แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในกรณีที่ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางพิพากษาให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 อันเป็นบทหนักโดยจำคุก 5 ปี แต่ให้เปลี่ยนโทษจำคุกโดยให้ส่งตัวไปฝึกอบรม ณ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลาง มีกำหนดขั้นต่ำ 2 ปีขั้นสูง 3 ปีแต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าความผิดจำเลยปรับด้วยมาตรา 288 ประกอบมาตรา 81 และให้มอบตัวจำเลยแก่บิดามารดา โดยวางข้อกำหนดให้ระวังจำเลยมิให้ก่อเหตุร้าย มิฉะนั้นต้องชำระเงินหนึ่งพันบาทต่อการที่จำเลยก่อเหตุร้ายแต่ละครั้ง และให้จำเลยมารายงานตัวต่อสถานพินิจและคุ้มครองเด็กทุก 6 เดือนนั้น การที่ศาลอุทธรณ์แก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นทั้งบทลงโทษและวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแก่จำเลยเช่นนี้ ถือว่าเป็นการแก้ไขมาก แต่เนื่องจากศาลทั้งสองได้เปลี่ยนแปลงโทษจำคุกเป็นอย่างอื่น ซึ่งถือว่าศาลทั้งสองมิได้พิพากษาจำคุกเกิน 1 ปี หรือปรับเกินพันบาทกรณีจึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางในข้อหามีอาวุธปืนพกและกระสุนไว้ในครอบครองโดยไม่รับอนุญาตและพาไปในที่สาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร และได้ใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงผู้เสียหายโดยเจตนาฆ่า หากแต่ผู้เสียหายไม่ตายสมเจตนาของจำเลย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 731, 91
จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหามีอาวุธปืนและพาไปในที่สาธารณะ แต่ปฏิเสธข้อหาพยายามฆ่า
ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 แต่ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 ซึ่งเป็นกระทงหนัก ให้จำคุก 10 ปี ตามมาตรา 91 ลดมาตราส่วนโทษตามมาตรา 75 ลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุกไว้ 5 ปี ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นให้ส่งตัวไปฝึกอบรมในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลาง มีกำหนดขั้นต่ำ 2 ปี ขั้นสูง 3 ปี ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 มาตรา 31, 123, 32
จำเลยอุทธรณ์เฉพาะความผิดข้อหาพยายามฆ่า
ศาลอุทธรณ์พิจารณาว่า อาวุธปืนที่จำเลยใช้ยิงไม่อาจทำให้ถึงตายได้ แม้จะถูกอวัยวะสำคัญของร่างกายก็ตาม กรณีปรับด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 81 พิพากษาแก้ว่าจำเลยกระทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 280, 81 จำเลยมีอายุถึงวันกระทำผิด 15 ปี 6 เดือนเศษ ให้มอบตัวจำเลยแก่บิดามารดาโดยวางข้อกฎหมายแก่บิดามารดามิให้จำเลยก่อเหตุร้ายภายใน 2 ปี มิฉะนั้นต้องชำระเงินต่อศาลต่อการก่อเหตุร้ายขึ้นครั้งละหนึ่งพันบาท ให้จำเลยมารายงานตัวต่อสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลาง 6 เดือนต่อครั้งตลอดเวลา 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74, 75 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นทั้งบทลงโทษและการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแก่จำเลย เป็นการแก้ไขมากตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยให้ส่งตัวไปฝึกและอบรมในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลาง มีกำหนดขั้นต่ำ 2 ปี ขั้นสูง 3 ปี และตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้มอบตัวจำเลยแก่บิดามารดาโดยวางข้อกำหนดให้บิดามารดาของจำเลยระวัง จำเลยไม่ให้ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาสองปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74, 75 นั้น ถือได้ว่าศาลเดิมและศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาให้ลงโทษโดยจำคุกเกินหนึ่งปีหรือปรับเกินพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 มาตรา 29 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 และฎีกาโจทก์ร่วมซึ่งขอให้เปลี่ยนแปลงดุลพินิจศาลอุทธรณ์โดยให้ส่งจำเลยไปฝึกและอบรมในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลางตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามให้ยกฎีกาโจทก์ร่วม