คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5295/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยเรื่องผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเรียกค่าเสียหาย 160,000 บาท โดยโจทก์ได้วางเงินมัดจำไว้เป็นเงิน 80,000 บาท ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์80,000 บาท โจทก์กลับมาฟ้องเป็นคดีนี้ว่าจำเลยผิดสัญญาขอเรียกเงินมัดจำ 80,000 บาท คืน มูลกรณีเรื่องเรียก เงินมัดจำคืนเป็นมูลกรณีเดียวกันกับการฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญา ซึ่งโจทก์อาจฟ้องในคดีแรกได้ การที่โจทก์กลับนำ คดีมาแยกฟ้องจำเลยคนเดียวกันเป็นคดีใหม่ ถือได้ว่าเป็นการ รื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุ อย่างเดียวกันคือมูลกรณีเรื่องผิดสัญญาหรือไม่นั่นเอง จึงเป็น ฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2531โจทก์ทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 219 และเลขที่ 216 แก่จำเลยในราคา 478,500 บาท ได้วางเงินมัดจำเป็นเงิน 80,000 บาท ตกลงจะไปโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 31มีนาคม 2532 หากจำเลยผิดสัญญายินยอมชำระค่าเสียหายเป็นเงิน160,000 บาท ต่อมาจำเลยผิดสัญญาดังกล่าว โจทก์ทั้งสองได้ฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2532เรียกค่าเสียหายจำนวน 160,000 บาท ตามคดีหมายเลขแดงที่18610/2532 โดยมิได้เรียกเงินมัดจำคืน ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง และคดีถึงที่สุด ต่อมาโจทก์ทั้งสองทวงถามให้จำเลยชำระเงินวางมัดจำ แต่จำเลยเพิกเฉยโจทก์ให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้ชำระ จำเลยยังคงเพิกเฉยไม่ชำระทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 97,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 80,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสองได้ฟ้องจำเลยและภริยาในมูลสัญญาจะซื้อจะขายเรียกค่าเสียหาย และศาลได้มีคำพิพากษาแล้วตามคดีหมายเลขแดงที่ 18610/2532 ของศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุดแล้วดังนั้น คดีจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีเดิมเพราะฟ้องโจทก์ทั้งสองเรียกเงินมัดจำโดยอาศัยมูลสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิม ซึ่งชอบที่จะเรียกมาพร้อมกับค่าเสียหายในคดีเดิมหรือเป็นฟ้องซ้ำกับคดีเดิม เนื่องจากเงินค่ามัดจำเป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่ง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ทั้งสองว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสองคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 18610/2532 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าเดิมโจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยเรื่องผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเรียกค่าเสียหาย 160,000 บาท โดยโจทก์ทั้งสองได้วางเงินมัดจำไว้เป็นเงิน 80,000 บาท ปรากฏตามคดีหมายเลขแดงที่ 18610/2532 ของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง 80,000 บาท โจทก์ทั้งสองกลับมาฟ้องเป็นคดีนี้ว่า จำเลยผิดสัญญาขอเรียกเงินมัดจำ 80,000 บาท คืน พิเคราะห์แล้วเห็นว่า มูลกรณีเรื่องเรียกเงินมัดจำคืนเป็นมูลกรณีเดียวกันกับการฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญาซึ่งถึงที่สุดไปแล้วซึ่งโจทก์ทั้งสองอาจฟ้องเรียกเงินมัดจำคืนรวมไปในการฟ้องคดีแรกการที่โจทก์ทั้งสองกลับนำคดีมาแยกฟ้องจำเลยคนเดียวกันเป็นคดีใหม่เช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันคือมูลกรณีเรื่องผิดสัญญาหรือไม่นั่นเอง ฟ้องโจทก์ทั้งสองคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองนั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share