แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 วรรคสาม การบอกเลิกสัญญาจ้างไม่ว่าจะกระทำเป็นหนังสือหรือกระทำด้วยวาจา นายจ้างต้องระบุเหตุผลในการเลิกสัญญาจ้างให้ลูกจ้างทราบ หากทำเป็นหนังสือก็ต้องระบุเหตุผลไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง แต่หากทำด้วยวาจาก็ต้องระบุเหตุผลไว้ในขณะที่บอกเลิกสัญญาจ้างนั้น เมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญาจ้างโจทก์ด้วยวาจาแต่มิได้ระบุหรือแจ้งเหตุผลในการบอกเลิกสัญญาจ้างไว้ในขณะที่บอกเลิกสัญญาจ้าง จำเลยจึงไม่อาจยกเหตุโจทก์ทำผิดพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ ตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างภายหลังได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยวาจาโดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด ทำให้โจทก์เสียหาย เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง โจทก์ขอเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 300,000 บาท จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 97,095 บาท และ 53,941.66บาท ตามลำดับ จำเลยยังค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ระหว่างวันที่ 1 ถึง 11 สิงหาคม 2544เป็นเงิน 11,867.16 บาท โจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีในปี 2544 อีก 2.5 วัน จึงมีสิทธิได้ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเงิน 2,697.08 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 97,095 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 53,941.66 บาท ค่าจ้างค้างจ่าย 11,867.16 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2,697.08 บาท ค่าเสียหาย 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ทำผิดพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาตรา 119 และฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงคือ วันที่7 ถึง 9 สิงหาคม 2544 โจทก์หยุดงานเป็นเวลา 3 วันติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรเพื่อไปทำการอบรมสัมมนาซึ่งสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรีร่วมกับสภาอุตสาหกรรม จังหวัดปราจีนบุรี เป็นผู้จัด โดยมิได้บอกกล่าวและมิได้รับอนุญาตจากจำเลยก่อน ทั้งยังแจ้งเท็จและแสดงหลักฐานเท็จต่อนายวิงเชิงชานผู้บังคับบัญชาของโจทก์ว่าโจทก์ป่วยโดยนำใบเสร็จรับเงินค่ายาที่โจทก์ต้องการเบิกจากจำเลยมาแสดงและอ้างเป็นใบรับรองแพทย์ให้หยุดงานเป็นเวลา 3 วัน ทำให้นายวิงเชิงชานซึ่งเป็นชาวต่างชาติและอ่านภาษาไทยไม่ออก หลงเชื่อว่าเป็นจริง จึงอนุมัติการลา ซึ่งความจริงโจทก์มิได้ป่วยตามที่กล่าวอ้าง แต่เป็นการหยุดงานไปเพื่ออบรมสัมนาดังกล่าว การกระทำของโจทก์จึงเป็นการทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาต่อนายจ้างเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายและละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้เงินค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างจ่ายระหว่างวันที่ 1 ถึง 11 สิงหาคม 2544 โจทก์มีสิทธิได้รับเพียง 10,083 บาท เท่านั้นมิใช่ตามฟ้อง เงินค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเพราะจำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์กระทำผิด โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจำนวน 300,000บาท ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์มิได้แสดงให้เห็นว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นธรรมอย่างไร เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ หรือเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ ทำให้จำเลยหลงต่อสู้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 82,500 บาท ค่าจ้างค้างจ่าย10,083 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2544(วันฟ้อง) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ คำขอนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ศาลแรงงานกลางสั่งรับมาเพียงข้อเดียวโดยจำเลยอุทธรณ์ว่า ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยวาจา ไม่ได้ทำเป็นหนังสือ และไม่มีการอ้างเหตุผลในการเลิกจ้างว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยจึงยกเหตุตามมาตรา 119(5) ที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยขึ้นอ้างไม่ได้นั้น จำเลยไม่เห็นพ้องด้วยเนื่องจากกรณีตามคดีนี้เป็นเรื่องการเลิกจ้างด้วยวาจา เป็นการเลิกจ้างตามมาตรา 119แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติให้การเลิกจ้างต้องระบุเหตุผลการเลิกจ้างในการเลิกจ้างด้วยวาจา กรณีตามคดีนี้ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตามมาตรา 17 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จำเลยไม่จำต้องระบุเหตุผลในการเลิกจ้างในการบอกเลิกจ้างด้วยวาจา จำเลยจึงอ้างเหตุตามมาตรา 119(1)(2)(5)ขึ้นอ้างได้นั้น เห็นว่า บทบัญญัติตามมาตรา 17 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่ระบุว่า “ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้างถ้านายจ้างไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง นายจ้างจะยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างภายหลังไม่ได้” นั้น เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและความเข้าใจอันดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้างโดยให้นายจ้างแสดงเหตุผลในการเลิกสัญญาจ้างให้ลูกจ้างทราบว่า ลูกจ้างนั้นถูกจ้างด้วยเหตุผลใด ซึ่งลูกจ้างอาจพิจารณาต่อไปได้ว่า เหตุผลดังกล่าวเป็นจริงหรือไม่ ลูกจ้างสมควรที่จะเรียกร้องค่าชดเชยและสิทธิประโยชน์อื่นอันเนื่องมาจากการเลิกสัญญาจ้างนั้นหรือไม่เพียงใด ดังนั้นตามนัยแห่งบทกฎหมายดังกล่าวการบอกเลิกสัญญาจ้างไม่ว่าจะกระทำเป็นหนังสือหรือกระทำด้วยวาจา นายจ้างก็ต้องระบุเหตุผลในการเลิกสัญญาจ้างให้ลูกจ้างทราบ โดยหากกระทำเป็นหนังสือก็ต้องระบุเหตุผลไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง แต่หากกระทำด้วยวาจาก็ต้องระบุเหตุผลไว้ในขณะที่บอกเลิกสัญญาจ้างนั้น เมื่อปรากฏว่าจำเลยบอกเลิกสัญญาจ้างโจทก์ด้วยวาจาแต่มิได้ระบุหรือแจ้งเหตุผลในการบอกเลิกจ้างไว้ในขณะที่บอกเลิกสัญญาจ้าง จำเลยจึงไม่อาจยกเหตุตามมาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ขึ้นอ้างภายหลังได้ อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน