แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนกระทำในรูปคณะบุคคลอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 แม้คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนจะมิได้มีฐานะเป็นนิติบุคคล คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนก็มีผลผูกพันกรรมการทุกคนไม่ว่าจะได้เข้าร่วมประชุมพิจารณาวินิจฉัยด้วยหรือไม่ ดังนั้น การฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนจึงไม่ใช่เป็นการฟ้องคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนในฐานะส่วนตัวแต่เป็นการฟ้องในทางตำแหน่งหน้าที่ตามกฎหมาย คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนทั้งคณะจึงถูกฟ้องเป็นจำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ว่าการประสบอันตรายของโจทก์ไม่ได้เกิดจากการทำงานให้แก่นายจ้าง และพิพากษาว่าโจทก์ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานในทางการที่จ้างของบริษัทไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย จำกัด นายจ้าง
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยได้ และโจทก์ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง พิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ ให้ถือว่าโจทก์ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้นายจ้างและมีสิทธิได้รับเงินทดแทนตามกฎหมาย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเป็นคณะบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 31 มีอำนาจหน้าที่รวมถึงการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของนายจ้าง ลูกจ้าง หรือผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนที่ไม่พอใจคำสั่ง คำวินิจฉัย หรือการประเมินเงินสมทบของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งการตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 32 และมาตรา 52 คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนจึงมีผลโดยตรงต่อนายจ้าง ลูกจ้าง หรือผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทน และพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 53 บัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้อุทธรณ์ไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนให้มีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย ถ้าไม่นำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายในกำหนดดังกล่าว ให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเป็นที่สุด โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอให้ศาลเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่รัฐแต่งตั้งขึ้นตามกฎหมายและพิพากษาว่า การประสบอันตรายของโจทก์เนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง อันเป็นการฟ้องเพื่อทำลายมติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเท่านั้น มิใช่เป็นการฟ้องลูกหนี้ให้ปฏิบัติชำระหนี้ในมูลหนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง ประกอบกับคดีแรงงานไม่มีค่าฤชาธรรมเนียมที่จะต้องมีการบังคับคดีเอาแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งเป็นกรณีต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ว่าโจทก์จำเป็นต้องฟ้องให้ถูกตัวบุคคลที่เป็นลูกหนี้เหมือนคดีแพ่งทั่วไป และคดีนี้ปรากฏว่าในการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนได้กระทำในรูปคณะบุคคลอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 แม้ชื่อตำแหน่งคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนจะมิได้มีฐานะเป็นนิติบุคคล คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนก็ย่อมมีผลผูกพันกรรมการทุกคนไม่ว่าจะได้เข้าร่วมประชุมพิจารณาวินิจฉัยด้วยหรือไม่ดังนั้น การฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนจึงไม่ใช่เป็นการฟ้องคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนในฐานะส่วนตัว แต่เป็นการฟ้องในทางตำแหน่งหน้าที่ตามกฎหมาย โจทก์จึงฟ้องคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเป็นจำเลยในคดีนี้ได้ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน.