คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3887/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องถึงการที่จำเลยที่ 1 ยินยอมให้จำเลยที่ 2ที่ 3 เข้าร่วมและประกอบกิจการเป็นผู้ขนส่งในนามของจำเลยที่ 1เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน และบรรยายถึงวันเวลาที่จำเลยที่ 1 ที่ 2ที่ 3 ร่วมกันขนส่งกระจกของโจทก์ พฤติการณ์ของคนขับรถของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ขับรถจนทำให้กระจกของโจทก์ได้รับความเสียหายฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่แสดงโดยชัดแจ้งถึงการกระทำของจำเลยและการร่วมกิจการของจำเลยทั้งสามแล้ว จึงไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม เมื่อ ศ. กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์ มอบอำนาจให้ ส. ดำเนินคดีแทน โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง เมื่อจำเลยซึ่งเป็นผู้ขนส่งสืบไม่ได้ว่าสินค้าที่ขนส่งเสียหายเพราะเหตุสุดวิสัยหรือเพราะความผิดของโจทก์ผู้ส่ง จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ เอกสารที่จำเลยทำขึ้นเป็นเอกสารสั่งจ่ายรถยนต์ของจำเลยเองแม้จะมีข้อจำกัดความรับผิดของจำเลยไว้ แต่ก็หาใช่ใบรับ ใบตราส่งหรือเอกสารอื่นทำนองนั้น ซึ่งจำเลยออกให้โจทก์และโจทก์ได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดตามป.พ.พ. มาตรา 625 ไม่ กระจกของโจทก์ที่ให้จำเลยรับขนเป็นทรัพย์สินที่แตกหักได้ง่ายมิใช่ของมีค่าอย่างอื่นตาม ป.พ.พ. มาตรา 620 ประกอบกับตัวแทนของโจทก์ได้แจ้งสภาพแห่งของให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยทราบแล้วจำเลยจึงไม่อาจอ้างประกาศอัตราค่าขนส่งของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบก ที่จำกัดความรับผิดในค่าเสียหายของจำเลยมาใช้กับโจทก์ได้ การที่จำเลยรับขนกระจกของโจทก์แต่จำเลยทำกระจกของโจทก์แตกเสียหายจนโจทก์ต้องไปว่าจ้างบุคคลอื่นให้ติดตั้งกระจกชั่วคราวที่ศูนย์การค้าของโจทก์ เพื่อให้เสร็จก่อนกำหนดพิธีเปิด ค่าติดตั้งกระจกดังกล่าวมิใช่ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ ซึ่งจำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว ส่วนค่าใช้จ่ายในการออกของและค่าภาษีอากรขาเข้านั้น เป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นและถือว่าเป็นค่าเสียหายโดยตรงอันจำเลยต้องรับผิด.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ได้มอบอำนาจให้นายสมภพ ฟ้องและดำเนินคดีแทน จำเลยทั้งสามได้เข้าร่วมประกอบกิจการเป็นผู้รับขนส่ง โดยจำเลยที่ 1 ยินยอมให้จำเลยที่ 2ที่ 3 เข้าร่วมและประกอบกิจการเป็นผู้รับขนส่งในนามของจำเลยที่ 1ได้เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของจำเลยทั้งสาม โจทก์เป็นเจ้าของกระจกสามิเนท จำนวน 98 แผ่น ราคา 62,621.89 ดอยซ์มาร์ค โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งกระจกดังกล่าวจากท่าเรือกรุงเทพไปยังโกดังของโจทก์ที่ถนนรัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2528จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ร่วมกันดำเนินการขนส่งกระจกสามิเนท ซึ่งบรรจุอยู่ในตู้สินค้าขึ้นรถบรรทุกของจำเลยที่ 2ที่ 3 ออกจากท่าเรือกรุงเทพเพื่อไปยังโกดังของโจทก์ รถบรรทุกวิ่งด้วยความเร็วสูง ประกอบกับถนนลื่นทำให้รถบรรทุกเสียหลักพลิกตะแคงกระจกสามิเนท ทั้งหมด แตกหักบุบสลาย คิดเป็นเงินไทย 440,869.57 บาทค่าใช้จ่ายในการออกสินค้าเป็นเงิน 16,819.55 บาท ค่าภาษีอากรขาเข้าเป็นเงิน 361,361.54 บาท และเนื่องจากโจทก์จำเป็นต้องติดตั้งกระจกที่ตัวอาคารศูนย์การค้ามาบุญครองให้เสร็จก่อนกำหนดพิธีเปิดอาคารโดยไม่สามารถเลื่อนไปได้อีก โจทก์จึงต้องจ้างบริษัทอื่นจัดหากระจกมาทำการติดตั้งชั่วคราว เสียค่าดำเนินการเป็นเงิน 242,452 บาทรวมเป็นเงินค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสามจะต้องร่วมกันชำระให้แก่โจทก์ทั้งหมด จำนวน 1,161,529.66 บาท จำเลยที่ 1 ยืนยอมจ่ายให้โจทก์เพียง 300,000 บาท จำเลยทั้งสามจึงค้างชำระค่าเสียหายแก่โจทก์อีก861,529.66 บาท ต่อมาโจทก์ได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากผู้รับประกันภัยเป็นเงิน 309,624.10 บาท โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเสียหายที่เหลือจำนวน 551,905.56 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 22 มกราคม 2528 ถึงวันฟ้องคิดเป็นเงิน 41,392.92 บาท ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน593,298.48 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของจำนวนเงิน 551,905.56 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า เหตุที่รถพลิกคว่ำเกิดจากมีรถคันอื่นแล่นตัดหน้าในระยะกระชั้นชิดและถนนลื่น อันเป็นเหตุสุดวิสัย จำเลยที่ 1ไม่ต้องรับผิด ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูง กว่า ความเป็นจริงโจทก์ไม่แจ้งราคามูลค่าสินค้าตามความเป็นจริง หากเกิดความเสียหายจำเลยจะชดใช้ให้ไม่เกิน 300,000 บาท ตามระเบียบของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ค่าจ้างติดตั้งกระจกชั่วคราวควรมีราคาเพียง 100,000 บาท โจทก์ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายครบถ้วนแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้นายสมภพ ฟ้องคดีแทนหนังสือมอบอำนาจเป็นเอกสารปลอม ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์มิได้รับความเสียหายตามฟ้อง ความเสียหายของโจทก์ไม่ตรงกับความจริงโจทก์ได้รับชดใช้ค่าเสียหายครบถ้วนแล้ว เหตุที่รถบรรทุกลากจูงของจำเลยที่ 2 พลิกคว่ำเกิดจากการกระทำของบุคคลภายนอกซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัย จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่ได้มอบอำนาจนายสมภพ ฟ้องคดีแทนหนังสือมอบอำนาจเป็นเอกสารปลอม จำเลยที่ 3 ไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1ที่ 2 ในการขนส่งกระจกสามิเนท ให้ แก่โจทก์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 551,905.56 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของจำนวนเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 22 มกราคม 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22มกราคม 2528 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ร่วมกันดำเนินการขนส่งกระจกสามิเนท จำนวน 98 แผ่นของโจทก์ จากท่าเรือกรุงเทพเพื่อจะไปส่งที่โกดังของโจทก์ที่ถนนรัชดาภิเษกโดยนำกระจกสามิเนท ซึ่งบรรจุอยู่ในตู้บรรจุสินค้าขึ้นบรรทุกบนรถบรรทุกลากจูงคันหมายเลขทะเบียนนครศรีธรรมราช 80-1283ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 คนขับรถคันดังกล่าวขับรถเลี้ยวเปลี่ยนเส้นทางจากถนนสุนทรโกษา