คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 531/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยรับปลิงทะเลของกลางไว้โดยรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยหลีกเลี่ยงอากรข้อห้ามข้อจำกัด อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2499 มาตรา 4 แต่โดยที่มาตรา 27 ทวินี้มีกำหนดโทษเบากว่ามาตรา 27 และเพิ่งบัญญัติขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2499 จึงเป็นที่เห็นได้ว่าความผิดตามมาตรา 27 ทวินี้ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 27 จึงได้บัญญัติมาตรา 27 ทวิขึ้น ส่วนการริบของกลางนั้น มาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2482 ระบุถึงการริบทรัพย์อันเนื่องด้วยความผิดตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 เมื่อจำเลยไม่ผิดตามมาตรา 27 แล้ว จึงริบของกลางตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2482 ไม่ได้ แต่ศาลมีอำนาจสั่งริบของกลางตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33 ได้ เพราะมาตรา 27 ทิวไม่มีข้อความแสดงว่าจะมิได้ตกอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 33 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แม้ฟ้องโจทก์จะมิได้อ้างประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33 ก็ตาม แต่ก็มีคำขอให้ริบของกลางมาแล้ว ดังนั้น ศาลสั่งให้ริบตามบทกฎหมายที่ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้ลักลอบนำเอาปลิงทะเล ๗ กระสอบราคา ๒๑,๔๐๐ บาท จากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยง อากรข้อห้าม ข้อจำกัด และไม่ได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้อง ด้วยเจตนาจะฉ้อภาษี หรือมิฉะนั้นจำเลยก็รับไว้โดยรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาโดยหลีกเลี่ยงอากรข้อห้ามหรือข้อจำกัด เจ้าพนักงานศุลกากรจับของกลางได้ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗, ๓๒ (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๑๖, ๑๗ (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๓ (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๑๐ (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๔ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. ๒๔๘๗ มาตรา ๗, ๘, ๙ ริบของกลาง และจ่ายรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จัดตามกฎหมาย
จำเลยปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗, ๓๒ (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๑๖, ๑๗ (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๓ (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๔ ให้จำคุกจำเลย ๖ เดือน ริบของกลางและให้จ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับร้อยละยี่สิบของราคาของกลาง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยได้รับปลิงทะเลของกลางไว้โดยรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรข้อห้ามข้อจำกัดอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ ทวิ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๔ และศาลฎีกาเห็นว่า มาตรา ๒๗ ทวินี้ มีกำหนดโทษเบากว่ามาตรา ๒๗ และเพิ่งบัญญัติขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ จึงเป็นที่เห็นได้ว่า ความผิดตามมาตรา ๒๗ ทวินี้ไม่เป็นความผิดตามมาตรา ๒๗ จึงได้บัญญัติให้เป็นความผิดขึ้นตามมาตรา ๒๗ ทวิ ส่วนมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๘๒ ซึ่งระบุถึงการริบทรัพย์อันเนื่องด้วยความผิดตามมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ นั้น เมื่อจำเลยไม่ผิดตามมาตรา ๒๗ แล้วศาลสั่งให้ริบของกลางในคดีนี้ตามมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๘๒ ไม่ได้ แต่ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลมีอำนาจสั่งริบของกลางตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓ ได้เพราะมาตรา ๒๗ ทวิ ไม่มีข้อแสดงว่าจะมิให้ตกอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา ๓๓ แห่งประมวลกฎหมายอาญา แม้ฟ้องของโจทก์มิได้อ้างประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓ แต่มีคำขอให้ริบของกลางมาแล้ว ศาลย่อมสั่งให้ริบตามบทกฎหมายที่ถูกต้องได้
จึงพร้อมกันพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ ทวิ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมตามพะราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ ทวิ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมตามพะราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๔ และให้ริบของกลางตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓ นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share