แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด ๓ เดือนและปรับ ๑,๕๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ ๒ ปี คุมประพฤติ๑ ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ ๓ เดือนต่อครั้งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ จำเลยไม่ไปรายงานตัวตามกำหนดศาลชั้นต้นยกเลิกการคุมประพฤติและเปลี่ยนโทษจากการรอการลงโทษจำคุกเป็นไม่รอการลงโทษ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษาแล้วคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ย่อมเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติวิธีดำเนินการคุมประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๒๒มาตรา๑๗ วรรคสอง จำเลยจะฎีกาไม่ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยฐานมีฝิ่นสุกจำนวน ๘ ห่อ น้ำหนัก ๐.๔๕ กรัม ไว้ในครอบครองตามพระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๕, ๖, ๗, ๘,๑๗, ๖๙ จำคุก ๖ เดือน และปรับ ๓,๐๐๐ บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๘ คงจำคุก ๓ เดือน และปรับ ๑,๕๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ ๒ ปี ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙, ๓๐ คุมประพฤติ ๑ ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก ๓ เดือนต่อครั้ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๕๖ ต่อมาพนักงานคุมประพฤติรายงานว่าจำเลยไม่ไปรายงานตัวตามกำหนด และจำเลยแถลงรับต่อศาลชั้นต้นว่าก่อนถูกจับกุมในคดีนี้จำเลยเคยถูกจับกุมเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษรวม ๓ คดี ซึ่งแต่ละคดีศาลชั้นต้นรอการลงโทษและให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้ทั้ง ๓ คดี
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า วิธีการคุมประพฤติไม่เหมาะสมและใช้ไม่ได้ผลแก่จำเลย จึงให้ยกเลิกการคุมประพฤติและเปลี่ยนจากการรอลงโทษจำคุกจำเลยเป็นไม่รอการลงโทษ
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษายืน
จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด ๓ เดือน และปรับ ๑,๕๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้๒ ปี คุมประพฤติ ๑ ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ๓ เดือนต่อครั้งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ จำเลยไม่ไปรายงานตัวตามกำหนด ศาลชั้นต้นเห็นว่า วิธีคุมประพฤติไม่เหมาะสมและใช้ไม่ได้ผลแก่จำเลย จึงให้ยกเลิกการคุมประพฤติและเปลี่ยนโทษจากการรอการลงโทษจำคุกเป็นไม่รอการลงโทษ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค ๓ มีคำพิพากษาแล้วคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ย่อมเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติวิธีดำเนินการคุมประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๗จำเลยจะฎีกาไม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยมาจึงไม่ชอบศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้
พิพากษายกฎีกาจำเลย