คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7770/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการทำงานของบริษัทจำเลยได้กำหนดเกี่ยวกับความผิดวินัยกรณีร้ายแรงไว้ตามหมวด7ข้อ3(4)ว่า”การดื่มสุราสิ่งมึนเมาหรือยาเสพติดในบริเวณบริษัทหรือในระหว่างปฏิบัติหน้าที่เป็นความผิดร้ายแรง”เจตนารมณ์หรือวัตถุประสงค์ที่จำเลยได้กำหนดระเบียบข้อบังคับการทำงานดังกล่าวข้างต้นไว้เพราะจำเลยต้องการที่จะกำหนดเป็นมาตรการเพื่อป้องกันภยันตรายหรือความเสียหายซึ่งจะเกิดแก่พนักงานทุกคนหรือแก่ทรัพย์สินของจำเลยอันอาจจะเกิดขึ้นได้ไว้ล่วงหน้าเพราะการดื่มสุราหรือสิ่งมึนเมาก่อนให้เกิดความประมาทในขณะปฏิบัติหน้าที่ได้ทั้งนี้จำเลยมิได้กำหนดไว้ในระเบียบข้อบังคับการทำงานให้นำผลจากการดื่มมากดื่มน้อยเพียงใดหรือผลจากการดื่มแล้วยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่มาเป็นเกณฑ์มาพิจารณาถึงความร้ายแรงหรือไม่โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยในตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์รับส่งผู้บริหารของบริษัทจำเลยตั้งแต่เวลา17ถึง20นาฬิกาแม้ว่าจะอยู่ในระหว่างระยะเวลาทำงานล่วงเวลาแต่ก็ต้องถือว่าอยู่ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่งและหน้าที่ที่โจทก์ปฏิบัติย่อมต้องใช้ความรับผิดชอบและความระมัดระวังสูงหากประมาทเลินเล่อย่อมนำมาซึ่งความเสียหายได้ทันทีดังนั้นหากปล่อยให้โจทก์ดื่มสุราหรือสิ่งมึนเมาจนถึงขั้นไม่สามารถปฏิบัติหน้าได้หรือมึนเมาจนก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นก่อนแล้วจึงถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงนายจ้างโดยทั่วไปหรือจำเลยก็ย่อมไม่ได้รับประโยชน์หรือความคุ้มครองในมาตรการที่ป้องกันภยันตรายที่จำเลยได้กำหนดไว้หรือตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ47(4)แต่อย่างใดการที่โจทก์ดื่มเบียร์เพียงครึ่งแก้วระหว่างระยะเวลาการทำงานล่วงเวลาจึงเป็นการผิดระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีที่ร้ายแรงจำเลยเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2534 จำเลยจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างในตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์ ต่อมาวันที่2 มิถุนายน 2538 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยที่โจทก์ไม่ได้ทำผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าล่วงเวลาที่ค้าง 4,755.44 บาทและเงินค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2538 เวลาประมาณ17 นาฬิกา โจทก์ดื่มเบียร์ซึ่งเป็นของมึนเมาบริเวณใกล้บริษัทจำเลย ทั้งที่โจทก์ยังมีหน้าที่ขับรถยนต์รับผู้บริหารบริษัทจำเลยจากบริษัทไปส่งยังบ้านพัก อันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับว่าด้วยการทำงานที่ระบุในหมวด 7 ข้อ 3(4) และเป็นการผิดระเบียบวินัยการทำงานอย่างทำงานให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้พิพากษายกฟ้อง
วันนัดพิจารณา โจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่าเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2534 จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยในตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์ โจทก์ได้รับค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน และโจทก์ได้รับเงินเดือนสุดท้าย 6,200 บาทต่อมาวันที่ 2 มิถุนายน 2538 จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุโจทก์ดื่มเบียร์ไปครึ่งแก้วในเวลาทำงาน วันเกิดเหตุวันที่27 พฤษภาคม 2538 เหตุเกิดเวลา 17 นาฬิกา ซึ่งอยู่ระหว่างที่โจทก์จะต้องปฏิบัติหน้าที่ขับรถ โดยพาที่ปรึกษาทางเทคนิคของบริษัทจำเลยไปส่งยังที่พักจนถึงเวลา 20 นาฬิกา เป็นระยะเวลาล่วงเวลาทำงานของโจทก์ (ซึ่งที่ถูกน่าจะเป็นระยะเวลาทำงานล่วงเวลา)
