คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 484/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สิทธิที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามสัญญาเช่าซื้อ มิใช่สิทธิเฉพาะตัว ดังนั้น สัญญาเช่าซื้อจึงอาจสืบสิทธิกันได้ การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายซึ่งค้างชำระค่าเช่าซื้อ ได้ชำระค่าเช่าซื้อส่วนที่ค้างชำระแล้วจดทะเบียนโอนรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องโดยไม่สุจริต เป็นเหตุให้โจทก์และบรรดาเจ้าหนี้คนอื่น ๆ ของผู้ตายเสียเปรียบ ดังนี้เพิกถอนนิติกรรมการโอนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยหลายรายการขายทอดตลาดแล้ว ไม่พอชำระหนี้จึงยึดรถยนต์บรรทุกคันพิพาท เพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ต่อไป
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า รถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวเป็นของผู้ร้องซื้อมาโดยสุจริตและเปิดเผย ขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด
โจทก์ให้การว่าผู้ร้องไม่ให้เจ้าของกรรมสิทธิ์ รถยนต์เป็นของจำเลย จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจัดการทรัพย์สินของผู้ตายไปในทางฉ้อฉลเพื่อไม่ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ปล่อยทรัพย์รถยนต์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิยึดรถยนต์บรรทุกคันพิพาทหรือไม่ เห็นว่า แม้ในขณะที่นายวิเชียรถึงแก่กรรม กรรมสิทธิ์ในรถยนต์บรรทุกคันพิพาทยังเป็นของบริษัทสยามเครดิตลิชซิ่ง จำกัด อยู่ แต่นายวิเชียรก็เป็นผู้มีสิทธิในสัญญาเช่าซื้อเพราะนายวิเชียรได้เป็นผู้เช่าซื้อและชำระเงินค่าเช่าซื้อตามเงื่อนไขในสัญญา สัญญาเช่าซื้อมิใช่เป็นสัญญาเช่าธรรมดาซึ่งถือเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เช่า แต่มีคำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินโดยมีเงื่อนไขการชำระเงินกันเป็นคราว ๆ รวมอยู่ด้วยถ้าผู้เช่าซื้อชำระเงินแก่ผู้ให้เช่าซื้อครบถ้วนตามเงื่อนไขก็ได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น ซึ่งสิทธิที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นมิใช่สิทธิเฉพาะตัว สัญญาเช่าซื้อจึงมีผลที่อาจสืบสิทธิกันได้ ดังนี้เมื่อนายวิเชียรผู้เช่าซื้อตาย ทายาทนายวิเชียรจึงสืบสิทธิของนายวิเชียรได้ จำเลยซึ่งเป็นบิดานายวิเชียรและผู้จัดการมรดกของนายวิเชียรได้ชำระเงินครบถ้วนตามเงื่อนไขในสัญญาเช่าซื้อ รถยนต์บรรทุกคันพิพาทจึงเป็นทรัพย์มรดกของนายวิเชียรผู้ตาย ผู้ร้องและนายวิเชียรผู้ตายต่างเป็นบุตรของจำเลย ผู้ร้องนำสืบรับว่าผู้ตายได้เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกคันพิพาทมาในราคา 500,000 บาทเศษ และค้างชำระอีกประมาณ 100,000 บาทผู้ตายเป็นหนี้โจทก์และบุคคลอื่นอีกมาก การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายชำระค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลือแล้วจดทะเบียนโอนรถยนต์คันดังกล่าวให้กับผู้ร้องย่อมเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต เป็นเหตุให้โจทก์และบรรดาเจ้าหนี้คนอื่น ๆ ของผู้ตายเสียเปรียบ ซึ่งศาลมีอำนาจเพิกถอนนิติกรรมการโอนรายนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลย ทั้งในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจึงมีสิทธิยึดรถยนต์บรรทุกคันพิพาทเอาชำระหนี้โจทก์ได้…”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share