แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 กับบริษัทต่างประเทศ คือบริษัท พ. และบริษัท ล. ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยใช้ชื่อประกอบการว่า “กิจการร่วมค้า พ. และบริษัท พ. /บริษัท ล.” และเข้าทำสัญญากับกรุงเทพมหานคร จากข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมเห็นได้ว่า “กิจการร่วมค้า พ. และบริษัท พ. /บริษัท ล.” ก็คือห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลซึ่งจำเลยที่ 1 กับบริษัทต่างประเทศอีกสองบริษัทดังกล่าวร่วมกันกระทำในประเทศไทยนั่นเอง แม้หลังจากกิจการร่วมค้าฯ ดำเนินการไปได้ระยะหนึ่ง จำเลยที่ 1 จะโอนสัดส่วนการลงทุนทั้งหมดในกิจการร่วมค้าฯ ให้แก่จำเลยที่ 2 แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่กิจการร่วมค้าฯ ทำสัญญากับกรุงเทพมหานครและยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจนกระทั่งเลิกกิจการ มีการใช้ชื่อของจำเลยที่ 1 เป็นชื่อกิจการร่วมค้าฯ มาโดยตลอด โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกิจการร่วมค้าฯ ย่อมต้องทราบเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น กลับไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นการไม่ยินยอมหรือคัดค้านการใช้ชื่อของจำเลยที่ 1 เป็นชื่อกิจการร่วมค้าฯ และเหตุในการประเมินภาษีคดีนี้เนื่องจากการกิจการร่วมค้าฯ มิได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มในช่วงระยะเวลาที่มีการใช้ชื่อของจำเลยที่ 1 เป็นชื่อกิจการร่วมค้าฯ ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกในบรรดาหนี้ของกิจการร่วมค้าฯ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1054
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างให้แก่โจทก์ 251,699,348.81 บาท
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ภาษีอากรค้างรวม 251,699,348.81 บาท แก่โจทก์และให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด บริษัทเพท เอ็นจิเนียส์ อิงค์ และบริษัทล็อควูด แอนดรูส์ แอนด์ นิวแนม อิงค์ เป็นบริษัทตามกฎหมายประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งอยู่ที่เมืองฮุสตัน มลรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา จำเลยที่ 1 บริษัทเพท เอ็นจิเนียส์ อิงค์ และบริษัทล็อควูด แอนดรูส์ แอนด์ นิวแนม อิงค์ ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร โดยใช้ชื่อประกอบการว่า กิจการร่วมค้า พรีเมียร์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเพท เอ็นจิเนียส์ อิงค์/บริษัทล็อควูด แอนดรูส์ แอนด์ นิวแนม อิงค์ มีการถือหุ้นระหว่าง จำเลยที่ 1 บริษัทเพท เอ็นจิเนียส์ อิงค์ และบริษัทล็อควูด แอนดรูส์ แอนด์ นิวแนม อิงค์ ในสัดส่วนร้อยละ 99 : 0.5 : 0.5 ตามลำดับ และมีนายมานะ เป็นผู้จัดการของกิจการร่วมค้า กิจการร่วมค้า พรีเมียร์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเพท เอ็นจิเนียส์ อิงค์/บริษัทล็อควูด แอนดรูส์ แอนด์ นิวแนม อิงค์ ทำสัญญากับกรุงเทพมหานคร โดยมีหน้าที่ออกแบบ จัดหาอุปกรณ์ ก่อสร้าง ทดสอบแก้ไขความชำรุดบกพร่องของงาน ฝึกอบรม และบำรุงรักษาโครงการบำบัดน้ำเสียกรุงเทพมหานครแบบเหมารวมเบ็ดเสร็จช่วงหนองแขม ภาษีเจริญ และราษฎร์บูรณะ มูลค่าสัญญา 4,799,999,105 บาท หลังจากกิจการร่วมค้า พรีเมียร์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเพท เอ็นจิเนียส์ อิงค์/บริษัทล็อควูด แอนดรูส์ แอนด์ นิวแนม อิงค์ ดำเนินการไปได้ระยะหนึ่ง จำเลยที่ 1 โอนสัดส่วนการลงทุนทั้งหมดในกิจการร่วมค้า พรีเมียร์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเพท เอ็นจิเนียส์ อิงค์/บริษัทล็อควูด แอนดรูส์ แอนด์ นิวแนม อิงค์ ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยโอนในวันที่ 4 เมษายน 2540 จำนวนร้อยละ 89 และในวันที่ 2 มกราคม 2543 จำนวนร้อยละ 10 กิจการร่วมค้า พรีเมียร์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเพท เอ็นจิเนียส์ อิงค์/บริษัทล็อควูด แอนดรูส์ แอนด์ นิวแนม อิงค์ มิได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ภ.ง.ด. 50 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2544 และ 2545 และมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ. 