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การที่โจทก์ออกไปนั่งดื่มเบียร์ที่ร้านค้าข้างบริษัทจำเลยเวลาประมาณ 17 นาฬิกาอันเป็นระยะเวลาเลิกงานตามเวลาทำงานปกติ แต่โจทก์ยังมีหน้าที่ขับรถยนต์รับส่งพนักงานฝ่ายบริหารของจำเลยกลับที่พักระหว่างเวลา 17 ถึง 20 นาฬิกา อันเป็นระยะเวลาทำงานล่วงเวลาของโจทก์และโจทก์นั่งดื่มเบียร์ไปเพียงครึ่งแก้วเพื่อรอเวลาขับรถพาที่ปรึกษาเทคนิคของจำเลยไปส่งยังที่พัก ตามข้อบังคับของจำเลยข้อ 3(4) ที่จะเป็นความผิดวินัยร้ายแรงต้องปรากฏว่าดื่มสุราสิ่งมึนเมา หรือยาเสพติดในบริเวณบริษัทหรือระหว่างปฏิบัติหน้าที่นั้น ต้องปรากฏว่าเป็นการดื่มจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ โจทก์ดื่มเบียร์เพียงครึ่งแก้ว แม้เป็นของมึนเมาแต่ก็เป็นเพียงเล็กน้อย ไม่น่าจะทำให้มึนเมาจนเป็นเหตุให้ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ การกระทำของโจทก์ผิดข้อบังคับดังกล่าวไม่ร้ายแรงแต่การที่โจทก์ดื่มสิ่งมึนเมาในระหว่างปฏิบัติหน้าที่อันเป็นการฝ่ายฝืนข้อบังคับการทำงาน การกระทำดังกล่าวของโจทก์เป็นการขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายที่จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างเวลาจำนวน 4,755.44 บาท และค่าชดเชยจำนวน 37,200 บาทแก่โจทก์คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าการที่โจทก์ดื่มเบียร์ครึ่งแก้วระหว่างระยะเวลาทำงานล่วงเวลาเป็นการผิดระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่ เห็นว่า เบียร์เป็นสิ่งมึนเมาอย่างหนึ่งตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการทำงานของบริษัทจำเลยได้กำหนดเกี่ยวกับความผิดวินัยกรณีร้ายแรงไว้ตามหมวด 7 ข้อ 3(4) ว่า”การดื่มสุรา สิ่งมึนเมาหรือยาเสพติดในบริเวณบริษัท หรือในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ เป็นความผิดวินัยร้ายแรง” เจตนารมย์หรือวัตถุประสงค์ที่จำเลยได้กำหนดระเบียบข้อบังคับการทำงานดังกล่าวข้างต้นไว้ เพราะจำเลยต้องการที่จะกำหนดเป็นมาตรการเพื่อป้องกันภยันตรายหรือความเสียหายซึ่งจะเกิดแก่พนักงานทุกคนหรือแก่ทรัพย์สินของจำเลย อันอาจจะเกิดขึ้นได้ไว้ล่วงหน้าเพราะการดื่มสุราหรือสิ่งมึนเมาก่อให้เกิดความประมาทในขณะปฏิบัติหน้าที่ได้ ทั้งนี้จำเลยมิได้กำหนดไว้ในระเบียบข้อบังคับการทำงานให้นำผลจากการดื่มมากดื่มน้อยเพียงใด หรือผลจากการดื่มแล้วยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่มาเป็นเกณฑ์การพิจารณาถึงความร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง หากแต่จำเลยมุ่งถึงประเด็นของการกระทำผิดเป็นสำคัญ ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยในตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์รับส่งผู้บริหารของบริษัทจำเลย ตั้งแต่เวลา 17 ถึง 20 นาฬิกา แม้ว่าจะอยู่ในระหว่างระยะเวลาทำงานล่วงเวลาแต่ก็ต้องถือว่าอยู่ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ตำแหน่งและหน้าที่ที่โจทก์ปฏิบัติย่อมใช้ความรับความผิดชอบและความระมัดระวังสูง หากประมาทเลินเล่อย่อมนำมาซึ่งความเสียหายได้ทันที ดังนั้นหากปล่อยให้โจทก์ดื่มสุราหรือสิ่งมึนเมาจนถึงขั้นไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้หรือมึนเมาจนก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นก่อนแล้วจึงถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงนายจ้างโดยทั่วไปหรือจำเลยก็ย่อมไม่ได้รับประโยชน์หรือความคุ้มครองในมาตรการที่ป้องกันภยันตรายที่จำเลยได้กำหนดไว้หรือตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(4) แต่อย่างใด การกระทำของโจทก์จึงเป็นการผิดระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีที่ร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง

Share