คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3879/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การพิจารณาในเรื่องความเหมือนหรือคล้ายกันของเครื่องหมายการค้าว่าอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาองค์ประกอบโดยรวมทั้งลักษณะของคำ ตัวอักษร และเสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าดังกล่าว เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้า ของโจทก์และเครื่องหมายการค้าคำว่า “BOSS” และคำว่า “ROSS” ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ปรากฏว่าลักษณะของคำประกอบด้วยพยัญชนะที่เป็นอักษรโรมัน 4 ตัว เหมือนกัน แม้พยัญชนะสามตัวหลังเหมือนกันแต่พยัญชนะตัวหน้าแตกต่างกันโดยสามารถสังเกตเห็นอย่างเด่นชัด ส่วนลักษณะตัวอักษรแม้ทั้งสามเครื่องหมายต่างใช้อักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่เหมือนกันแต่มีลักษณะของแบบอักษร (font) แตกต่างกัน ข้อแตกต่างประการสำคัญคือเครื่องหมายการค้าของโจทก์ยังประกอบด้วยรูปหูฟัง ซึ่งแม้โจทก์จะไม่ขอถือเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้รูปหูฟัง แต่ก็มีผลเพียงว่าไม่ทำให้โจทก์มีสิทธิใช้รูปประดิษฐ์นั้นแต่เพียงผู้เดียวหรือหวงกันไม่ให้ผู้อื่นใช้รูปประดิษฐ์ดังกล่าวได้เท่านั้น แต่ในการพิจารณาความเหมือนหรือคล้ายของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวก็ยังต้องพิจารณาทั้งเครื่องหมายโดยถือว่ารูปประดิษฐ์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้า มิใช่ตัดส่วนที่เป็นรูปประดิษฐ์ดังกล่าวออกจากการพิจารณา ดังนั้นเครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงมีรูปประดิษฐ์รูปหูฟังประกอบอักษรโรมันคำว่า “KOSS” ซึ่งมีรูปลักษณะแตกต่างโดยชัดแจ้งจากเครื่องหมายการค้าคำว่า “BOSS” และคำว่า “ROSS” ของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วที่ไม่มีรูปประดิษฐ์ใด ๆ มาประกอบ ในส่วนของเสียงเรียกขาน เครื่องหมายการค้าของโจทก์เรียกขานได้ว่า คอส แตกต่างจากเสียงเรียกขานเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วซึ่งเรียกขานว่า บอส และ รอส อย่างชัดเจน แม้โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 9 และรายการสินค้าจะเป็นสินค้าจำพวกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และมีรายการสินค้าบางรายการตรงกับรายการสินค้าของผู้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ก่อน เช่น เครื่องขยายเสียง แต่เมื่อองค์ประกอบโดยรวมของเครื่องหมายการค้าของโจทก์แตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว สาธารณชนย่อมสามารถแยกแยะได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์แตกต่างไปจากสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว โอกาสที่สาธารณชนจะสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าเป็นไปได้ยาก เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “BOSS” และคำว่า “ROSS” ของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า เครื่องหมายการค้า คำว่า “KOSS” และรูปประดิษฐ์ตามคำขอเลขที่ 721687 ของโจทก์ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น จนทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า ที่ พณ 0704/3435 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 481/2556 และให้จำเลยดำเนินการเพื่อรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 721687 ของโจทก์ตามขั้นตอนต่อไป
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ พณ 0704/3435 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 481/2556 ที่ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์และให้จำเลยดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 721687 ของโจทก์ต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนภายใต้กฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทส่วนราชการ มีฐานะเป็นกรม สังกัดกระทรวงพาณิชย์ มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้า โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 9 รายการสินค้า โทรศัพท์ระบบสเตอริโอ หูฟังโทรศัพท์และอื่นๆ ตามสำเนาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำขอเลขที่ 721687 โจทก์ไม่ขอถือเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้รูปหูฟัง นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เนื่องจากเครื่องหมายการค้าเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นซึ่งได้จดทะเบียนไว้แล้ว คือ เครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 276251 ทะเบียนเลขที่ ค79180 และคำขอเลขที่ 661904 ทะเบียนเลขที่ ค281999 เครื่องหมายของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วได้แก่เครื่องหมายการค้าคำว่า “” และเครื่องหมายการค้าคำว่า “” โจทก์ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาโดยเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วทั้งสองเครื่องหมายแล้วเห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีภาคส่วนคำว่า “KOSS” อันเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมาย ซึ่งเป็นคำหนึ่งพยางค์ประกอบด้วยอักษรโรมัน 4 ตัว และเป็นอักษรโรมันตัวเดียวกันวางอยู่ในตำแหน่งเดียวกันถึง 3 ตัว เช่นเดียวกันกับเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้วคำว่า “BOSS” ทะเบียนเลขที่ ค79180 และคำว่า “ROSS” ทะเบียนเลขที่ ค281999 แตกต่างกันเพียงอักษรโรมันตัวแรกระหว่างตัวอักษร “K” กับตัวอักษร “B” และตัวอักษร “R” เท่านั้น รูปลักษณะเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายจึงคล้ายกัน แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์จะมีภาคส่วนรูปหูฟังประกอบอยู่ด้วยก็ตาม แต่โจทก์ได้แสดงปฏิเสธว่าไม่ขอถือเป็นสิทธิของตน แต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้รูปหูฟังไว้แล้ว ภาคส่วนรูปดังกล่าวจึงมิใช่สาระสำคัญของเครื่องหมาย เมื่อพิจารณาถึงการเรียกขานเครื่องหมายการค้าของโจทก์เรียกขานได้ว่า คอส ส่วนเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้วตามทะเบียนเลขที่ ค79180 เรียกขานว่า บอส และตามทะเบียนเลขที่ ค281999 เรียกขานว่า รอส นับว่าเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายมีเสียงเรียกขานใกล้เคียงกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดสินค้า เมื่อยื่นขอจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันและรายการสินค้ามีลักษณะอย่างเดียวกัน จึงต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 สำหรับหลักฐานนำสืบการใช้เครื่องหมายการค้าในกรณีมีพฤติการณ์พิเศษ หรือการใช้เครื่องหมายการค้าโดยสุจริตเป็นเวลานานที่โจทก์กล่าวอ้างนั้น เห็นว่า หลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะแสดงได้ว่า โจทก์ได้มีการจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้านั้น มีปริมาณการจำหน่ายเป็นจำนวนมากหรือเครื่องหมายการค้านั้น มีการใช้หรือการโฆษณาเป็นที่แพร่หลายจนทำให้สาธารณชนทั่วไปหรือสาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยรู้จักเป็นอย่างดีหรือเป็นหลักฐานที่แสดงว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้านั้น มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับอย่างสูงในหมู่ผู้บริโภค นอกจากนี้ยังไม่เพียงพอที่จะแสดงได้ว่า ผู้อุทธรณ์ได้มีการใช้เครื่องหมายการค้าในประเทศไทยกับสินค้าตามที่ยื่นขอจดทะเบียนอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานานพอสมควร คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจึงมีมติยืนตามคำสั่งปฏิเสธของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า เครื่องหมายการค้า ของโจทก์ คล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “BOSS” และคำว่า “ROSS” ของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้ว จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ เห็นว่า การพิจารณาในเรื่องความเหมือนหรือคล้ายกันของเครื่องหมายการค้าว่าอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาองค์ประกอบโดยรวมทั้งลักษณะของคำ ตัวอักษร และเสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้า ดังกล่าว เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้า