แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การประกอบอาชีพค้าเพชรเพียงแต่อาศัยความรู้ความชำนาญในเรื่องเพชรเช่นเดียวกับการประกอบอาชีพอื่นธรรมดาทั่วไป ถือไม่ได้ว่าเป็นการประกอบวิชาชีพ เครื่องชั่งเพชรที่จำเลยนำเข้ามาจึงมิใช่เป็นของส่วนตัวที่จำเลยนำเข้ามาพร้อมกับตนสำหรับใช้ในวิชาชีพอันจะได้รับยกเว้นอากร การยกเว้นอากรตาม พ.ร.ก. พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503ภาค 4 ประเภทที่ 5 ยกเว้นให้เฉพาะของส่วนตัว สำหรับผู้นำเข้าใช้เอง เมื่อเป็นบทบัญญัติที่เป็นข้อยกเว้น จึงต้องตีความโดยเคร่งครัดจำกัดเฉพาะของส่วนตัวสำหรับผู้นำเข้าใช้เอง ไม่อาจตีความขยายออกไปให้ครอบคลุมถึงของที่ผู้นำเข้าได้นำเข้ามาเป็นของขวัญแก่ผู้อื่นว่ามีผลเท่ากับผู้นำเข้าใช้เอง ดังนั้น ไข่มุก ที่จำเลยนำเข้ามาเพื่อฝากคนรักของจำเลยจึงมิใช่ของส่วนตัวที่จำเลยนำเข้าพร้อมกับตนสำหรับใช้เอง แม้เพชรและพลอยของกลางจะเป็นของที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีอากรในการนำเข้า แต่เจตนาฉ้อ ภาษีของ รัฐบาล อันเป็นองค์ประกอบความผิดเกี่ยวกับเจตนาพิเศษของมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากรพ.ศ. 2469 นั้น เป็นองค์ประกอบความผิดสำหรับความผิดบางฐานเท่านั้นเฉพาะความผิดฐานนำของที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักรนี้ แม้จำเลยจะมิได้มีเจตนาพิเศษที่จะฉ้อ ค่าภาษีของ รัฐบาล ก็เป็นความผิดได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ลักลอบนำเครื่องชั่งเพชรจำนวน 1 เครื่องและไข่มุกจำนวน 25 เม็ด ซึ่งเป็นของที่มีถิ่นกำเนิดในต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากร และโดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาล และจำเลยได้ลักลอบนำพลอยที่ตกแต่งแล้วจำนวน1 เม็ด เพชรที่ตกแต่งแล้วจำนวน 11 เม็ด อันเป็นของที่มีถิ่นกำเนิดในต่างประเทศ ซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียอากรเข้ามาในพระราชอาณาจักร โดยไม่ได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้อง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติ ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 พระราชบัญญัติศุลกากร(ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 16, 17 พระราชบัญญัติศุลกากร(ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490 มาตรา 3 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 ริบของกลางทั้งหมด และจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานนำเครื่องชั่งเพชรและไข่มุกเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษีอากร ตามพระราชบัญญัติ ศุลกากร มาตรา 27 ลงโทษปรับสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรด้วยเป็นเงิน 147,781.32 บาท ลงโทษฐานนำเพชรและพลอยที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ตามพระราชบัญญัติ ศุลกากร มาตรา 27 ปรับสี่เท่าราคาของเป็นเงิน2,965,960 บาท รวมปรับ 3,113,741.32 บาท ริบของกลางทั้งหมด ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 มีกำหนด 2 ปีและจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า ของซึ่งจำเลยนำเข้ามาในราชอาณาจักร 2 รายการ คือ เครื่องชั่งเพชร 1 เครื่อง ราคา23,166.33 บาท และไข่มุก 25 เม็ด ราคา 4,399 บาท เป็นของส่วนตัวที่จำเลยนำเข้ามาพร้อมกับตนสำหรับใช้เองหรือใช้ในวิชาชีพและมีจำนวนพอสมควรแก่ฐานะ อันจะได้รับยกเว้นอากรตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 ภาค 4 ประเภทที่ 5 หรือไม่ สำหรับเครื่องชั่งเพชรนั้น จำเลยฎีกาว่า จำเลยมีอาชีพเป็นพ่อค้าเพชร