แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า พิเคราะห์แล้ว ปรากฎว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ และ ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งยืน คำสั่งศาลอุทธรณ์เป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 236 จึงไม่รับฎีกา โจทก์เห็นว่า โจทก์ไม่มีเจตนาที่จะไม่ยื่นอุทธรณ์ภายใน กำหนดที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลา แต่เนื่องจาก ทนายโจทก์และโจทก์หลงผิดดูตัวเลขวันที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยาย ระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 14 มกราคม 2537 เป็นวันที่ 24 มกราคม 2537 ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของโจทก์ ไว้พิจารณาต่อไป หมายเหตุ จำเลยทั้งสองยังไม่ได้รับสำเนาคำร้อง โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพราะจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดเป็นเหตุให้สามีโจทก์ถึงแก่ความตายในทางการงานที่จ้างของจำเลยที่ 2 เป็นเงินจำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ เจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่า จะชำระเสร็จแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 14 มกราคม 2537 โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์วันที่ 24 มกราคม 2537 พร้อมคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถา และอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์ว่า ที่โจทก์อ้างว่า ทนายโจทก์และโจทก์หลงผิดดูตัวเลขที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 14 มกราคม 2537 เป็นวันที่ 24 มกราคม 2537 นั้น ไม่น่าเชื่อเพราะปรากฎว่า ศาลชั้นต้นเขียนเลข 14 ไว้ในคำสั่งอย่างชัดเจน ไม่มีทางที่จะ มองเป็นเลข 24 ไปได้ จึงไม่มีเหตุที่จะอนุญาตให้ยื่นอุทธรณ์ ได้ ให้ยกคำร้อง และสั่งคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาว่า ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ยื่นอุทธรณ์ จึงยกคำร้อง และสั่ง อุทธรณ์ว่า ศาลไม่อนุญาตให้ยื่นอุทธรณ์ จึงไม่รับอุทธรณ์ (อันดับ 70,71 แผ่นที่ 1 ที่ 3 และแผ่นที่ 5) โจทก์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์และคำร้องอุทธรณ์คำสั่งอย่างคนอนาถา ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า โจทก์ยื่นคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาพร้อมอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นจะต้อง ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 วรรคสาม การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ก่อนมีคำสั่ง คำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาเป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา จึงให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้น ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 วรรคสาม แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี (อันดับ 84) ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถา คู่ความไม่มาศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์ไม่มีพยานมาสืบ เห็นควรให้งดการไต่สวนคำร้อง ขออนาถาหากโจทก์ประสงค์จะยื่นอุทธรณ์ ให้นำค่าขึ้นศาลมาวางศาล ภายในวันที่ 2 กันยายน 2537 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลา วางเงินค่าขึ้นศาลหลายครั้ง ต่อมาได้นำเงินค่าขึ้นศาลมาชำระ ศาลชั้นต้นสั่งอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์ยื่นอุทธรณ์เลยกำหนด ระยะเวลาอุทธรณ์ และศาลไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ จึงไม่รับอุทธรณ์ คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมด (อันดับ 88,90,91,92,93) โจทก์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า พิเคราะห์แล้ว การขยายระยะเวลาอุทธรณ์จะต้องยื่นก่อนพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ แต่โจทก์มาขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เมื่อสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์แล้วโดยอ้างเหตุดูวันที่ผิด มิใช่กรณีเหตุสุดวิสัยที่จะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้และอุทธรณ์ของ โจทก์ยื่นต่อศาลชั้นต้นพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว จึงไม่มี เหตุที่จะรับอุทธรณ์ของโจทก์ได้ ให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ (อันดับ 94,102) โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว(อันดับ 103) โจทก์จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 104)
คำสั่ง การที่ศาลชั้นต้นปฏิเสธไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำสั่งดังกล่าวโดยให้ยกคำร้องของโจทก์ ก็โดยเหตุที่จำเลยยื่นอุทธรณ์ล่วงเลยกำหนดเวลาที่ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาได้ อุทธรณ์ของโจทก์ไม่ชอบ ด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 นั้น มิใช่ คำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ด้วยเนื้อหาในอุทธรณ์ของโจทก์อันจะเป็นคำสั่งซึ่งเป็นที่สุด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 236 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิฎีกาได้ ให้รับฎีกาของโจทก์ไว้ดำเนินการต่อไป