แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากร มิได้นิยามความหมายของคำว่า “วิชาชีพ” เอาไว้ จึงต้องถือตามความหมายที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายไว้ว่า “อาชีพที่ต้องอาศัยวิชาความรู้ความชำนาญ” ตามความหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การประกอบอาชีพใดจะถือว่าเป็นการประกอบวิชาชีพก็ต่อเมื่อจะต้องอาศัยหลักวิชาการแขนงใดแขนงหนึ่งเช่น วิชาชีพกฎหมาย การประกอบโรคศิลป วิศวกรรม ฯลฯ หรือวิชาชีพอื่นอันมีลักษณะทำนองเดียวกันนี้ การประกอบอาชีพค้าเพชร ผู้ประกอบอาชีพนี้เพียงแต่อาศัยความรู้ความชำนาญในเรื่องเพชรเช่นเดียวกับการประกอบอาชีพอื่นธรรมดาทั่วไปเท่านั้น หาจำต้องอาศัยหลักวิชาการเฉพาะทางแขนงใดแขนงหนึ่งดังเช่นวิชาชีพต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นการประกอบอาชีพค้าเพชรจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการประกอบวิชาชีพเครื่องชั่งเพชรที่จำเลยนำเข้ามาในราชอาณาจักรจึงมิใช่เป็นของส่วนตัวที่จำเลยนำเข้ามาพร้อมกับตนสำหรับใช้ในวิชาชีพ อันจะได้รับยกเว้นอากรตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 ภาค 4ประเภทที่ 5 การยกเว้นอากรตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503ภาค 4 ประเภทที่ 5 กฎหมายยกเว้นให้แก่ของส่วนตัวที่เจ้าของนำเข้าพร้อมกับตนสำหรับใช้เอง ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่เป็นข้อยกเว้นจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด จำกัดเฉพาะของส่วนตัวสำหรับผู้นำเข้าใช้เอง ไม่อาจตีความขยายออกไปให้ครอบคลุมถึงของที่ผู้นำเข้าได้นำเข้ามาฝากเป็นของขวัญแก่ผู้อื่นว่ามีผลเท่ากับผู้นำเข้าใช้เองได้ ดังนั้น ไข่มุกที่จำเลยนำเข้ามาเพื่อฝากคนรักของจำเลยจึงมิใช่ของส่วนตัวที่จำเลยนำเข้ามาพร้อมกับตนสำหรับใช้เอง อันจะได้รับยกเว้นอากรตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น เจตนาฉ้อค่าภาษีของรัฐบาลอันเป็นองค์ประกอบความผิดเกี่ยวกับเจตนาพิเศษของพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 นั้น เป็นองค์ประกอบความผิดสำหรับความผิดบางฐานเท่านั้น เฉพาะความผิดฐานนำของที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักรแม้จำเลยจะมิได้มีเจตนาพิเศษที่จะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาลก็เป็นความผิดตามมาตราดังกล่าวได้ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยลักลอกนำเพชรและพลอยที่ตกแต่งแล้วอันเป็นของที่มีถิ่นกำเนิดในต่างประเทศ ซึ่งได้รับการยกเว้นอากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านด่านศุลกากรโดยถูกต้อง อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ฟ้องของโจทก์ดังกล่าวได้บรรยายถึงการกระทำของจำเลยที่นำเอาเพชรและพลอยเข้ามาในราชอาณาจักรและบรรยายด้วยว่า แม้เพชรและพลอยจะได้รับยกเว้นอากร แต่ต้องผ่านศุลกากรตามวิธีการศุลกากรเพื่อการควบคุมเงินตราและวิธีการนำเข้าของประเภทนี้กับบรรยายว่าจำเลยไม่ได้นำผ่านศุลกากรเสียให้ถูกต้อง จำเลยจึงมีความผิดในเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงข้อห้ามเกี่ยวกับเพชรและพลอยที่นำเข้านั้น ฟ้องของโจทก์จึงบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดพอสมควร เท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น จำเลยก็ฎีกาในปัญหาข้อนี้ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 