เข้าถนนรัชดาภิเษกด้วยความเร็วสูงมาก ประกอบกับถนนลื่น จึงทำให้บรรทุกลากจูงเสียหลักพลิกตะแคงอยู่กับพื้นถนนเป็นเหตุให้ตู้บรรจุสินค้าตกกระแทกกับพื้นถนน กระจกทั้งหมดของโจทก์แตกหักบุบสลาย และโจทก์ได้บรรยายฟ้องด้วยว่า จำเลยที่ 2ที่ 3 ได้เข้าร่วมประกอบกิจการเป็นผู้รับขนส่งของกับจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 1 ยินยอมให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 เข้าร่วมและประกอบกิจการเป็นผู้รับขนส่งในนามของจำเลยที่ 1 ทั้งนี้เพื่อผลประโยชน์ของจำเลยทั้งสามร่วมกันฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดถึงการกระทำของจำเลย และการร่วมกิจการของจำเลยทั้งสามแล้ว จึงไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะหนังสือมอบอำนาจไม่ใช่ลายมือชื่อชื่อที่แท้จริงของผู้มอบอำนาจนั้น โจทก์นำสืบว่า นายศิริชัย เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามและประทับตราสำคัญของโจทก์กระทำการแทนโจทก์ได้ โจทก์โดยนายศิริชัยลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์มอบอำนาจให้นายสมภพ ดำเนินคดีแทน ปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้อง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาในข้อต่อมาว่า ความเสียหายเกิดขึ้นเพราะการที่โจทก์บรรจุหีบห่อไม่เรียบร้อย คานที่ยึดกระจกข้างในอาจไม่แข็งแรงพอ เมื่อรถเอียงเพียงเล็กน้อยก็เป็นเหตุให้รถคว่ำได้ ทั้งผู้รับขนส่งไม่อาจจะตรวจสอบสินค้าได้ว่ามีสภาพเป็นอย่างไรจึงเป็นความผิดของผู้ส่งที่ไม่ผูกรัดตรึง กระจกให้เรียบร้อยต้องถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา616 บัญญติ ว่า “ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งมอบซักช้า เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า การสูญหายหรือบุบสลายหรือซักช้านั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดแต่สภาพแห่งของนั้นเอง หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ส่งหรือผู้รับตราส่ง” ข้อนี้จำเลยที่ 2 ได้นำนายวีรชาติ กรรมการของจำเลยที่ 2 เข้าเบิกความเป็นพยานว่า การที่กระจกแตกเพราะรถคว่ำเนื่องจากเหตุสุดวิสัย เพราะตามกฎหมายจราจร และสภาพของการจราจรบนถนนที่เกิดเหตุรถไม่สามารถวิ่งได้เร็ว ฉะนั้น เหตุที่เกิดอาจจะเป็นเพราะการบรรจุหีบห่อไม่เรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นว่าการที่จำเลยนำสืบว่า ขณะเกิดเหตุรถไม่สามารถวิ่งได้เร็วนั้น เป็นเพียงการนำสืบถึงสภาพความเร็วของรถในขณะเกิดเหตุโดยไม่ปรากฏว่าเหตุที่ทำให้รถคว่ำเป็นเหตุสุดวิสัย อันไม่อาจป้องกันได้ ซึ่งจะทำให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดแต่อย่างใดทั้งข้อที่อ้างว่าโจทก์บรรจุหีบห่อไม่เรียบร้อย ก็เป็นเพียงการคาดคะเน และกล่าวอ้างลอย ๆปราศจากพยานหลักฐานอื่นใดสนับสนุน จึงรับฟังไม่ได้ว่า ความเสียหายเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเพราะความผิดของโจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาว่า เอกสารใบสั่งจ่ายรถยนต์เงินสดของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่มอบให้โจทก์ไว้มีข้อความจำกัดความรับผิดของจำเลยไว้พิมพ์ด้วยตัวอักษรสีแดง ตัว โตเห็นได้ชัดเจน อ่านง่าย จึงถือได้ว่าเป็นเอกสารของจำเลยที่ผู้ส่งหรือผู้ว่าจ้างได้ทราบข้อยกเว้น หรือจำกัดความรับผิดของจำเลยโดยชัดแจ้ง