คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 533/2526

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยเช่าที่ดินแล้วปลูกสร้างอาคารโดยลงเข็มและตั้งเสาทั้งที่ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ผู้ร้องสอดรับโอนสิทธิการเช่าจากจำเลยและปลูกสร้างอาคารต่อมาจนเสร็จจะอ้างความเข้าใจผิดคิดว่าจำเลยได้รับอนุญาตแล้วไม่ได้เมื่อผู้ร้องสอดไม่ได้ขออนุญาตปลูกสร้างอาคาร และภายหลังได้ยื่นคำร้องขอผ่อนผันใช้อาคาร ทางราชการก็มีคำสั่งไม่อนุญาต จำเลยและผู้ร้องสอดก็ต้องรื้ออาคารออกไป

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยและผู้ร้องสอดรื้อถอนอาคารพิพาทออกไป หากไม่ยอมรื้อ ให้โจทก์เป็นผู้รื้อโดยให้จำเลยและผู้ร้องสอดเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย ผู้ร้องสอดฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์มีว่าจำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตปลูกสร้างอาคารเพื่ออยู่อาศัยลงในที่ดินโฉนดเลขที่ 6130 ซึ่งเป็นของนางเรืองยศ มุขวิชิต ที่ดินอยู่ที่เลขที่ 104ถนนพระรามที่ 6 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานครแต่ทางราชการไม่อนุญาต ปรากฏต่อมาว่ามีการก่อสร้างจนเสร็จ โจทก์จึงฟ้องเป็นคดีนี้ เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องสอดมีข้อความรับทราบเนื้อความในฟ้องแล้ว ผู้ร้องสอดอ้างในคำร้องว่าได้รับโอนสิทธิการเช่าที่ดินรายนี้มาจากจำเลยทั้งผู้ร้องสอดยังได้เข้าทำสัญญาเช่าที่ดินจากนางเรืองยศแทนที่จำเลยอีกด้วย แต่ปรากฏในเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 1 หมายเลข 2ว่า ผู้ร้องสอดเช่าที่ดินจากนางเรืองยศนั้นเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 93909ศาลฎีกาเห็นว่าเลขที่โฉนดผิดกันไปก็จริง แต่ต้นฉบับเอกสารนี้ผู้ร้องสอดส่งอ้างเป็นพยาน (หมาย ร.1 ร.2) มีนางเรืองยศเจ้าของที่ดินลงลายมือชื่อไว้ทุกฉบับแบบพิมพ์เขียวแสดงแบบแปลนแผนผังการก่อสร้างที่จำเลยยืนพร้อมคำขออนุญาตปลูกสร้างอาคาร (แบบท้ายฟ้องหมายเลข 2 และหมายเลข 4) แสดงขัดว่าที่ก่อสร้างอยู่ใกล้บ้านเลขที่ 104 ซึ่งเป็นบ้านของนางเรืองยศตลอดจนทางนำสืบของโจทก์และของผู้ร้องสอดรับกันอยู่ว่า ผู้ร้องสอดปลูกสร้างอาคารสืบต่อจากที่จำเลยลงเข็มและตั้งเสาไว้แล้วในบริเวณบ้านเลขที่ 104 ของนางเรืองยศ จึงไม่มีข้อสงสัยว่าจะพิพาทกันในการปลูกสร้างอาคารคนละหลัง หรือในที่ดินคนละแปลงกัน ศาลฎีกาฟังว่าอาคารที่ผู้ร้องสอดปลูกสร้างสืบต่อจากจำเลย ใช้เป็นร้านอาหารฟรีเวย์ 22 ในบริเวณบ้านเลขที่ 104 ของนางเรืองยศ ถนนพระรามที่ 6 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร คืออาคารที่พิพาทในคดีนี้ ทั้งนี้เพื่อความชัดเจนที่จะวินิจฉัยคดีต่อไป

ตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า จำเลยเริ่มปลูกสร้างอาคารรายพิพาทโดยลงเข็มและตั้งเสาโครงอาคารทั้งที่ไม่ได้รับอนุญาตความข้อนี้ผู้ร้องสอดมิได้นำสืบโต้แย้ง แม้เมื่อผู้ร้องสอดนำสืบก็ยอมรับว่า ได้ทราบในภายหลังว่าจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารรายนี้จริง ผู้ร้องสอดเองไม่เคยติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่เขตพญาไทเลย สรุปได้ว่าผู้ร้องสอดไม่ได้ขออนุญาตปลูกสร้างอาคารด้วยตนเองอีกด้วย การที่ผู้ร้องสอดอ้างว่าเข้าใจผิดคิดว่าจำเลยได้รับอนุญาตแล้วจึงดำเนินการปลูกสร้างอาคารต่อจากโครงและแบบแปลนแผนผังเดิมของจำเลย ไม่เป็นข้ออ้างที่จะใช้แก้ตัวให้ได้ ก่อสร้างอาคารโดยมิได้รับอนุญาต ภายหลังผู้ร้องสอดยื่นคำร้องขอผ่อนผันใช้อาคารรายพิพาทเป็นอาคารพาณิชย์ทางราชการก็มีคำสั่งไม่อนุญาตตามเอกสารหมาย ร.3 ร.4 การกระทำของผู้ร้องสอดจึงเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 142 พ.ศ. 2515 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น”

พิพากษายืน

Share