คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5312-5313/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยลงทุนร่วมกันเพื่อซื้อที่ดินไปขายแบ่งกำไรกันต่อมาโจทก์ขอเงินลงทุนคืนจำเลยจึงออกเช็คชำระหนี้ดังกล่าวให้โจทก์ เมื่อเช็คที่จำเลยออกให้ถูกปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ได้นำหนังสือมอบอำนาจของจำเลยไปดำเนินการโอนที่ดินทั้งสามแปลงของจำเลยเป็นชื่อโจทก์ โดยไม่ได้ตกลงกำหนดราคาที่ดินทั้งสามแปลงเป็นอย่างอื่น ย่อมถือเสมือนว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระเงินตามที่ได้ตกลงกันไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 321 วรรคแรก ทำให้หนี้ตามเช็คเป็นอันระงับสิ้นไป โจทก์ไม่มีสิทธินำเช็คมาฟ้องเรียกเงินจากจำเลยอีก

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน โจทก์ฟ้องทั้งสองสำนวนมีใจความว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คชำระหนี้แก่โจทก์ 2 ฉบับ เป็นเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาแม่ริม ลงวันที่ 30 เมษายน 2534 และ 16 สิงหาคม 2534 จำนวนเงิน 1,000,000 บาท และ 5,412,312 บาท ตามลำดับ เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ ต่อมาธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามเช็คเป็นเงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2534 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ และชำระเงินตามเช็คเป็นเงิน 5,412,312 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การทั้งสองสำนวนว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับมอบให้โจทก์จริง ต่อมาจำเลยโอนที่ดิน 3 แปลง ชำระหนี้แก่โจทก์ มูลหนี้ตามเช็คจึงระงับลงแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 4,650,647 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์จำเลยลงทุนร่วมกันเพื่อซื้อที่ดินของนายขจร ศรเนตร บริเวณสี่แยกข่วงสิงห์ ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 15 ไร่1 งาน 20 ตารางวา เพื่อนำไปขายแบ่งกำไรกัน จำเลยรับเงินลงทุนจากโจทก์2 ครั้งเป็นเงิน 2,000,000 บาท และ 3,333,400 บาท ทั้งยืมเงินโจทก์เพื่อใช้เป็นเงินลงทุนในส่วนของจำเลยด้วยเป็นเงิน 1,000,000 บาท ตามเช็คและบันทึกการรับเช็คเอกสารหมาย จ.14, จ.15 และ ล.10 , ล.11 จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทฉบับแรกเป็นเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาแม่ริม ลงวันที่ 30 เมษายน 2534 เพื่อชำระหนี้เงินยืมโจทก์เป็นเงิน 1,000,000บาท ซึ่งธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินในวันที่ 31 กรกฎาคม 2534ตามเช็คและใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.6 ต่อมาจำเลยไม่สามารถซื้อที่ดินของนายขจรได้สำเร็จ เป็นเหตุให้นายขจรริบเงินมัดจำที่วางไว้จำนวน 500,000 บาท โจทก์ขอเงินลงทุนที่จำเลยรับไปแล้วทั้งหมดคืน จำเลยจึงสั่งจ่ายเช็คพิพาท ฉบับที่ 2 เป็นเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาแม่ริม ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2534 ชำระหนี้เงินลงทุนที่จำเลยรับไปจากโจทก์ทั้งสองครั้งโดยหักค่าใช้จ่ายกับเงินมัดจำที่นายขจรริบไปแล้วเป็นเงิน 5,412,312 บาท ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาทฉบับที่ 2 ในวันที่ 15 พฤศจิกายน2534 ตามเช็คและใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.20 จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์2 ครั้ง ครั้งแรกในวันที่ 27 มิถุนายน 2534 โดยโอนเงินเข้าบัญชีโจทก์ที่ธนาคารทหารไทย จำกัด สาขาตลาดหนองหอย เป็นเงิน 500,000 บาท และครั้งที่ 2 ในวันที่ 11 ตุลาคม 2534 โดยชำระเงินให้โจทก์เป็นเงิน 250,000 บาทตามเอกสารการโอนเงินและบันทึกเอกสารหมาย ล.13 และ ล.14 ต่อมาวันที่ 19 ธันวาคม 2534 โจทก์ได้นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินของจำเลยพร้อมทะเบียนบ้านกับบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยและหนังสือมอบอำนาจที่จำเลยลงลายมือชื่อไว้ไปดำเนินการโอนที่ดินตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ล.15 หรือ จ.24 หนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) ทะเบียนเลขที่ 3166 เลขที่ดิน 408 กับทะเบียนเลขที่ 3167 เลขที่ดิน 409 และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ทะเบียนเลขที่ 323 ตำบลเกาะช้าง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เอกสารหมาย ล.3,ล.4 และ ล.6 ตามลำดับเป็นของโจทก์