และยินยอมตกลงด้วยแล้ว จึงถือว่าเป็นเอกสารอื่น ๆทำนองใบรับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 624 แล้วนั้นศาลฎีกาได้พิเคราะห์ใบสั่งจ่ายรถยนต์เงินสดเอกสารหมาย ล.1ของจำเลยที่ 1 แล้ว เห็นว่า เป็นเอกสารการสั่งจ่ายรถยนต์ของจำเลยที่ 1 เอง แม้เอกสารดังกล่าวจะมีข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดไว้แต่ก็หาใช่ใบรับใบตราส่ง หรือเอกสารอื่น ๆ ทำนองนั้น ซึ่งจำเลยที่ 1 ออกให้โจทก์ และโจทก์ได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 625อันจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 หลุดพ้นจากความรับผิดได้ส่วนที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม การกำหนดอัตราค่าขนส่งนั้นต้องเป็นไปตามประกาศอัตราค่าขนส่งของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางซึ่งสังกัดกระทรวงคมนาคม เป็นผู้กำหนดว่า ถ้าผู้ว่าจ้างไม่แจ้งมูลค่าราคาสินค้าให้ทราบ จำเลยที่ 1 จะชดใช้ค่าสินค้าให้ไม่เกิน100,000 บาท สำหรับรถยนต์บรรทุก 6 ล้อ ส่วนรถลากจูงคอนเทนเนอร์จะชดใช้ให้ไม่เกิน 300,000 บาท เมื่อโจทก์ไม่แจ้งราคามูลค่าสินค้าที่ขนส่งตามความจริง จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดเกินกว่าประกาศดังกล่าวนั้น เห็นว่าแม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 620จะบัญญัติยกเว้นความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ว่า ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดในเงินทองตรา ธนบัตร ฯลฯ และของมีค่าอย่างอื่น ๆ หากมิได้รับบอกราคาหรือสภาพแห่งของไว้ในขณะที่ส่งมอบแก่ตนก็ตามแต่กระจกของโจทก์ก็ไม่ใช่ของมีค่าตามความหมายของมาตรานี้ เพียงแต่เป็นทรัพย์สินที่แตกหักได้ง่าย ซึ่งนายพงษา ชาญกลิคุปต์ พยานจำเลยก็เบิกความยอมรับว่า ตัวแทนของโจทก์ได้แจ้งสภาพแห่งของให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ทราบแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงไม่อาจกล่าวอ้าง ประกาศอัตราค่าขนส่งดังกล่าวข้างต้นมาเป็นเหตุให้หลุดพ้นจากความรับผิดในความเสียหายส่วนที่เกินกว่า 300,000 บาทได้
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาในข้อสุดท้ายว่า ค่าเสียหายสำหรับค่ากระจกที่นำมาติดตั้งชั่วคราวที่ศูนย์การค้ามาบุญครอง และค่าใช้จ่ายในการออกสินค้ากับค่าภาษีอากรขาเข้ารวม 378,181.09 บาทไม่ใช่ผลโดยตรงที่จำเลยจะต้องรับผิดนั้น เห็นว่า ที่โจทก์นำสืบว่าโจทก์มีความจำเป็นต้องติดตั้งกระจกที่ศูนย์การค้าของโจทก์ให้เสร็จก่อนกำหนดพิธีเปิด จึงต้องว่าจ้างบริษัทกิ้มหยูเส็งค้ากระจก จำกัด ให้ติดตั้งกระจกชั่วคราวนั้น หาใช่ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ ซึ่งจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในค่าติดตั้งกระจกชั่วคราวดังกล่าวนั้น ส่วนค่าใช้จ่ายในการออกของ และค่าภาษีอากรขาเข้านั้น เห็นได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นและถือได้ว่าเป็นค่าเสียหายโดยตรง จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงต้องรับผิดในค่าใช้จ่ายดังกล่าว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ในเรื่องค่าเสียหายในการจัดหากระจกติดตั้งชั่วคราวที่ตัวอาคารศูนย์การค้ามาบุญครองเซ็นเตอร์ เป็นจำนวนเงิน 242,452 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share