คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 534/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มาตรา 107 (4) ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน เมื่อข้อเท็จจริงน่าเชื่อตามพยานหลักฐานของผู้ร้องว่า ผู้ร้องยื่นหนังสือลาออกต่อพรรคมหาชนในวันที่ 16 กันยายน 2547 ดังนั้น เมื่อ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 22 บัญญัติว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลงเมื่อ…(2) ลาออก ย่อมต้องถือว่าการลาออกจากสมาชิกพรรคมหาชนของผู้ร้องมีผลเมื่อผู้ร้องยื่นหนังสือลาออกต่อพรรคมหาชนในวันดังกล่าวแล้ว ความเป็นสมาชิกพรรคมหาชนของผู้ร้องจึงสิ้นสุดลงในวันที่ 16 กันยายน 2547 ผู้ร้องเป็นสมาชิกพรรคชาติไทยเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2547 และผู้ร้องสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2548 ผู้ร้องย่อมเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน ผู้ร้องจึงมีคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 107 (4)

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งว่า ผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งที่ 7 จังหวัดเชียงใหม่
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ทางพิจารณาศาลฎีกาสืบพยานผู้ร้องแล้ว ส่วนผู้คัดค้านไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ในเบื้องต้นโดยคู่ความมิได้โต้แย้งกันว่า ผู้ร้องเป็นสมาชิกพรรคชาติไทยเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2547 ตามหนังสือรับรองของหัวหน้าพรรคการเมือง ต่อมาวันที่ 10 มกราคม 2548 ผู้ร้องได้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 7 จังหวัดเชียงใหม่หลังจากนั้นวันที่ 20 มกราคม 2548 ผู้คัดค้านแจ้งให้ผู้ร้องทราบว่าไม่รับสมัครผู้ร้องอ้างว่าผู้ร้องมิได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน จึงเป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ผู้ร้องขาดคุณสมบัติให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ เห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มาตรา 107 (4) ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน จึงต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ผู้ร้องได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคมหาชนตั้งแต่เมื่อใด ผู้ร้องนำพยานมาสืบได้ความว่า ผู้ร้องได้นำหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคมหาชนฉบับลงวันที่ 15 กันยายน 2547 ไปยื่นที่ทำการชั่วคราวของพรรคมหาชนในวันที่ 16 กันยายน 2547 โดยมีเจ้าหน้าที่ของพรรคมหาชนเป็นผู้รับหนังสือไว้ ส่วนผู้คัดค้านมีเพียงสำเนาหนังสือของพรรคมหาชนที่มีไปถึงผู้ร้อง ซึ่งมีข้อความระบุว่า พรรคมหาชนได้รับหนังสือลาออกของผู้ร้อง และได้คัดชื่อของผู้ร้องออกการเป็นสมาชิกพรรคมหาชนแล้ว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2547 แต่เมื่อผู้ร้องมีตัวผู้ร้องและนายวิจิตร พยานบุคคลของผู้ร้องเบิกความยืนยันสอดคล้องต้องกันว่า ผู้ร้องได้นำหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคมหาชนไปยื่นต่อพรรคมหาชนแล้วเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2547 ประกอบกับผู้คัดค้านก็มิได้นำพยานมาสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงน่าเชื่อตามพยานหลักฐานของผู้ร้องว่า ผู้ร้องยื่นหนังสือลาออกต่อพรรคมหาชนในวันที่ 16 กันยายน 2547 ดังกล่าว ดังนั้น เมื่อ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541มาตรา 22 บัญญัติว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลงเมื่อ…(2) ลาออก ย่อมต้องถือว่าการลาออกจากสมาชิกพรรคมหาชนของผู้ร้องมีผลเมื่อผู้ร้องยื่นหนังสือลาออกต่อพรรคมหาชนในวันดังกล่าวแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เช่นนี้ ความเป็นสมาชิกพรรคมหาชนของผู้ร้องจึงสิ้นสุดลงในวันที่ 16 กันยายน 2547 ผู้ร้องเป็นสมาชิกพรรคชาติไทยเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2547 และผู้ร้องสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2548 ผู้ร้องย่อมเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน ผู้ร้องจึงมีคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 107 (4) ที่ผู้คัดค้านไม่รับสมัครผู้ร้อง และไม่ประกาศให้ผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย คำร้องของผู้ร้องฟังขึ้น
จึงมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านรับสมัครผู้ร้องและประกาศให้ผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งตามกฎหมาย.

Share