แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 58(พ.ศ. 2532)เรื่องเปลี่ยนแปลงประเภทวัตถุออกฤทธิ์ ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ย่อมมีผลบังคับเช่นกฎหมาย จำเลยครอบครองเพโมลีน โดยไม่ได้รับอนุญาตจำนวนเดียวกับที่จำเลยมีไว้เพื่อจำหน่าย การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้วจึงไม่ต้องปรับบทลงโทษในความผิดฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตอีก การมีเพโมลีนไว้ในครอบครองเพื่อขาย มิใช่เป็นความผิดในตัวเอง แต่เป็นความผิดเพราะมีประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ซึ่งแต่เดิมจัดอยู่ในวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 ซึ่งจำเลยได้รับอนุญาตให้ขายได้ตามสภาพและพฤติการณ์จำเลยอาจไม่รู้ว่าการมีเพโมลีนไว้ในครอบครองเพื่อขายเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมาย และหากจำเลยสามารถนำพยานหลักฐานมีพิสูจน์เช่นว่านั้นได้ ศาลย่อมลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 64 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2535 ให้ยกเลิกมาตรา 13 เดิมและใช้ความใหม่แทน และให้เพิ่มความเป็นมาตรา 13 ทวิ การกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นความผิดตามมาตรา 13 ทวิ และมีโทษตามมาตรา ซึ่งมาตรา 89 ที่แก้ไขใหม่มีโทษเบากว่าโทษตามมาตรา 89 เดิม จึงต้องลงโทษจำเลยตามมาตรา 89 ที่แก้ไขใหม่เพราะเป็นกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเพโมลีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขาย จำนวน 962 เม็ด ของให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 มาตรา 4, 5, 6, 13, 62, 89, 106, 116 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 51 (พ.ศ. 2531) เรื่องระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์ ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ข้อ 3(13) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 58 (พ.ศ. 2532) เรื่อง เปลี่ยนแปลงประเภทวัตถุที่ออกฤทธิ์ ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 และริบของกลางด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง,62, 89, 106 เป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ลงโทษบทหนัก ตามมาตรา 89จำคุก 6 ปี คำให้การรับสารภาพของจำเลยชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงลงโทษจำคุก 4 ปี ริบวัตถุออกฤทธิ์ของกลางให้แก่กระทรวงสาธารณสุข
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 58(พ.ศ. 2532) เรื่อง เปลี่ยนแปลงประเภทวัตถุออกฤทธิ์ ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2532 และประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศข้างต้นจึงมีผลบังคับเช่นกฎหมาย จำเลยไม่อาจแก้ตัวได้ว่าจำเลยไม่ทราบประกาศนั้น การที่จำเลยยังคงมียาโคบาลซึ่งต่อมาถือว่าเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อชายโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุขเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้องนั้น แต่เนื่องจากเพโมลีน ที่จำเลยมีไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นเพโมลีนจำนวนเดียวกับที่จำเลยมีไว้เพื่อขาย เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ครอบครองเพื่อขายซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่ต้องปรับบทลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 62, 106 อีก และศาลฎีกาเห็นว่า การมีเพโมลีนไว้ในครอบครองเพื่อขายมิใช่เป็นความผิดในตัวเองแต่เป็นความผิดเพราะประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 58 (พ.ศ. 2532) เรื่องเปลี่ยนแปลงประเภทวัตถุออกฤทธิ์ ตามความในพระราชบัญญัติที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 กำหนดให้เพโมลีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ประกอบกับแต่เดิมเพโมลีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 ซึ่งจำเลยได้รับอนุญาตให้ขายได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2534 วันที่จำเลยกระทำความผิดคือวันที่27 กรกฎาคม 2533 เป็นวันที่ยังอยู่ภายในกำหนดเวลาตามใบอนุญาตดังนี้ ตามสภาพและพฤติการณ์จำเลยอาจไม่รู้ว่าการมีเพโมลีนไว้ในครอบครองเพื่อขายเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมาย ศาลจึงอาจอนุญาตให้แสดงหลักฐานต่อศาล และถ้าศาลเชื่อว่าจำเลยไม่รู้เช่นนั้น ศาลจะลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 64 ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้วเชื่อว่าจำเลยไม่ทราบว่าได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 58 (พ.ศ. 2532) เรื่อง เปลี่ยนแปลงประเภทวัตถุออกฤทธิ์ ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 กำหนดให้เพโมลีนเปลี่ยนจากวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2
อนึ่ง ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535 มาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 และใช้ความใหม่แทน และมาตรา 9 บัญญัติให้เพิ่มความเป็นมาตรา13 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 การกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นความผิดตามมาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง และมีโทษตามมาตรา 89 ตามที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ ต่อจิตและประสาท (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535 ซึ่งโทษตามมาตรา 89 ดังกล่าวนี้เบากว่าโทษตามมาตรา 89 เดิม จึงต้องลงโทษจำเลยตามมาตรา 89ที่แก้ไขใหม่ เพราะเป็นกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลย ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง89 ตามที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535 มาตรา 9, 13 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3, 64 ให้จำคุก 3 ปี และปรับ102,000 บาท เมื่อลดโทษให้หนึ่งให้สาม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 แล้ว คงลงโทษจำคุก 2 ปี และปรับ 68,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30โดยให้กักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์