ของโจทก์และเครื่องหมายการค้าคำว่า “BOSS” และคำว่า “ROSS” ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วตามทะเบียนเลขที่ ค79180 และทะเบียนเลขที่ ค281999 แล้ว ปรากฏว่าลักษณะของคำประกอบด้วยพยัญชนะที่เป็นอักษรโรมัน 4 ตัวเหมือนกัน แม้พยัญชนะสามตัวหลังเหมือนกันแต่พยัญชนะตัวหน้าแตกต่างกันโดยสามารถสังเกตเห็นอย่างเด่นชัด ส่วนลักษณะตัวอักษรแม้ทั้งสามเครื่องหมายต่างใช้อักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่เหมือนกันแต่มีลักษณะของแบบอักษร (font) แตกต่างกัน ข้อแตกต่างประการสำคัญคือ เครื่องหมายการค้าของโจทก์ยังประกอบด้วยรูปหูฟัง ซึ่งแม้โจทก์จะไม่ขอถือเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้รูปหูฟัง แต่ก็มีผลเพียงว่าไม่ทำให้โจทก์มีสิทธิใช้รูปประดิษฐ์นั้นแต่เพียงผู้เดียวหรือหวงกันไม่ให้ผู้อื่นใช้รูปประดิษฐ์ได้เท่านั้น แต่ในการพิจารณาความเหมือนหรือคล้ายของเครื่องหมายการค้าก็ยังต้องพิจารณาทั้งเครื่องหมายโดยถือว่ารูปประดิษฐ์เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้า มิใช่ตัดส่วนที่เป็นรูปประดิษฐ์ออกจากการพิจารณา ดังนั้นเครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงมีรูปประดิษฐ์รูปหูฟังประกอบอักษรโรมันคำว่า “KOSS” ซึ่งมีรูปลักษณะแตกต่างโดยชัดแจ้งจากเครื่องหมายการค้าคำว่า “BOSS” และคำว่า “ROSS” ของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วที่ไม่มีรูปประดิษฐ์ใดๆ มาประกอบ ในส่วนของเสียงเรียกขาน เครื่องหมายการค้าของโจทก์เรียกขานได้ว่า คอส แตกต่างจากเสียงเรียกขานเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วซึ่งเรียกขานว่า บอส และ รอส อย่างชัดเจน นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบกับข้อเท็จจริงในทำนองเดียวกัน ปรากฏว่านายสุรเชษฐ์ ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเลขที่ ค281999 ที่มีเสียงเรียกขานว่า รอส เมื่อเดือนพฤษภาคม 2550 ภายหลังจากที่เครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเลขที่ ค79180 ของโรแลนด์ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งมีเสียงเรียกขานว่า บอส ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไปแล้วและนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าก็รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเลขที่ ค281999 โดยไม่มีข้อทักท้วงในเรื่องความสับสนของผู้บริโภคที่เป็นสาธารณชนคนไทยทั่วไปในการออกเสียงเรียกขานและการออกเสียงคำที่เป็นภาษาอังกฤษระหว่างคำว่า บอส กับ รอส แต่อย่างใด ดังนั้นในกรณีเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าคำว่า “BOSS” และคำว่า “ROSS” ที่ไม่มีรูปประดิษฐ์ใดประกอบ จึงไม่น่าจะก่อให้เกิดความสับสนเช่นเดียวกัน แม้โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 9 และรายการสินค้าตามสำเนาคำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียน จะเป็นสินค้าจำพวกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และมีรายการสินค้าบางรายการตรงกับรายการสินค้าของผู้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ก่อน เช่น การค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว สาธารณชนย่อมสามารถแยกแยะได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องขยายเสียง แต่เมื่อองค์ประกอบโดยรวมของเครื่องหมายการค้าของโจทก์แตกต่างจากเครื่องหมายเครื่องหมายการค้าของโจทก์แตกต่างไปจากสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว โอกาสที่สาธารณชนจะสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าเป็นไปได้ยาก เครื่องหมายการค้า ของโจทก์จึงไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “BOSS” และคำว่า “ROSS” ของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ พณ 0704/ 3435 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 481/2556 ที่ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์และให้จำเลยดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 721687 ของโจทก์ต่อไปนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share