คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 788/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่บริษัท ภ. เจ้าหนี้ของจำเลยได้นำเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่โจทก์ทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกของ ค. ผู้ค้ำประกันจำนำไว้ไปหักชำระหนี้แทนจำเลย โดยบริษัท ภ. นำไปคิดหักเป็นค่าดอกเบี้ยของดอกเบี้ยที่จำเลยค้างชำระจำนวนหนึ่งด้วย เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง และจำเลยไม่ต้องรับผิดชำระเงินค่าดอกเบี้ยของดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าว โจทก์ทั้งสามจึงต้องไปว่ากล่าวเอาแก่บริษัท ภ. ที่คิดหักเอาไปเอง ไม่อาจรับช่วงสิทธิมาฟ้องไล่เบี้ยเอาเงินจำนวนดังกล่าวคืนจากจำเลยได้ คงมีแต่เพียงสิทธิฟ้องไล่เบี้ยเอาต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินคืนจากจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 693 เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 4,274,167.22 บาท พร้อมด้วยค่าเสียหายอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,847,221.97 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยถึงแก่กรรม โจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องขอให้เรียกนายกิตติรักษ์ ผู้จัดการมรดกของจำเลย เข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,847,221.97 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 มีนาคม 2531 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม ให้คืนค่าขึ้นศาลในอนาคตที่เสียเกินมาจำนวน 100 บาท แก่โจทก์ทั้งสาม กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียม (ชั้นพิจารณาในศาลชั้นต้น) แทนโจทก์ทั้งสามตามทุนทรัพย์เท่าที่โจทก์ทั้งสามชนะคดี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อปี 2526 จำเลยได้ทำสัญญากู้เงินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ จำกัด จำนวน 15,000,000 บาท โดยมีนางเครือทิพย์เป็นผู้ทำสัญญาค้ำประกันและจดทะเบียนจำนองที่ดินรวม 5 แปลง เป็นประกันการชำระหนี้ของจำเลยดังกล่าว และในปี 2527 จำเลยได้ชำระต้นเงินกู้จำนวน 3,000,000 บาท ให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ จำกัด คงค้างชำระต้นเงินจำนวน 12,000,000 บาท ครั้นปี 2528 นางเครือทิพย์ถึงแก่ความตาย ศาลมีคำสั่งตั้งโจทก์ทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกของนางเครือทิพย์ ต่อมาวันที่ 23 เมษายน 2529 บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ จำกัด ได้มีหนังสือถึงนางเครือทิพย์ขอให้ชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนอง ครั้นวันที่ 18 กันยายน 2529 โจทก์ทั้งสามได้ขายที่ดินที่จำนองของนางเครือทิพย์แล้วนำเงินไปชำระหนี้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ จำกัด แทนจำเลยเป็นเงินจำนวน 12,000,000 บาท แต่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ จำกัด อ้างว่าจำเลยยังคงค้างชำระหนี้อยู่อีก 1,726,331.50 บาท โจทก์ทั้งสามจึงนำตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวนเงิน 1,753,000 บาท ไปจำนำไว้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ จำกัด เป็นประกันหนี้ดังกล่าว ต่อมาวันที่ 10 มีนาคม 2531 บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ จำกัด ได้หักเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินและดอกเบี้ยของตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวไปชำระหนี้ของจำเลยจำนวน 1,726,331.50 บาท กับดอกเบี้ยจำนวน 120,890.47 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 1,847,221.97 บาท โจทก์ทั้งสามจึงมอบหมายให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวคืนแก่กองมรดกของนางเครือทิพย์แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์ทั้งสามจึงมาฟ้องไล่เบี้ยเอาเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยเป็นคดีนี้…
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์ทั้งสามมีสิทธิฟ้องไล่เบี้ยเอาเงินค่าดอกเบี้ยจำนวน 120,890.47 บาท ซึ่งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ จำกัด ได้หักชำระหนี้จากตั๋วสัญญาใช้เงินของโจทก์ทั้งสามคืนจากจำเลยได้ด้วยหรือไม่ หลังจากโจทก์ทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเครือทิพย์ได้ขายที่ดินที่จำนองของนางเครือทิพย์นำเงินมาชำระหนี้แทนจำเลยจำนวน 12,000,000 บาท ไปแล้ว โจทก์ทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเครือทิพย์ได้ฟ้องไล่เบี้ยเอาเงินจำนวนดังกล่าวคืนจากจำเลย และศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดยืนตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 12,000,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสามพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 กันยายน 2529 จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่า โจทก์ทั้งสามขายที่ดินที่จำนองนำเงินมาชำระหนี้ต้นเงินจำนวน 12,000,000 บาท ให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ จำกัด คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันโจทก์ทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเครือทิพย์และจำเลยในคดีนี้ซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ซึ่งคู่ความคดีนี้ไม่อาจนำสืบเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นอย่างอื่นได้อีก ข้อเท็จจริงในคดีนี้จึงต้องรับฟังตามคดีดังกล่าวว่า เงินจำนวน 12,000,000 บาท ที่โจทก์ทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเครือทิพย์ชำระให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ จำกัด เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2529 นั้น เป็นการชำระเฉพาะต้นเงินที่จำเลยค้างชำระอยู่ในวันดังกล่าว ฉะนั้นเงินจำนวน 1,726,331.50 บาท ที่จำเลยค้างชำระอยู่ในวันดังกล่าวจึงต้องรับฟังเป็นที่ยุติว่า เป็นเงินค่าดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวน 12,000,000 บาท เมื่อข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ทั้งสามฟังเป็นที่ยุติได้ดังนี้แล้ว บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ จำกัด ย่อมไม่อาจคิดดอกเบี้ยจากดอกเบี้ยที่จำเลยค้างชำระดังกล่าวได้อีกเพราะต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง เงินค่าดอกเบี้ยจำนวน 120,890.47 บาท ที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ จำกัด คิดหักจากเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินของโจทก์ทั้งสาม จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสามจะต้องไปว่ากล่าวกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ จำกัด เอาเอง โจทก์ทั้งสามไม่อาจได้รับช่วงสิทธิมาฟ้องไล่เบี้ยเอาเงินค่าดอกเบี้ยจำนวน 120,890.47 บาท ดังกล่าวคืนจากจำเลยได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสามในเงินค่าดอกเบี้ยจำนวน 120,890.47 บาท มาด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,726,331.50 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 มีนาคม 2531 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเครือทิพย์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share