจติดตามไปพบจำเลยที่ 1 ควบคุมผู้เสียหายอยู่ที่ห้างนาดังกล่าว โดยมีจำเลยที่ 2 อยู่ที่ห้างนานั้นด้วยเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสองยึดได้อาวุธปืนสั้นจากจำเลยทั้งสองคนละกระบอก คดีมีปัญหาตามฎีกาโจทก์ว่าความผิดของจำเลยที่ 1 ข้อหาฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้องข้อ ก. และ ข้อ ช. เป็นความผิดต่างกรรมกันหรือไม่”2…..ฯลฯ…..
“สำหรับปัญหาตามฎีกาโจทก์ที่ว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตแยกต่างหากจากกันเป็นฟ้องข้อ ก. และข้อ ช. เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพข้อหาฐานนี้ต้องเรียงกระทงลงโทษ แต่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 1 เป็นกระทงเดียวไม่ชอบนั้น ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องเป็นสองกรรมแยกต่างหากจากกัน แต่อาวุธปืนตามฟ้องเป็นกระบอกเดียวกันและโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ในตอนต้นว่า จำเลยที่ 1 มีอาวุธปืนกระบอกเดียวกันนี้ตั้งแต่วันเวลาตามฟ้องข้อ ก.ต่อเนื่องตลอดมาจนถึงวันเวลาตามฟ้องข้อ ช. ด้วย ดังนี้การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ในข้อหาฐานนี้จึงเป็นกรรมเดียวศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวชอบแล้ว”
แต่ที่ศาลล่างพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ โดยไม่ได้ระบุวรรคใดนั้น สมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้ เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง จำเลยที่ 2มีความผิดตาม พระราชบัญญัติอาวุธปืน มาตรา 72 วรรคแรก