คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 270/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ภาษีการค้ากับภาษีเงินได้ ซึ่งไม่ได้ความว่าได้แจ้งการประเมินถึงผู้รับประเมินแล้ว ยังไม่เป็นหนี้แน่นอนไม่มีข้อโต้แย้ง อันจะฟ้องให้ล้มละลายได้ อำนาจยึดทรัพย์ตาม ป.รัษฎากร ไม่ใช่บทบัญญัติว่าเป็นหนี้อันแน่นอน สิ่งที่อยู่ในความรู้เห็นของโจทก์ โจทก์นำสืบอย่างเลื่อนลอยไม่แน่นอน ยังฟังไม่ได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงคู่ความนำสืบรับกันฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล ประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด เป็นผู้ประกอบการค้ารับเหมาก่อสร้างและขายวัสดุก่อสร้าง มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดและเป็นกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กรรมการผู้จัดการได้ยื่นเสียภาษีการค้าตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง เดือนธันวาคม ของปี พ.ศ. 2505,2506, 2507 และภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี พ.ศ. 2507, 2508, 2509ไว้แล้ว ต่อมาเจ้าหน้าที่ของ ก.ต.ภ. (คณะกรรมการตรวจสอบการปฏิบัติเกี่ยวกับภาษีอากร) ตรวจพบว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 เสียภาษีการค้าและภาษีเงินได้นิติบุคคลในปีดังกล่าวแล้วไว้ไม่ถูกต้องจึงส่งเรื่องไปยังกรมสรรพากรโจทก์ ให้ทำการประเมินใหม่เจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้เรียกจำเลยที่ 2 มาสอบและได้ทำการตรวจสอบแล้ว เห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้ยื่นเสียภาษีการค้าของ พ.ศ. 2505,2506, 2507 ต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งจำนวนที่เสียไม่ครบ เมื่อรวมกับเบี้ยปรับภาษีเพิ่มและภาษีเทศบาลแล้ว จำเลยที่ 1 จะต้องเสียภาษีเพิ่มใน พ.ศ. 2505,2506, 2507 เป็นเงิน 182,941.34 บาท, 5,162.84 บาท, 108,834 บาทตามลำดับ รวมเป็นเงินค่าภาษีการค้าที่จะต้องชำระเพิ่ม 296,938.18 บาทจำเลยโต้แย้งคัดค้าน เจ้าพนักงานจึงทำการประเมินแจ้งให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าว จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และเจ้าหน้าที่แผนกพิจารณาอุทธรณ์ได้เรียกจำเลยที่ 2 ไปสอบสวนเบื้องต้นแล้วส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลในปี พ.ศ. 2507, 2508, 2509 เจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่าจำเลยเสียไว้ไม่ครบถ้วน จะต้องเสียเพิ่มสำหรับ พ.ศ. 2507,2508 และ 2509 อีก 30,482.01 บาท, 396,189.48 บาท และ 7,993.49บาท ตามลำดับ รวมเป็นเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จะต้องเสียเพิ่มทั้งสิ้น434,665.48 บาท ซึ่งจำเลยก็ได้โต้แย้งคัดค้านไว้แล้วเช่นเดียวกัน ต่อมาโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระภาษีอากรทั้งสองจำนวนนี้รวม 2 ครั้ง ระยะห่างกันกว่า 30 วัน จำเลยไม่ชำระและห้างจำเลยที่ 1 มิได้ดำเนินกิจการค้าแล้วโจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ ปัญหาว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้พิจารณา อุทธรณ์ภาษีการค้าของจำเลยมีคำสั่งยกอุทธรณ์ และได้แจ้งให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยมิได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาล กับเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลแจ้งการประเมินให้จำเลยทราบให้นำเงินภาษีมาชำระแล้ว จำเลยมิได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในกำหนดตามกฎหมาย อันเป็นผลให้หนี้ทั้งสองจำนวนนี้ถึงที่สุดเป็นหนี้จำนวนแน่นอนหรือไม่