27 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 16, 17พระราชบัญญัติ ศุลกากร (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490 มาตรา 3 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5,6, 7, 8, 9 ริบของกลางทั้งหมด และจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานนำเครื่องชั่งเพชรและไข่มุกเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษีอากร ตามพระราชบัญญัติศุลกากร มาตรา 27 ลงโทษปรับสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรด้วยเป็นเงิน 147,781.32 บาทลงโทษฐานนำเพชรและพลอยที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ตามพระราชบัญญัติศุลกากร มาตรา 27 ปรับสี่เท่าของราคาของ เป็นเงิน 2,965,960 บาท รวมปรับ3,113,741.32 บาทริบของกลางทั้งหมด ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 มีกำหนด 2 ปี และจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่าของซึ่งจำเลยนำเข้ามาในราชอาณาจักร 2 รายการ คือ เครื่องชั่งเพชร1 เครื่อง ราคา 23,166.33 บาท และไข่มุก 25 เม็ด ราคา 4,399 บาทเป็นของส่วนตัวที่จำเลยนำเข้ามาพร้อมกับตนสำหรับใช้เองหรือใช้ในวิชาชีพ และมีจำนวนพอสมควรแก่ฐานะ อันจะได้รับยกเว้นอากรตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 ภาค 4 ประเภทที่ 5หรือไม่ สำหรับเครื่องชั่งเพชรนั้น จำเลยฎีกาว่า จำเลยมีอาชีพเป็นพ่อค้าเพชร จำเป็นต้องมีเครื่องชั่งเพชรเพื่อใช้ในวิชาชีพของตนเอง ปัญหาวินิจฉัยจึงมีว่าการประกอบอาชีพค้าเพชรเป็นการประกอบวิชาชีพหรือไม่ เห็นว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากรไม่ได้นิยามความหมายของคำว่า “วิชาชีพ” เอาไว้ จึงต้องถือตามความหมายที่ยอมรับกันโดยทั่วไปซึ่งตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายไว้ว่า “อาชีพที่ต้องอาศัยวิชาความรู้ความชำนาญ” ตามความหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การประกอบอาชีพใดจะถือว่าเป็นการประกอบวิชาชีพได้ก็ต่อเมื่อการประกอบอาชีพนั้นจะต้องอาศัยหลักวิชาการแขนงใดแขนงหนึ่งเช่นวิชาชีพกฎหมาย การประกอบโรคศิลป วิศวกรรม ฯลฯ หรือวิชาชีพอื่นอันมีลักษณะทำนองเดียวกันนี้หากการประกอบอาชีพใดไม่ต้องอาศัยวิชาความรู้ความชำนาญตามหลักวิชาการ ย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นการประกอบวิชาชีพ เป็นเพียงการประกอบอาชีพธรรมดาเท่านั้นสำหรับอาชีพค้าเพชรนั้น แม้ว่าคนทั่ว ๆ ไปจะไม่อาจประกอบอาชีพนั้นได้ ถ้าไม่มีความรู้ในเรื่องเพชรดังที่จำเลยอ้างในฎีกาก็ตาม แต่การประกอบอาชีพค้าเพชรก็เพียงแต่อาศัยความรู้ความชำนาญในเรื่องเพชรเช่นเดียวกับการประกอบอาชีพอื่นธรรมดาทั่วไปเท่านั้น หาจำต้องอาศัยหลักวิชาการเฉพาะทางแขนงหนึ่งแขนงใดดังเช่นวิชาชีพต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น การประกอบอาชีพค้าเพชรจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการประกอบวิชาชีพ เครื่องชั่งเพชรที่จำเลยนำเข้ามา จึงมิใช่เป็นของส่วนตัวที่จำเลยนำเข้ามาพร้อมกับตนสำหรับใช้ในวิชาชีพ อันจะได้รับยกเว้นอากรตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 ภาค 4 ประเภทที่ 5 ส่วนไข่มุกจำนวน25 เม็ด ราคา 4,399 บาทจำเลยฎีกาอ้างว่า การที่จำเลยนำเข้ามาเพื่อฝากคนรักของจำเลย ก็มีผลเท่ากับว่าจำเลยใช้เองคือใช้โดยการนำไปมอบให้เป็นของขวัญสำหรับคนรัก