คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5316/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด มาตรา 5 บัญญัติว่า กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด หมายความถึงกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดด้วย ดังนั้นความผิดตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดจึงเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามความหมายของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด ซึ่งพ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด มาตรา 3 แม้จะไม่ได้บัญญัติให้รวมความถึงคำร้องขอให้ริบทรัพย์ตามมาตรา 27 ด้วย แต่โดยเนื้อหาและลักษณะของคำร้องนี้ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำความผิดข้อหาใดข้อหาหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 โดยมาตรา 32 แห่งกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดต่อเมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีเท่านั้น ซึ่งหมายถึงการฟ้องคดีในข้อหาความผิดตามที่บัญญัติในมาตรา 3 นั่นเอง แสดงให้เห็นว่าการฟ้องคดีดังกล่าวเป็นมูลเหตุโดยตรงและเป็นพยานหลักฐานที่สำคัญในการวินิจฉัยชี้ขาดว่าทรัพย์สินที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินสั่งยึดและอายัดไว้ น่าจะเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่จะต้องริบหรือไม่ คำร้องขอให้ริบทรัพย์สินตามมาตรา 27 จึงเป็นส่วนหนึ่งของความผิดหรือมาตรการลงโทษในทางทรัพย์สินที่เกี่ยวโยงอยู่กับความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ต้องถือว่าคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินนี้เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามความหมายของ พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลอุทธรณ์แต่เพียงศาลเดียวตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด มาตรา 15 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากผู้ร้องเป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้คัดค้านเป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2550 ให้ลงโทษจำคุกผู้คัดค้านตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2337/2550 คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2551 ผู้ร้องยื่นคำร้อง ขอให้มีคำสั่งริบทรัพย์สินดังกล่าวให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 27, 29, 31
ศาลชั้นต้นได้สั่งให้ประกาศในหนังสือพิมพ์ตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำพิพากษายกคำร้อง และให้คืนทรัพย์สินตามคำร้องแก่เจ้าของ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับว่า ให้ริบทรัพย์สิน 13 รายการ ตามสำเนาคำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 29
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเสียก่อนว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีอำนาจรับอุทธรณ์ของผู้ร้องไว้พิจารณาพิพากษาหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด มาตรา 5 บัญญัติว่า ในพระราชบัญญัตินี้เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น… “กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด” หมายความว่า กฎหมายว่าด้วยการป้องกันการใช้สารระเหย กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษและกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤธิ์ต่อจิตและประสาท… “ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” หมายความว่า ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด ดังนั้น ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามความหมายของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติดด้วย ซึ่งตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด มาตรา 3 บัญญัติว่า ในพระราชบัญญัตินี้ “ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” หมายความว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด และให้หมายความรวมถึงการสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือ หรือพยายามกระทำความผิดดังกล่าวด้วย แม้บทนิยามของความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จะไม่ได้บัญญัติให้รวมความถึงคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินตามมาตรา 27 ด้วย แต่โดยเนื้อหาและลักษณะของคำร้องนี้ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำความผิดข้อหาใดข้อหาหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 โดยจะเห็นได้จากข้อความในมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่กำหนดให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดต่อเมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีเท่านั้น ซึ่งหมายถึงการฟ้องคดีในข้อหาความผิดตามที่บัญญัติในมาตรา 3 นั่นเอง โดยให้ยื่นคำร้องไปพร้อมกับคำฟ้องหรือในเวลาใดก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาก็ได้ แต่กรณีมีเหตุอันสมควรแสดงได้ว่าไม่สามารถยื่นคำร้องก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาได้ ก็ให้ยื่นคำร้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เว้นแต่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง แต่หากพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีหรือศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง ก็ให้การยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือจำเลยหรือของบุคคลอื่น ที่ได้ยึดและอายัดไว้เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเป็นอันสิ้นสุดลง แสดงให้เห็นว่า การกระทำความผิดตามข้อหาที่บัญญัติในมาตรา 3 เป็นมูลเหตุโดยตรงและเป็นหลักฐานที่สำคัญในการวินิจฉัยชี้ขาดว่า ทรัพย์สินที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินสั่งให้ยึดและอายัดไว้ น่าจะเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่จะต้องริบหรือไม่ คำร้องขอให้ริบทรัพย์สินตามมาตรา 27 จึงเป็นส่วนหนึ่งของความผิดหรือมาตรการลงโทษในทางทรัพย์สินที่เกี่ยวโยงอยู่กับความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ต้องถือว่าคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินนี้เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามความหมายของพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติดด้วย เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอนี้ต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2551 ซึ่งเป็นวันหลังจากวันที่ 13 กรกฎาคม 2551 อันเป็นวันที่พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติดมีผลใช้บังคับ และมิใช่คดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลก่อนวันที่พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติดมีผลใช้บังคับซึ่งตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดว่า มิให้อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัตินี้ คำร้องขอให้ริบทรัพย์ในคดีนี้จึงเป็นคดีที่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด ซึ่งตามมาตรา 5 วรรคท้ายและมาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสอง กำหนดว่า การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ซึ่งมิใช่ศาลอุทธรณ์ภาค ศาลอุทธรณ์จึงเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาอุทธรณ์ในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพียงศาลเดียวเท่านั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 หามีอำนาจรับคดีนี้ไว้พิจารณาพิพากษาได้ไม่ เมื่อศาลชั้นต้นมีสั่งรับอุทธรณ์แล้วจะต้องส่งอุทธรณ์พร้อมสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาพิพากษาโดยเร็ว ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นส่งอุทธรณ์ของผู้ร้องพร้อมสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 1 และศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับคดีนี้ไว้พิจารณาและมีคำพิพากษามานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ แม้คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งในปัญหาข้อนี้ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของผู้คัดค้านต่อไป
พิพากษาให้ยกคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 และยกฎีกาของผู้คัดค้าน ให้ศาลชั้นต้นส่งอุทธรณ์ของผู้ร้องพร้อมสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยเร็ว

Share