ได้พิเคราะห์แล้ว ในปัญหาข้อเท็จจริงของทั้งสองกรณีดังกล่าว จำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่เคยได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และไม่เคยได้รับแจ้งประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลจากเจ้าหน้าที่ของโจทก์เลย จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะนำสืบให้เห็นว่า ได้มีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยและได้แจ้งให้จำเลยทราบแล้ว กับพนักงานประเมินของโจทก์ได้แจ้งประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลให้จำเลยเสียเพิ่มแล้วด้วย แต่จากการนำสืบของโจทก์สำหรับกรณีแรก (เรื่องภาษีการค้า)คงมีแต่นางชุมศรี ประดิษฐสุวรรณ เจ้าหน้าที่แผนกพิจารณาอุทธรณ์ผู้พิจารณาอุทธรณ์และสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาต่อไปมาเป็นพยานเบิกความลอย ๆ ว่า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้พิจารณาและมีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยแล้ว ไม่มีหลักฐานคำสั่งหรือสำเนาคำสั่งดังกล่าวมาเป็นพยานสนับสนุน ข้อที่อ้างว่าได้แจ้งคำสั่งให้จำเลยทราบแล้ว ก็มีแต่เพียงใบรับหนังสือหมาย จ.10 ซึ่งเมื่อดูตามใบรับดังกล่าว ได้ความเพียงว่าผู้รับได้รับหนังสือเลขที่ 843/2516 ของฝ่ายพิจารณาอุทธรณ์ กองนิติการไว้แล้ว จะเป็นหนังสือว่าด้วยเรื่องอะไรถึงใครเป็นผู้รับผู้ลงชื่อรับไว้แทนเป็นใคร เกี่ยวข้องเป็นอะไรกับผู้รับก็ไม่ได้ความและอ่านไม่ออกส่วนในกรณีหลัง (เรื่องแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่จำเลย) โจทก์ก็มีเพียงเอกสารหมาย จ.1, 2, 3 อันเป็นสำเนาเอกสารการประเมินที่อ้างว่าได้ส่งต้นฉบับแจ้งไปยังจำเลยแล้วทางไปรษณีย์ลงทะเบียน แต่หลักฐานการส่งผู้จัดส่งตลอดจนใบรับที่แสดงว่าได้ส่งให้แก่จำเลยรับไปแล้วไม่ได้นำสืบและไม่มีมาเป็นพยานสนับสนุนข้ออ้าง พยานโจทก์เท่าที่นำสืบในข้อนี้คงอ้างแต่ว่าระเบียบการส่งเอกสารราชการทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ถ้าส่งไม่ได้ด้วยประการใด ๆ ทางไปรษณีย์จะส่งเอกสารคืนมา แต่การส่งต้นฉบับเอกสารหมาย จ.1, 2, 3 ถึงจำเลยทางไปรษณีย์ไม่ส่งคืนมา จึงเข้าใจว่าส่งให้จำเลยรับไปแล้ว ซึ่งก็เป็นความเข้าใจของพยาน เพราะแท้จริงจะได้มีการส่งไปหรือไม่ก็ไม่มีการนำสืบให้เห็นได้ ศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ว่า ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ เมื่อจำเลยปฏิเสธ โจทก์จะต้องนำสืบให้ศาลเชื่อว่าเป็นดังที่โจทก์กล่าวอ้าง และการนำสืบข้อเท็จจริงดังกล่าว ก็เป็นการนำสืบในสิ่งที่อยู่ในความรู้เห็นของโจทก์ เมื่อการนำสืบตามข้ออ้างของโจทก์ยังเลื่อนลอยไม่แน่นอนว่า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยยกอุทธรณ์ภาษีการค้าของจำเลย ได้แจ้งคำวินิจฉัยให้จำเลยทราบแล้ว และเจ้าพนักงานได้ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลตามฟ้องแจ้งให้จำเลยชำระแล้ว กรณีจึงฟังไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงเป็นดังตามข้ออ้างของโจทก์ ฉะนั้น หนี้ทั้ง 2 รายการจำนวนตามฟ้อง จึงยังเป็นหนี้ไม่ถึงที่สุดมีข้อโต้แย้ง และยังไม่แน่นอน ดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า หนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ค่าภาษีอากร จึงเป็นหนี้ถึงที่สุดโดยอัตโนมัติตามบทบัญญัติ มาตรา 12 และ 31 แห่งประมวลรัษฎากรนั้น เห็นว่า บทมาตราที่โจทก์กล่าวอ้าง เป็นแต่วิธีการพิเศษที่กฎหมายให้อำนาจแก่ฝ่ายปกครองในการที่จะยึดทรัพย์สินของผู้ค้างชำระค่าภาษีอากรเอาชำระค่าภาษีอากรได้เองโดยไม่ต้องฟ้องให้ศาลบังคับหาใช่ว่าเมื่อมีการประเมินแล้วหนี้จำนวนตามประเมินนั้นจะตกเป็นหนี้แน่นอน อันจะนำมาเป็นมูลฟ้องขอให้ล้มละลายได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2484 มาตรา 9 ไม่”

พิพากษายืน

Share