จึงเป็นของส่วนตัวอันพึงได้รับยกเว้นอากร นั้นเห็นว่า การยกเว้นอากรตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 ภาค 4 ประเภทที่ 5 กฎหมายบัญญัติยกเว้นให้เฉพาะของส่วนตัวที่เจ้าของนำเข้าพร้อมกับตนสำหรับใช้เองซึ่งเป็นบทบัญญัติที่เป็นข้อยกเว้น จึงต้องตีความโดยเคร่งครัด จำกัดเฉพาะของส่วนตัวสำหรับผู้นำเข้าใช้เองไม่อาจตีความขยายออกไปให้ครอบคลุมถึงของที่ผู้นำเข้าได้นำเข้ามาฝากเป็นของขวัญแก่ผู้อื่นว่ามีผลเท่ากับผู้นำเข้าใช้เองดังที่จำเลยฎีกาได้ ดังนั้น ไข่มุกที่จำเลยนำเข้ามาเพื่อฝากคนรักของจำเลยจึงมิใช่ของส่วนตัวที่จำเลยนำเข้าพร้อมกับตนสำหรับใช้เอง อันจะได้รับยกเว้นอากรตามบทกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปมีว่า จำเลยมีความผิดฐานนำเพชรและพลอยที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 หรือไม่ ซึ่งจำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายประการแรกว่า เพชรและพลอยของกลางเป็นของที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีอากรในการนำเข้า จึงไม่มีกรณีที่จำเลยจะมีความผิดในฐานเจตนาฉ้อค่าภาษีรัฐบาล อันจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 นั้น เห็นว่าเจตนาฉ้อค่าภาษีของรัฐบาลอันเป็นองค์ประกอบความผิดเกี่ยวกับเจตนาพิเศษของมาตรา 27 นี้เป็นองค์ประกอบความผิดสำหรับความผิดบางฐานเท่านั้น เฉพาะความผิดฐานนำของที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้าในราชอาณาจักรนี้ แม้จำเลยจะมิได้มีเจตนาพิเศษที่จะฉ้อค่าภาษีรัฐบาลก็เป็นความผิดได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยในข้อต่อไปว่าโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าเพชรและพลอยของกลางเป็นของที่ต้องห้ามหรือต้องจำกัดด้วยประการใด โจทก์บรรยายแต่เพียงว่าจำเลยนำเพชรและพลอยของกลางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้อง ไม่ปรากฏว่าจำเลยปฏิบัติหรือยกเว้นการปฏิบัติอย่างไรอันจะเป็นความผิด ฟ้องของโจทก์จึงไม่ครบองค์ประกอบของความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 27 ฎีกาในข้อนี้แม้จำเลยจะไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วตั้งแต่ศาลชั้นต้น แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จึงยกขึ้นมาในชั้นนี้ได้ เห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยลักลอบนำพลอยที่ตกแต่งแล้ว จำนวน 1 เม็ด ราคา 8,000 บาทเพชรที่ตกแต่งแล้วจำนวน 11 เม็ด ราคา 733,490 บาท อันเป็นของที่มีถิ่นกำเนิดในต่างประเทศซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียอากรเข้ามาในพระราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ฟ้องของโจทก์ดังกล่าวนี้ได้บรรยายถึงการกระทำของจำเลยที่นำเอาเพชรและพลอยเข้ามาในราชอาณาจักร และบรรยายให้ทราบด้วยว่า แม้เพชรและพลอยจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียอากร แต่ต้องผ่านศุลกากร ตามวิธีการศุลกากรเพื่อการควบคุมเงินตราและวิธีการนำเข้าของประเภทนี้ และบรรยายว่าจำเลยไม่ได้ผ่านศุลกากรเสียให้ถูกต้องจึงมีความผิดในเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงข้อห้ามเกี่ยวกับเพชรและพลอยที่นำเข้า นั้น ฟ้องของโจทก์จึงบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่า จำเลยได้กระทำผิดพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย
พิพากษายืน