30 ตั้งแต่เดือนภาษีกุมภาพันธ์ 2545 ถึงเดือนภาษีมีนาคม 2547 ต่อมาเจ้าพนักงานของโจทก์แจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม รวม 15 ฉบับ ฉบับแรก ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย สำหรับปี 2544 และ 2545 เป็นเงิน 65,178,449.21 บาท ฉบับที่สอง ภาษีเงินได้นิติบุคคล (ครึ่งปี) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2544 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2544 เป็นเงิน 5,508,486 บาท ฉบับที่สาม ภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2544 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2544 เป็นเงิน 69,864,135 บาท ฉบับที่สี่ ภาษีเงินได้นิติบุคคล (ครึ่งปี) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2545 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2545 เป็นเงิน 2,419,773 บาท ฉบับที่ห้า ภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2545 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2545 เป็นเงิน 29,642,934 บาท ฉบับที่หก ภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนภาษีกุมภาพันธ์ 2545 เป็นเงิน 1,785 บาท ฉบับที่เจ็ด ภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนภาษีมีนาคม 2545 เป็นเงิน 21,106,857 บาท ฉบับที่แปด ภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนภาษีพฤษภาคม 2545 เป็นเงิน 30,004 บาท ฉบับที่เก้า ภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนภาษีมิถุนายน 2545 เป็นเงิน 9,433 บาท ฉบับที่สิบ ภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนภาษีกรกฎาคม 2545 เป็นเงิน 110,933 บาท ฉบับที่สิบเอ็ด ภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนภาษีสิงหาคม 2545 เป็นเงิน 110,750 บาท ฉบับที่สิบสอง ภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนภาษีกันยายน 2545 เป็นเงิน 57,557 บาท ฉบับที่สิบสาม ภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนภาษีตุลาคม 2545 เป็นเงิน 51,915 บาท ฉบับที่สิบสี่ ภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนภาษีพฤศจิกายน 2545 เป็นเงิน 27,728 บาท ฉบับที่สิบห้า ภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนภาษีธันวาคม 2545 เป็นเงิน 21,704 บาท จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของกิจการร่วมค้า พรีเมียร์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเพท เอ็นจิเนียส์ อิงค์/บริษัทล็อควูด แอนดรูส์ แอนด์ นิวแนม อิงค์ อุทธรณ์การประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินทั้ง 15 ฉบับ ครั้งแรกคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนภาษีกุมภาพันธ์ 2545 ไม่ถูกต้องและคืนเรื่องไปยังเจ้าพนักงานประเมินเพื่อดำเนินการให้ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินจึงมีหนังสือแจ้งยกเลิกการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนกุมภาพันธ์ 2545 และทำการประเมินใหม่ให้ถูกต้องกับแจ้งการประเมินครั้งใหม่ไปยังจำเลยที่ 2 โดยชอบแล้ว แต่จำเลยที่ 2 ไม่อุทธรณ์คัดค้านการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนภาษีกุมภาพันธ์ 2545 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงพิจารณาอุทธรณ์ของกิจการร่วมค้า พรีเมียร์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเพท เอ็นจิเนียส์ อิงค์/บริษัทล็อควูด แอนดรูส์ แอนด์ นิวแนม อิงค์ ในส่วนที่เหลือโดยเห็นว่า สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนภาษีมีนาคม เดือนภาษีพฤษภาคมถึงเดือนธันวาคม 2545 มีมติให้ยกอุทธรณ์ทั้งสิ้น กิจการร่วมค้า พรีเมียร์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเพท เอ็นจิเนียส์ อิงค์/บริษัทล็อควูด แอนดรูส์ แอนด์ นิวแนม อิงค์ เลิกกิจการในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2547 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการชำระบัญชีโดยมีจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการร่วมค้า พรีเมียร์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเพทเอ็นจิเนียส์ อิงค์/บริษัทล็อควูด แอนดรูส์ แอนด์ นิวแนม อิงค์ แทนจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เป็นผู้ชำระบัญชี สำหรับคดีของจำเลยที่ 2 คู่ความไม่ได้อุทธรณ์จึงยุติไปตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดชำระหนี้ภาษีอากรค้างแก่โจทก์หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า แม้จำเลยที่ 1 จะโอนสัดส่วนการลงทุนให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว แต่จำเลยที่ 1 ยังคงต้องรับผิดตามมาตรา 1054 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1054 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บุคคลใดแสดงตนว่าเป็นหุ้นส่วนด้วยวาจาก็ดี ด้วยลายลักษณ์อักษรก็ดี ด้วยกิริยาก็ดี ด้วยยินยอมให้เขาใช้ชื่อตนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วนก็ดี หรือรู้แล้วไม่คัดค้านปล่อยให้เขาแสดงตนว่าเป็นหุ้นส่วนก็ดี ท่านว่าบุคคลนั้นย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนเสมือนเป็นหุ้นส่วน” ซึ่งทางพิจารณาได้ความว่า กิจการร่วมค้า พรีเมียร์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเพท เอ็นจิเนียส์ อิงค์/บริษัทล็อควูด แอนดรูส์ แอนด์ นิวแนม อิงค์ ทำสัญญากับกรุงเทพมหานคร โดยมีหน้าที่ออกแบบ จัดหาอุปกรณ์ ก่อสร้าง ทดสอบ แก้ไขความชำรุดบกพร่องของงาน ฝึกอบรม และบำรุงรักษาโครงการบำบัดน้ำเสียกรุงเทพมหานคร แบบเหมารวมเบ็ดเสร็จช่วงหนองแขม ภาษีเจริญ และราษฎร์บูรณะ มูลค่าสัญญา 4,799,999,105 บาท จากข้อเท็จจริงย่อมเห็นได้ว่า กิจการร่วมค้า พรีเมียร์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเพท เอ็นจิเนียส์ อิงค์/บริษัทล็อควูด แอนดรูส์ แอนด์ นิวแนม อิงค์ คือห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ซึ่งจำเลยที่ 1 กับบริษัทในต่างประเทศอีกสองบริษัทร่วมกันกระทำในประเทศไทย ทางพิจารณายังได้ความต่อไปว่า กรณีมีชื่อของจำเลยที่ 1 อยู่ในงบการเงินและรายงานผู้สอบบัญชีของกิจการร่วมค้า พรีเมียร์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเพท เอ็นจิเนียส์ อิงค์/บริษัทล็อควูด แอนดรูส์ แอนด์ นิวแนม อิงค์ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2543 วันที่ 6 ตุลาคม 2546 มีการมอบอำนาจโดยผู้บริหารแผนของจำเลยที่ 1 ให้ไปพบเจ้าพนักงานของโจทก์เกี่ยวกับภาษีของกิจการร่วมค้า พรีเมียร์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเพท เอ็นจิเนียส์ อิงค์/บริษัทล็อควูด แอนดรูส์ แอนด์ นิวแนม อิงค์ ต่อมามีการฟ้องและต่อสู้คดีที่เกี่ยวข้องกับกิจการร่วมค้า พรีเมียร์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเพท เอ็นจิเนียส์ อิงค์/บริษัทล็อควูด แอนดรูส์ แอนด์ นิวแนม อิงค์ ในคดีสาขาหมายเลขแดงที่ 1876/2546 ของศาลล้มละลายกลาง และวันที่ 22 พฤศจิกายน 2547 จำเลยทั้งสองร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเลิกกิจการร่วมค้า พรีเมียร์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเพท เอ็นจิเนียส์ อิงค์/บริษัทล็อควูด แอนดรูส์ แอนด์ นิวแนม อิงค์ ในคดีหมายเลขแดงที่ 8690/2547 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ พฤติการณ์แสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่กิจการร่วมค้า พรีเมียร์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเพท เอ็นจิเนียส์ อิงค์/บริษัทล็อควูด แอนดรูส์ แอนด์ นิวแนม อิงค์ ทำสัญญากับกรุงเทพมหานครในวันที่ 19 กันยายน 2539 และยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากรในวันที่ 29 ตุลาคม 2539 จนกระทั่งเลิกกิจการในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2547 กรณีมีการใช้ชื่อของจำเลยที่ 1 เป็นชื่อกิจการร่วมค้า พรีเมียร์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเพท เอ็นจิเนียส์ อิงค์/บริษัทล็อควูด แอนดรูส์ แอนด์ นิวแนม อิงค์ มาโดยตลอด โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เริ่มก่อตั้งกิจการร่วมค้าย่อมต้องทราบเรื่องดังกล่าวมาแต่ต้น กลับไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นการไม่ยินยอมหรือคัดค้านการใช้ชื่อของจำเลยที่ 1 เป็นชื่อกิจการร่วมค้าและคดีนี้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เหตุที่เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ประเมินภาษีคดีนี้ เนื่องจากกิจการร่วมค้า พรีเมียร์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเพท เอ็นจิเนียส์ อิงค์/บริษัทล็อควูด แอนดรูส์ แอนด์ นิวแนม อิงค์ มิได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ภ.ง.ด. 50 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2544 และปี 2545 ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 71 (1) และมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ. 30 ตั้งแต่เดือนภาษีกุมภาพันธ์ 2545 ถึงเดือนมีนาคม 2547 ตามมาตรา 78/1 มูลหนี้ภาษีคดีนี้จึงเกิดขึ้นเมื่อปี 2544 ถึงเดือนมีนาคม 2547 อันเป็นช่วงระยะเวลาที่มีการใช้ชื่อของจำเลยที่ 1 เป็นชื่อกิจการร่วมค้า พรีเมียร์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเพท เอ็นจิเนียส์ อิงค์/บริษัทล็อควูด แอนดรูส์ แอนด์ นิวแนม อิงค์ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกในบรรดาหนี้ของกิจการร่วมค้า พรีเมียร์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเพท เอ็นจิเนียส์ อิงค์/บริษัทล็อควูด แอนดรูส์ แอนด์ นิวแนม อิงค์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1054 ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นและเมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ภาษีอากรค้างรวม 251,699,348.81 บาท แก่โจทก์และร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท ในชั้นศาลภาษีอากรกลางและให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท ในชั้นอุทธรณ์