แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บทบัญญัติตามมาตรา 17 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มีเจตนารมณ์เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและความเข้าใจอันดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้างโดยให้นายจ้างแสดงเหตุผลในการเลิกสัญญาจ้าง เพื่อให้ลูกจ้างพิจารณาว่าสมควรที่จะเรียกร้องค่าชดเชยและสิทธิประโยชน์อื่นอันเนื่องมาจากการเลิกสัญญาจ้างนั้นหรือไม่เพียงใด ดังนั้น การบอกเลิกสัญญาจ้างไม่ว่าจะกระทำเป็นหนังสือหรือกระทำด้วยวาจา นายจ้างก็ต้องระบุเหตุผลในการเลิกสัญญาจ้างให้ลูกจ้างทราบ โดยหากกระทำเป็นหนังสือ ก็ต้องระบุเหตุผลไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง แต่หากกระทำด้วยวาจา ก็ต้องระบุเหตุผลไว้ในขณะที่บอกเลิกสัญญาจ้างนั้น คดีนี้จำเลยบอกเลิกสัญญาจ้างโจทก์ด้วยวาจา แต่มิได้ระบุหรือแจ้งเหตุผลในการบอกเลิกจ้างไว้ในขณะที่บอกเลิกสัญญาจ้าง จำเลยจึงไม่อาจยกเหตุตามมาตรา 119 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยขึ้นอ้างภายหลังได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยวาจาโดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดทำให้โจทก์เสียหาย เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย ๙๗,๐๙๕ บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๕๓,๙๔๑.๖๖ บาท ค่าจ้างค้างจ่าย ๑๑,๘๖๗.๑๖ บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ๒,๖๙๗.๐๘ บาท ค่าเสียหาย ๓๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า เพราะโจทก์ทำผิดพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ และฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงคือ วันที่ ๗ ถึง ๙ สิงหาคม ๒๕๔๔ โจทก์หยุดงานเป็นเวลา ๓ วันติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร ทั้งยังแจ้งเท็จและแสดงหลักฐานเท็จต่อนายวิงเชิงชานผู้บังคับบัญชาของโจทก์ว่าโจทก์ป่วย โดยนำใบเสร็จรับเงินค่ายาที่โจทก์ต้องการเบิกจากจำเลยมาแสดงและอ้างเป็นใบรับรองแพทย์ให้หยุดงานเป็นเวลา ๓ วัน ทำให้นายวิงเชิงชานซึ่งเป็นชาวต่างชาติและอ่านภาษาไทยไม่ออกหลงเชื่อว่าเป็นจริง จึงอนุมัติการลา ซึ่งความจริงโจทก์มิได้ป่วยตามที่กล่าวอ้าง การกระทำของโจทก์จึงเป็นการทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาต่อนายจ้าง เป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายและละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้เงินค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่ายระหว่างวันที่ ๑ ถึง ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๔ โจทก์มีสิทธิได้รับเพียง ๑๐,๐๘๓ บาท เท่านั้น มิใช่ตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ๘๒,๕๐๐ บาท ค่าจ้างค้างจ่าย ๑๐,๐๘๓ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๔๔ (วันฟ้อง) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ คำขอนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า… คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ศาลแรงงานกลางสั่งรับมาเพียงข้อเดียวโดยจำเลยอุทธรณ์ว่า ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยวาจา ไม่ได้ทำเป็นหนังสือ และไม่มีการอ้างเหตุผลในการเลิกจ้างว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา ๓ วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยจึงยกเหตุตามมาตรา ๑๑๙ (๕) ที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยขึ้นอ้างไม่ได้นั้น จำเลยไม่เห็นพ้องด้วย เห็นว่า บทบัญญัติตามมาตรา ๑๗ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ ที่ระบุว่า “ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง นายจ้างจะยกเหตุตามมาตรา ๑๑๙ ขึ้นอ้างภายหลังไม่ได้” นั้น เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและความเข้าใจอันดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้างโดยให้นายจ้างแสดงเหตุผลในการเลิกสัญญาจ้างให้ลูกจ้างทราบว่า ลูกจ้างนั้นถูกเลิกจ้างด้วยเหตุผลใด ซึ่งลูกจ้างอาจพิจารณาต่อไปได้ว่า เหตุผลดังกล่าวเป็นจริงหรือไม่ ลูกจ้างสมควรที่จะเรียกร้องค่าชดเชยและสิทธิประโยชน์อื่นอันเนื่องมาจากการเลิกสัญญาจ้างนั้นหรือไม่เพียงใด ดังนั้น ตามนัยแห่งบทกฎหมายดังกล่าว การบอกเลิกสัญญาจ้างไม่ว่าจะกระทำเป็นหนังสือหรือกระทำด้วยวาจา นายจ้างก็ต้องระบุเหตุผลในการเลิกสัญญาจ้างให้ลูกจ้างทราบโดยหากกระทำเป็นหนังสือ ก็ต้องระบุเหตุผลไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง แต่หากกระทำด้วยวาจา ก็ต้องระบุเหตุผลไว้ในขณะที่บอกเลิกสัญญาจ้างนั้น เมื่อปรากฏว่าจำเลยบอกเลิกสัญญาจ้างโจทก์ด้วยวาจาแต่มิได้ระบุหรือแจ้งเหตุผลในการบอกเลิกจ้างไว้ในขณะที่บอกเลิกสัญญาจ้าง จำเลยจึงไม่อาจยกเหตุตามมาตรา ๑๑๙ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ ขึ้นอ้างภายหลังได้ อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.
นายฉลาด คำทองสุก ผู้ช่วยฯ
นายเจษฎา ชุมเปีย ย่อ
นายไพโรจน์ โรจน์อภิรักษ์กุล ตรวจ
นายไมตรี ศรีอรุณ ผู้ช่วยฯ/ตรวจ