จำเป็นต้องมีเครื่องชั่งเพชรเพื่อใช้ในวิชาชีพของตนเอง ปัญหาวินิจฉัยจึงมีว่าการประกอบอาชีพค้าเพชรเป็นการประกอบวิชาชีพหรือไม่ เห็นว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากรมิได้นิยามความหมายของคำว่า”วิชาชีพ” เอาไว้ จึงต้องถือตามความหมายที่ยอมรับกันโดยทั่วไปซึ่งตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายไว้ว่า”อาชีพที่ต้องอาศัยวิชาความรู้ความชำนาญ” ตามความหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การประกอบอาชีพใดจะถือว่าเป็นการประกอบวิชาชีพได้ก็ต่อเมื่อการประกอบอาชีพนั้นจะต้องอาศัยหลักวิชาการแขนงใดแขนงหนึ่งเช่น วิชาชีพกฎหมาย การประกอบโรคศิลป วิศวกรรม ฯลฯ หรือวิชาชีพอื่นอันมีลักษณะทำนองเดียวกันนี้ หากการประกอบอาชีพใดไม่ต้องอาศัยวิชาความรู้ความชำนาญตามหลักวิชาการ ย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นการประกอบวิชาชีพเป็นเพียงการประกอบอาชีพธรรมดาเท่านั้น สำหรับอาชีพค้าเพชรนั้นแม้ว่าคนทั่ว ๆ ไปจะไม่อาจประกอบอาชีพนี้ได้ ถ้าไม่มีความรู้ในเรื่องเพชรดังที่จำเลยอ้างในฎีกาก็ตาม แต่การประกอบอาชีพค้าเพชรก็เพียงแต่อาศัยความรู้ความชำนาญในเรื่องเพชร เช่นเดียวกับการประกอบอาชีพอื่นธรรมดาทั่วไปเท่านั้น หาจำต้องอาศัยหลักวิชาการเฉพาะทางแขนงหนึ่งแขนงใดดังเช่นวิชาชีพต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นการประกอบอาชีพค้าเพชรจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการประกอบวิชาชีพ เครื่องชั่งเพชรที่จำเลยนำเข้ามา จึงมิใช่เป็นของส่วนตัวที่จำเลยนำเข้ามาพร้อมกับตนสำหรับใช้ในวิชาชีพ อันจะได้รับยกเว้นอากรตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 ภาค 4 ประเภทที่ 5 ส่วนไข่มุกจำนวน25 เม็ด จำเลยฎีกาอ้างว่า การที่จำเลยนำเข้ามาเพื่อฝากคนรักของจำเลย ก็มีผลเท่ากับว่าจำเลยใช้เอง คือใช้โดยการนำไปมอบให้เป็นของขวัญสำหรับคนรัก จึงเป็นของส่วนตัวอันพึงได้รับยกเว้นอากร นั้นเห็นว่า การยกเว้นอากรตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503ภาค 4 ประเภทที่ 5 กฎหมายบัญญัติยกเว้นให้เฉพาะของส่วนตัวที่เจ้าของนำเข้าพร้อมกับตนสำหรับใช้เองซึ่งเป็นบทบัญญัติที่เป็นข้อยกเว้น จึงต้องตีความโดยเคร่งครัด จำกัดเฉพาะของส่วนตัวสำหรับผู้นำเข้าใช้เอง ไม่อาจตีความขยายออกไปให้ครอบคลุมถึงของที่ผู้นำเข้าได้นำเข้ามาฝากเป็นของขวัญแก่ผู้อื่นว่ามีผลเท่ากับผู้นำเข้าใช้เองดังที่จำเลยฎีกาได้ ดังนั้นไข่มุกที่จำเลยนำเข้ามาเพื่อฝากคนรักของจำเลย จึงมิใช่ของส่วนตัวที่จำเลยนำเข้าพร้อมกับตนสำหรับใช้เองอันจะได้รับยกเว้นอากรตามบทกฎหมายดังกล่าวเช่นกันฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปมีว่า จำเลยมีความผิดฐานนำเพชรและพลอยที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติ ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 หรือไม่ ซึ่งจำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายประการแรกว่า เพชรและพลอยของกลางเป็นของที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีอากรในการนำเข้า จึงไม่มีกรณีที่จำเลยจะมีความผิดในฐานเจตนาฉ้อค่าภาษีรัฐบาล อันจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติ ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 นั้น เห็นว่าเจตนาฉ้อค่าภาษีของรัฐบาล อันเป็นองค์ประกอบความผิดเกี่ยวกับเจตนาพิเศษของมาตรา 27 นี้ เป็นองค์ประกอบความผิดสำหรับความผิดบางฐานเท่านั้นเฉพาะความผิดฐานนำของที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้าในราชอาณาจักรนี้แม้จำเลยจะมิได้มีเจตนาพิเศษที่จะฉ้อค่าภาษีรัฐบาลก็เป็นความผิดได้…”
พิพากษายืน.