แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การควบบริษัทจำกัดเข้ากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1243มีผลให้บริษัทใหม่ได้ไปทั้งสิทธิและความรับผิดบรรดามีอยู่แก่บริษัทเดิมอันได้มาควบเข้ากันเท่านั้น แต่การควบบริษัทจำกัดเข้ากัน มิใช่เป็นเรื่องการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ทั้งการควบบริษัทจำกัดเข้ากันประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1240ก็บัญญัติเฉพาะแต่เจ้าหนี้ของบริษัทเท่านั้นที่บริษัทจะต้องบอกกล่าวให้ทราบและให้โอกาสคัดค้านการควบบริษัท แต่ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดบังคับว่าจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้เป็นลูกหนี้
ย่อยาว
โจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 1,676,205.48บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าว นำออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบ หากขายได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่นำออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะการที่โจทก์ควบกิจการของบริษัทหลายบริษัทเข้าด้วยกันนั้น โจทก์ไม่ได้ทำเป็นหนังสือบอกกล่าวการโอนหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสี่ให้เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ทราบ เนื่องจากจำเลยทั้งสี่เป็นลูกหนี้ของบริษัทเงินทุนไฟแน้นเชี่ยลทรัสต์ จำกัด กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนานันต์ จำกัดจำเลยทั้งสี่จึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยที่ค้างชำระตามอัตราในรายละเอียดเกี่ยวกับการคำนวณดอกเบี้ย เอกสารหมาย จ.27 ย้อนหลังไป 5 ปี นับแต่วันฟ้องกับให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 1,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 9166 และ 23072 ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดจนครบ
โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน จำนวน1,561,712.32 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 1,000,000 บาทตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2538 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากโจทก์จะบังคับจำนอง ให้บังคับจำนองเพื่อชำระในส่วนของดอกเบี้ยที่ค้างชำระตามอัตราในรายละเอียดเกี่ยวกับการคำนวณดอกเบี้ยเอกสารหมาย จ.27 ย้อนหลังไป 5 ปี นับแต่วันฟ้องนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมโจทก์มีชื่อว่า บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ธนานันต์จำกัด ตั้งขึ้นจากการควบบริษัทเงินทุนไฟแน้นเชี่ยลทรัสต์ จำกัด กับบริษัทจำกัดอีก5 บริษัทเข้ากันแล้วต่อมาจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทโจทก์ในปัจจุบัน จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้โจทก์ตามสัญญาขายลดเช็คจำนวนเงิน 1,000,000 บาทเศษ โดยมีจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ดังกล่าว โดยทำสัญญาขณะโจทก์ยังเป็นบริษัทเงินทุนไฟแน้นเชี่ยลทรัสต์จำกัด และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนานันต์ จำกัด และขณะนำเช็คพิพาทมาขายลดนั้นโจทก์ใช้ชื่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ธนานันต์ จำกัด
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เพียงประการเดียวว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การควบบริษัทจำกัดเข้ากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1243 มีผลให้บริษัทใหม่ได้ไปทั้งสิทธิและความรับผิดบรรดามีอยู่แก่บริษัทเดิมอันได้มาควบเข้ากันเท่านั้น แต่การควบบริษัทจำกัดเข้ากัน มิใช่เป็นเรื่องการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ซึ่งต้องบังคับตามบทบัญญัติเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 และมาตรา 306 ดังที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อ้าง เพราะเป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่ต่างลักษณะไม่เกี่ยวข้องกัน โจทก์หาจำต้องทำหนังสือหรือสัญญาใด ๆ ตามบทบัญญัติดังกล่าวไม่ ทั้งการควบบริษัทจำกัดเข้ากันของโจทก์นั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1240ก็บัญญัติเฉพาะแต่เจ้าหนี้ของบริษัทเท่านั้น ที่บริษัทจะต้องบอกกล่าวให้ทราบและให้โอกาสคัดค้านการควบบริษัท แต่ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดบังคับว่าจะต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ กรณีไม่มีเหตุทำให้นิติสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายระงับลงโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
พิพากษายืน