แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกโจทก์มาไต่สวนตามป.รัษฎากร มาตรา 19 และโจทก์ได้ให้ถ้อยคำกับแสดงหลักฐาน จนเจ้าพนักงานประเมินทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์แล้วแต่เจ้าพนักงานประเมินกลับดำเนินการตาม มาตรา 49 ในการประเมินภาษีจากโจทก์ก็ตาม ก็ไม่ทำให้การประเมินที่ชอบแล้วกลายเป็นการประเมินที่ไม่ชอบขึ้นได้ เพราะมาตรา 19 มิได้บัญญัติห้ามไว้ว่าเมื่อออกหมายเรียกไต่สวนตามมาตรา 19 แล้ว ห้ามมิให้ดำเนินการประเมินตามมาตรา 49 เหตุที่เจ้าพนักงานประเมินจะขออนุมัติอธิบดีกรมสรรพากรเพื่อให้ตนมีอำนาจกำหนดจำนวนเงินได้สุทธิขึ้นตาม ป.รัษฎากร มาตรา 49นั้น นอกจากในกรณีที่ผู้มีเงินได้มิได้ยื่นรายการเงินได้แล้วในกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินพิจารณาเห็นว่า ผู้มีเงินได้ยื่นรายการเงินได้ต่ำกว่าจำนวนที่ควรต้องยื่น ก็ขออนุมัติได้ด้วย ในกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินพิจารณา เห็นว่า ผู้มีเงินได้ยื่นรายการเงินได้ต่ำกว่าจำนวนที่ควรต้องยื่นนั้นเจ้าพนักงานประเมินจะได้ข้อเท็จจริงดังกล่าวมาจากผู้มีเงินได้หรือจากบุคคลภายนอกก็นำมาเป็นเหตุในการขออนุมัติอธิบดีกรมสรรพากรเพื่อกำหนดจำนวนเงินได้สุทธิของผู้มีเงินได้ขึ้นได้ทั้งสิ้นป.รัษฎากร มาตรา 49 มิได้มีข้อจำกัดไว้ว่าจะต้องได้ข้อเท็จจริงมาจากบุคคลภายนอกเท่านั้น หรือจะนำข้อเท็จจริงที่ได้จากผู้มีเงินได้มาเป็นเหตุในการขออนุมัติอธิบดีกรมสรรพากรในการกำหนดเงินได้สุทธิขึ้นมาไม่ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปี พ.ศ. 2516 ถึง พ.ศ. 2520 และเสียภาษีไว้ถูกต้อง ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายเรียกโจทก์ไปไต่สวนแล้วกำหนดเงินได้สุทธิของโจทก์ขึ้นและประเมิน เรียกเก็บภาษีกับเงินเพิ่มจากโจทก์ สำหรับปี พ.ศ. 2517, พ.ศ. 2519 และพ.ศ. 2520โจทก์อุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว กรณีมีเหตุอันควรผ่อนผันจึงลดเงินเพิ่มลงให้เรียกเก็บจากโจทก์เพียงร้อยละ 50ของเงินเพิ่มตามกฎหมาย ให้โจทก์นำเข้าภาษีอากรกับเงินเพิ่มสำหรับปี พ.ศ. 2517 พ.ศ. 2519 และ พ.ศ. 2520 ไปชำระเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 5,000,000 บาทเศษ โจทก์ไม่เห็นด้วย ขอให้พิพากษาเพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์
จำเลยให้การว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว
ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อแรกมีว่า การที่เจ้าพนักงานประเมินหมายเรียกโจทก์มาไต่สวนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19 แล้วกลับใช้อำนาจประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 49 จะเป็นการชอบหรือไม่และมีกรณีใดบ้างที่เจ้าพนักงานประเมินจะใช้อำนาจประเมินตามประมวลรัษฎากรมาตรา 49 ได้ เห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 49 บัญญัติว่าในกรณีที่ผู้มีเงินได้มิได้ยื่นรายการเงินได้ หรือเจ้าพนักงานประเมินพิจารณาเห็นว่าผู้มีเงินได้ยื่นรายการเงินได้ต่ำกว่าจำนวนที่ควรต้องยื่นให้เจ้าพนักงานประเมินโดยอนุมัติอธิบดี มีอำนาจที่จะกำหนดจำนวนเงินได้สุทธิขึ้น ทั้งนี้ โดยถือเงินหรือทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์หรือเข้ามาอยู่ในครอบครองของผู้มีเงินได้ หรือรายจ่ายของผู้มีเงินได้หรือฐานะความเป็นอยู่ หรือพฤติการณ์ของผู้มีเงินได้หรือสถิติเงินได้ของผู้มีเงินได้เองหรือของผู้อื่นที่กระทำกิจการทำนองเดียวกับผู้มีเงินได้เป็นหลักในการพิจารณา แล้วทำการประเมินแจ้งจำนวนเงินที่ต้องชำระไปยังผู้ต้องเสียภาษี ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา 19 ถึงมาตรา 26 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ข้อเท็จจริงได้ความตามที่จำเลยนำสืบโดยโจทก์มิได้นำสืบโต้แย้งไว้ว่า เจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายเรียกโจทก์มาไต่สวนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19 โจทก์ได้มาให้ถ้อยคำและนำหลักฐานมาแสดงต่อเจ้าพนักงานจนเจ้าพนักงานประเมินได้ทราบข้อเท็จจริงถึงเงินสดและทรัพย์สิน ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์และที่อยู่ในความครอบครองของโจทก์ ตลอดจนรายจ่ายของโจทก์แล้วนำไปคำนวณหาทรัพย์สินสุทธิปลายปีของแต่ละปี ตั้งแต่พ.