คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5325/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องควบคุมการค้าซึ่งเป็นที่รังเกียจหรืออาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพ(ฉบับที่2)พ.ศ.2526ข้อ4(107)ระบุไว้ว่าการซักรีดอัดกลีบกัดสีผ้าโดยใช้เครื่องจักรเป็นการค้าซึ่งเป็นที่รังเกียจหรืออาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพการอัดกลีบตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าวหมายถึงการอัดกลีบผ้าหรือสิ่งอื่นใดเพื่อให้เป็นจีบหรือเป็นกลีบแม้การอัดกลีบแล้วผ้าที่ได้อัดกลีบนั้นจะเปลี่ยนสภาพจากผ้าที่ใช้สอยเป็นสิ่งประดิษฐ์อย่างอื่นด้วยเช่นประดิษฐ์เป็นกลีบดอกไม้หรือใบไม้ถ้าหากเป็นการอัดกลีบโดยใช้เครื่องจักรแล้วก็ถือได้ว่าเป็นการค้าซึ่งเป็นที่รังเกียจหรืออาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2533 ถึงวันที่ 12 พฤษภาคม2534 จำเลยประกอบการค้าอัดกลีบ (ผ้า) โดยใช้เครื่องจักรเพื่อประดิษฐ์เป็นดอกไม้ผ้า โดยใช้เครื่องจักรปั๊มและอัดกลีบผ้าอันเป็นการค้าซึ่งเป็นที่รังเกียจหรือเป็นอันตรายแก่สุขภาพจนก่อให้เกิดการสั่นสะเทือนและเสียงดังก่อเหตุรำคาญแก่ผู้อาศัยใกล้เคียงโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2534 เวลากลางวัน เจ้าพนักงานท้องถิ่นสำนักงานเขตพระโขนง มีคำสั่งเป็นหนังสือแจ้งไปยังจำเลยให้ระงับการประกอบการค้าดังกล่าว ซึ่งก่อให้เกิดการสั่นสะเทือนและเสียงดังรำคาญและจำเลยได้ทราบคำสั่งแล้ว จำเลยได้ฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าวโดยไม่หยุดประกอบการค้าดังกล่าวตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสาธารณสุข พ.ศ. 2484มาตรา 19, 20, 23, 68, 74 วรรคสอง ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่อง ควบคุมการค้าซึ่งเป็นที่รังเกียจหรืออาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพ(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2526 ข้อ 4(107) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ให้จำเลยหยุดประกอบกิจการดังกล่าว และห้ามจำเลยก่อเหตุรำคาญนั้นขึ้นอีกต่อไป
จำเลย ให้การ ปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติสาธารณสุข พ.ศ. 2484 มาตรา 19, 20, 23, 68,74 วรรคสอง ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการค้าซึ่งเป็นที่รังเกียจหรืออาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2526ข้อ 4(107) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษ ฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 20 ปรับ 50 บาท รวมปรับ 150 บาท และห้ามจำเลยมิให้ประกอบการค้าดังกล่าวจนกว่าจะได้รับใบอนุญาตกับห้ามจำเลยมิให้ก่อเหตุรำคาญนั้นขึ้นอีก ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยในความผิดฐานประกอบการค้าซึ่งกำหนดให้ควบคุมโดยมิได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 68 แห่งพระราชบัญญัติสาธารณสุข พ.ศ. 2484 ประกอบข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการค้าซึ่งเป็นที่รังเกียจหรืออาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2526 ข้อ 4(107) นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาว่า การที่จำเลยอัดกลีบผ้าเพื่อประดิษฐ์เป็นดอกไม้เทียมโดยใช้เครื่องจักรเป็นการค้าซึ่งเป็นที่รังเกียจหรืออาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพหรือไม่ เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการค้าซึ่งเป็นที่รังเกียจหรืออาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพ (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2526 ข้อ 4(107) ระบุไว้ว่า การซักรีด อัดกลีบ กัดสีผ้าโดยใช้เครื่องจักร เป็นการค้าซึ่งเป็นที่รังเกียจหรืออาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพ สำหรับกรณีของจำเลยเป็นการอัดกลีบผ้าเพื่อประดิษฐ์เป็นดอกไม้เทียมโดยใช้เครื่องจักร เห็นว่า การอัดกลีบตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าวหมายถึงการอัดกลีบผ้าหรือสิ่งอื่นใดเพื่อให้เป็นจีบหรือเป็นกลีบ แม้การอัดกลีบแล้วผ้าที่ได้อัดกลีบนั้นจะเปลี่ยนสภาพจากผ้าที่ใช้สอยเป็นสิ่งประดิษฐ์อย่างอื่นด้วย เช่น ประดิษฐ์เป็นกลีบดอกไม้หรือใบไม้ดังเช่นที่จำเลยกระทำ ถ้าหากเป็นการอัดกลีบโดยใช้เครื่องจักรแล้วก็ถือได้ว่าเป็นการค้าซึ่งเป็นที่รังเกียจหรืออาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพแล้วการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้องดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานประกอบการค้าซึ่งกำหนดให้ควบคุมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share