คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5303/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่จำเลยฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่าการตรวจค้นและจับกุมจำเลยเจ้าพนักงานตำรวจไม่มีหมายค้นและไม่ได้เป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า การตรวจค้นบ้านจำเลยและจับกุมจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย บันทึกการตรวจค้นและ จับกุมจึงไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานลงโทษจำเลยได้นั้น จำเป็นต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงเสียก่อนว่าเจ้าพนักงานตำรวจพบพฤติกรรมซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าจำเลยได้กระทำความผิดมาแล้วสด ๆ อันถือได้ว่าเป็นความผิด ซึ่งหน้าหรือไม่ จึงเป็นการฎีกาโต้เถียงในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๗, ๑๕, ๖๖, ๖๗ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก ๕ ปี ฐานจำหน่ายเสพติดให้โทษ ในประเภท ๑ จำคุก ๕ ปี รวมจำคุก ๑๐ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่โทษจำคุกไม่เกินห้าปี ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง คดีนี้ศาลชั้นต้นเรียงกระทงลงโทษจำเลยในความผิดฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ และฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ไว้ใน ครอบครองเพื่อจำหน่าย ให้จำคุกกระทงละ ๕ ปี แม้ศาลชั้นต้นรวมโทษเข้าด้วยกันเป็นจำคุกจำเลย ๑๐ ปี แต่การพิจารณาสิทธิฎีกาของคู่ความนั้นจะต้องแยกพิจารณาโทษแต่ละกระทงเป็นเกณฑ์ ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษายืน ตามศาลชั้นต้น คดีจึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามบทกฎหมายข้างต้น ฎีกาของจำเลยที่ว่า การตรวจค้นและจับกุมจำเลยนั้น เจ้าพนักงานตำรวจไม่มีหมายค้นและไม่ได้เป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า การตรวจค้นบ้านจำเลยและจับกุมจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย บันทึกการตรวจค้นและจับกุมเอกสารหมาย จ.๕ จึงไม่อาจรับฟังเป็นพยาน หลักฐานลงโทษจำเลยได้นั้น เห็นว่า การที่จะวินิจฉัยว่าเจ้าพนักงานตำรวจค้นบ้านจำเลยโดยมีหมายค้นหรือไม่ และ เจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจจับกุมจำเลยโดยไม่มีหมายจับได้หรือไม่ จำเป็นต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงเสียก่อนว่า เจ้าพนักงานตำรวจพบพฤติกรรมซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยว่า จำเลยได้กระทำความผิดมาแล้วสด ๆ อันถือได้ว่าเป็นความผิดซึ่งหน้าหรือไม่ จึงเป็นการฎีกาโต้เถียงในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว อันเป็นฎีกา ในปัญหาข้อเท็จจริง ดังนั้น ฎีกาของจำเลยจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ วรรคหนึ่ง ดังกล่าวข้างต้น แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยขึ้นมา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษาให้ยกฎีกาจำเลย
(โนรี จันทร์ทร – พินิจ เพชรรุ่ง – ทวีวัฒน์ แดงทองดี)

Share