ศ. 2515 ถึง พ.ศ. 2520 ต่อจากนั้นนำไปคำนวณหาทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงของแต่ละปีเอาไปปรับปรุงคำนวณหาเงินได้สุทธิของแต่ละปี ปรากฏว่าโจทก์มีเงินได้สุทธิในปี พ.ศ. 2516 จำนวน350,033.25 บาท ปี พ.ศ. 2517 จำนวน 1,157,409.36 บาท ปี พ.ศ. 2518จำนวน 340,532.67 บาท ปี พ.ศ. 2519 จำนวน 5,972,667.45 บาทปี พ.ศ. 2520 จำนวน 2,637,202.55 บาท เมื่อคำนวณภาษีแล้วปรากฏว่าโจทก์จะต้องเสียภาษีเพิ่ม สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปี พ.ศ. 2527 จำนวน 389,877.65 บาท ของปี พ.ศ. 2519 จำนวน3,352,305.23 บาท ของปี พ.ศ. 2520 จำนวน 1,266,666.75 บาทเจ้าพนักงานประเมินพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ยื่นรายการเงินได้ต่ำกว่าจำนวนที่ควรต้องยื่นจึงได้ขออนุมัติอธิบดีกรมสรรพากรกำหนดจำนวนเงินได้สุทธิของโจทก์ขึ้นดังกล่าว ซึ่งอธิบดีกรมสรรพากรก็ได้อนุมัติแล้ว เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจกำหนดจำนวนเงินได้สุทธิของโจทก์ขึ้น โจทก์ต้องเสียภาษีเพิ่มและเสียเงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 22 อีกร้อยละ 20 แห่งเงินภาษีที่เพิ่มขึ้นตามบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปีภาษีดังกล่าว ซึ่งประมวลรัษฎากรมาตรา 49 ให้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลม คำนวณเป็นเงินเพิ่มสำหรับภาษีของปี พ.ศ. 2517 พ.ศ. 2519 และ พ.ศ. 2520 ได้จำนวน 77,975.53บาท 670,461.05 บาท และ 253,333.35 ตามลำดับ เจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระเพิ่มและเงินเพิ่มที่จะต้องชำระสำหรับปี พ.ศ. 2517 พ.ศ. 2519 และ พ.ศ. 2520 ดังกล่าว ให้โจทก์ทราบอันเป็นการปฏิบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 49 แล้วจึงเป็นการประเมินที่ชอบด้วยกฎหมายแม้เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกโจทก์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19แล้วต่อมาจึงได้ดำเนินการตามประมวลรัษฎากร มาตรา 49 ในการประเมินภาษีจากโจทก์ก็ตาม ก็ไม่ทำให้การประเมินที่ชอบดังวินิจฉัยแล้วกลายเป็นการประเมินที่ไม่ชอบขึ้นได้เพราะประมวลรัษฎากร มาตรา 19มิได้บัญญัติห้ามไว้ว่าเมื่อออกหมายเรียกไต่สวนตามประมวลรัษฎากรมาตรา 19 แล้วห้ามมิให้ดำเนินการประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 49และเหตุที่เจ้าพนักงานประเมินจะขออนุมัติอธิบดีกรมสรรพากรเพื่อให้ตนมีอำนาจกำหนดจำนวรเงินได้สุทธิขึ้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา 49นั้น นอกจากในกรณีที่ผู้มีเงินได้มิได้ยื่นรายการเงินได้แล้ว ในกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินพิจารณาเห็นว่า ผู้มีเงินได้ยื่นรายการเงินได้ต่ำกว่าจำนวนที่ควรต้องยื่นก็ขออนุมัติได้ด้วยดังที่กฎหมายมาตราดังกล่าวบัญญัติไว้ ในกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินพิจารณาเห็นว่า ผู้มีเงินได้ยื่นรายการเงินได้ต่ำกว่าจำนวนที่ควรต้องยื่นนั้นเจ้าพนักงานประเมินจะได้ข้อเท็จจริงดังกล่าวมาจากผู้มีเงินได้หรือจากบุคคลภายนอกก็นำมาเป็นเหตุในการขออนุมัติอธิบดีกรมสรรพากรเพื่อกำหนดจำนวนเงินได้สุทธิของผู้มีเงินได้ขึ้นได้ทั้งสิ้นประมวลรัษฎากร มาตรา 49 ไม่ได้มีข้อจำกัดไว้ว่าจะต้องได้ข้อเท็จจริงมาจากบุคคลภายนอกเท่านั้น หรือจะนำข้อเท็จจริงที่ได้จากผู้มีเงินได้มาเป็นเหตุในการขออนุมัติอธิบดีกรมสรรพากรในการกำหนดเงินได้สุทธิของโจทก์ขึ้นไม่ได้ตามที่โจทก์อุทธรณ์…”
พิพากษายืน.