พิเคราะห์แล้ว คดีทั้งสองสำนวนนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระเงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับ จำเลยให้การต่อสู้คดีว่าได้ออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้แก่โจทก์จริง โดยฉบับแรกจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว ส่วนฉบับที่สองโจทก์ได้ดำเนินการโอนที่ 3 แปลงของจำเลยเป็นชื่อโจทก์เป็นการยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนตามที่ได้ตกลงกันไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคแรก หนี้ตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับจึงระงับสิ้นไป เห็นว่า ตามคำฟ้องทั้งสองสำนวนของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยเป็นหนี้จำนวนอื่นใดต่อโจทก์อีกนอกจากหนี้ตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับแต่ในชั้นพิจารณาโจทก์กลับนำสืบว่านอกจากหนี้ตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับแล้ว จำเลยยังมีหนี้ที่จะต้องชำระแก่โจทก์อยู่อีกประมาณ 1,800,000 บาทและการที่โจทก์ดำเนินการโอนที่ดิน 3 แปลง ของจำเลยเป็นชื่อโจทก์นั้น เป็นการชำระหนี้ในส่วนดังกล่าวมิใช่เป็นการชำระหนี้ตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับซึ่งในเรื่องหนี้จำนวน 1,800,000 บาท นอกเหนือจากเช็คพิพาททั้งสองฉบับนี้ก็มีแต่เพียงตัวโจทก์ปากเดียวเบิกความลอย ๆ หามีเอกสารหรือหลักฐานใด ๆมาสืบสนับสนุนให้มีน้ำหนักน่าเชื่อไม่ แม้แต่นางจริยา ทองมิตร พยานโจทก์ที่อ้างว่ารู้เห็นในขณะที่โจทก์และจำเลยตกลงกันเรื่องหนี้สินตามเอกสารหมาย ล.8 ก็มิได้เบิกความยืนยันว่าจำเลยรับว่ายังเป็นหนี้โจทก์อยู่อีก 1,800,000 บาท นอกเหนือจากหนี้สินตามเช็คพิพาทตามคำเบิกความของโจทก์ ตรงกันข้ามฝ่ายจำเลยมีตัวจำเลยมาเบิกความยืนยันประกอบเอกสารหมาย ล.8 หรือ จ.7 ซึ่งโจทก์รับว่าได้เขียนข้อความต่าง ๆ เพื่อบันทึกช่วยความจำไว้ ดังที่โจทก์ได้ขีดเส้นใต้ด้วยหมึกสีดำไว้ โดยเป็นลายมือของโจทก์เองทั้งหมด และในเอกสารหมาย ล.8 นี้ ก็ระบุจำนวนเงินที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตรงกับจำนวนเงินที่ระบุในเช็คพิพาทฉบับที่ 2 คือ 5,412,312 บาท ทั้งระบุหมายเลขเช็คและวันที่สั่งจ่ายเช็คตรงกับเช็คพิพาทฉบับที่ 2 ศาลฎีกาเห็นว่า หากในวันดังกล่าวมีหนี้สินจำนวน 1,800,000 บาท นอกเหนือจากจำนวนเงิน 5,412,312 บาท ที่ปรากฏในเอกสารหมาย ล.8 โจทก์ก็ชอบที่จะให้จำเลยบันทึกไว้เป็นหลักฐานในเอกสารดังกล่าวด้วย แม้โจทก์จะอ้างว่าได้ขอให้จำเลยออกเช็คอีกฉบับหนึ่งแต่จำเลยอ้างว่าไม่ได้นำสมุดเช็คติดตัวมาด้วยก็ตาม โจทก์ก็สามารถจะบันทึกให้ปรากฏเป็นหลักฐานในเอกสารหมาย ล.8 เองได้ แต่โจทก์ก็หาได้กระทำเช่นนั้นไม่ ดังนี้ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 ฟังข้อเท็จจริงต้องตรงกันมาว่าพยานหลักฐานโจทก์เท่าที่นำสืบมาไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่าจำเลยยังมีหนี้สินอื่นคงค้างที่โจทก์จัดนำที่ดินทั้งสองแปลงของจำเลยตีใช้หนี้ได้ นอกจากมูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับตามฟ้องเท่านั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย เมื่อปรากฏว่าจำเลยได้ชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วนแล้วเป็นเงินถึง 750,000 บาท และเมื่อเช็คพิพาทฉบับที่สองถูกปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยได้ดำเนินการโอนที่ดินทั้งสามแปลงของจำเลยเป็นชื่อโจทก์ โดยไม่ปรากฏว่าได้ตกลงกำหนดราคาที่ดินทั้งสามแปลงเป็นอย่างอื่น ย่อมถือเสมือนว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระเงินตามที่ได้ตกลงกันไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 321 วรรคแรก ทำให้หนี้ตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นอันระงับสิ้นไปโจทก์ย่อมไม่มีสิทธินำเช็คพิพาททั้งสองฉบับมาฟ้องเรียกจากจำเลยอีก คดีไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่าที่ดินทั้งสามแปลงมีราคาคุ้มกับจำนวนหนี้ตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับหรือไม่”

พิพากษายืน

Share