คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 195/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องด้วยวาจานั้น ผู้ว่าคดีต้องบรรยายข้อเท็จจริงให้ปรากฏครบถ้วนพอที่ศาลจะลงโทษตามบทกฎหมายที่ขอประกอบด้วยข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลา สถานที่ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องพอสมควร เท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีและมาตราซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499มาตรา 19 ด้วย และเป็นหน้าที่ของศาลต้องถามผู้ต้องหาถ้าให้การ รับสารภาพ ศาลจะบันทึกคำฟ้องให้ได้ใจความแห่งข้อหาเพื่อพิพากษาคดีต่อไป ถ้าคำฟ้องที่ศาลบันทึกไว้ไม่ปรากฏว่าที่บาดเจ็บรักษา 30 วันหายนั้นถึงสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297 ข้อใดศาลย่อมพิจารณาบันทึกคำฟ้องประกอบหลักฐานการฟ้องด้วยวาจาและรายงานชันสูตรบาดแผลท้ายฟ้องได้ เมื่อเห็นว่าปรากฏข้อเท็จจริงพอที่จะพิจารณาพิพากษาลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ได้ก็พิพากษาลงโทษไปได้ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 5/2510)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องด้วยวาจา ศาลบันทึกคำฟ้องและคำรับสารภาพว่า จำเลยขับรถจักรยานยนต์สองล้อด้วยความประมาท โดยแซงรถยนต์ซึ่งจอดอยู่ด้วยความเร็วสูง ขณะนั้นเด็กชายปรีชา ดอกพุฒ ได้วิ่งข้ามถนนจำเลยเห็นแล้วว่ามีเด็กวิ่งข้ามถนน จำเลยสามารถหยุดหรือชลอความเร็วรถได้แต่จำเลยไม่กระทำ กลับขับต่อไป ชนเด็กชายปรีชาล้มลงได้รับบาดเจ็บรักษา 30 วันหายตามใบชันสูตรท้ายฟ้อง เหตุเกิดที่ตำบลสวนจิตรลดา อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2497 มาตรา 28; ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2481 มาตรา 4; ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2508มาตรา 7, 13

จำเลยรับสารภาพ

ศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษาว่าจำเลยผิดตามฟ้อง ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 300 บทหนัก ลดกึ่งจำคุก 1 เดือนปรับ 500 บาท โจทก์จำคุกเปลี่ยนเป็นกักขังตามมาตรา 23

จำเลยอุทธรณ์ว่า จะลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300ไม่ได้ เพราะข้อเท็จจริงตามฟ้องไม่ปรากฏว่าเป็นอันตรายสาหัสตามมาตรา 297

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ฟ้องขาดรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำผิดฟังไม่ชัดว่าได้รับบาดเจ็บสาหัส ฟังได้เพียงว่าเป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจเท่านั้นลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 1 เดือนปรับ 1,000 บาท ลดกึ่ง จำคุก 15 วัน ปรับ 500 บาท โทษจำคุกรอ 3 ปีนอกนั้นยืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การฟ้องด้วยวาจาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499มาตรา 20 นั้น ผู้ว่าคดีต้องบรรยายฟ้องให้ปรากฏข้อเท็จจริงครบถ้วนพอที่ศาลจะพิจารณาลงโทษจำเลยตามบทกฎหมายที่ผู้ว่าคดีขอให้ลงโทษประกอบด้วยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเวลา สถานที่ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี และมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.249 มาตรา 19 เมื่อผู้ว่าคดีฟ้องด้วยวาจาโดยมีข้อเท็จจริงครบถ้วนดังกล่าวข้างต้นแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของศาลที่จะบันทึกคำฟ้องของผู้ว่าคดีให้ได้ใจความแห่งข้อหาเพื่อพิพากษาคดีนั้นต่อไป เมื่อบันทึกคำฟ้องด้วยวาจาแล้วศาลก็จะบันทึกคำรับสารภาพของผู้ต้องหา แล้วทำคำพิพากษาในฉบับเดียวกัน

คดีนี้ คำฟ้องที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ไม่ปรากฏว่าบาดเจ็บรักษา 30 วัน หายนั้นถึงสาหัสตามมาตรา 297 ข้อใด ยังไม่เพียงพอที่จะวินิจฉัยว่าถึงสาหัสหรือไม่ แต่ฟ้องด้วยวาจาอ้างใบชันสูตรบาดแผลท้ายฟ้อง หลักฐานการฟ้องด้วยวาจาก็อ้างว่าบาดแผลสาหัสตามรายงานชันสูตรบาดแผล มีแผลที่ศีรษะด้านหลัง แผลยาว 2 x 1 เซ็นติเมตร ลึกจดกระโหลกศีรษะ ไหล่ขวาและหน้าผากถลอกโลหิตซับ กระดูกไหปลาร้าขวาหัก รักษาประมาณ 30 วันหาย เห็นว่า การทุพพลภาพหรือเจ็บป่วยด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า 20 วัน และประกอบกรณียกิจตามปรกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน ฉะนั้น เมื่อพิจารณาบันทึกคำฟ้องด้วยวาจาและรายงานชันสูตรบาดแผลแล้ว ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้ ฟ้องด้วยวาจาโดยปรากฏข้อเท็จจริงพอที่จะพิจารณาพิพากษาลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 แล้ว พิพากษาแก้ ลงโทษบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ลดรับสารภาพจำคุก 1 เดือน ปรับ 500 บาท รอการลงโทษ 3 ปี

Share