คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5294/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ในชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำเด็กหญิง ว. ซึ่งมีอายุ 13 ปีเศษ ในฐานะพยาน โดยไม่ได้จัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำ คำให้การของเด็กหญิง ว. จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่ง แต่ผลของการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรานี้ คงทำให้คำให้การในชั้นสอบสวนของเด็กหญิง ว. ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 243 วรรคสอง เท่านั้น ไม่เป็นเหตุให้การสอบสวนของพนักงานสอบสวนเสียไปทั้งหมด ถือได้ว่ามีการสอบสวนความผิดในคดีนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
แม้การสอบสวนเด็กหญิง ว. ซึ่งมีอายุไม่เกิน 18 ปี จะไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่ง แต่เมื่อในชั้นพิจารณาโจทก์อ้างเด็กหญิง ว. เป็นพยาน และเด็กหญิง ว. ได้เบิกความต่อหน้าศาลโดยผ่านนักสังคมสงเคราะห์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 172 ตรี แล้ว ศาลย่อมรับฟังคำเบิกความของเด็กหญิง ว. เป็นพยานได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2546 เวลากลางวันจำเลยใช้มีดปลายแหลม ใบมีดยาวประมาณ 20 เซนติเมตร กว้างประมาณ 3 เซนติเมตร เป็นอาวุธแทงนางสุกัลยา ประเสริฐศิริวัฒน์ ผู้ตาย หลายครั้ง ถูกบริเวณหน้าอกและช่องท้องซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญโดยมีเจตนาฆ่า เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 33 ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 จำคุก 16 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 ปี มีดปลายแหลมของกลางเป็นทรัพย์ที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดจึงให้ริบ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า คดีนี้การสอบสวนเด็กหญิงวาสนา โสมโสดา พยานซึ่งมีอายุไม่เกิน 18 ปี มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรา 133 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความหมายอาญา เป็นการสอบสวนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นผลให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สามปีขึ้นไป หรือในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่ถึงสามปีและผู้เสียหายหรือพยานซึ่งเป็นเด็กร้องขอ หรือในคดีทำร้ายร่างกายเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี การถามปากคำเด็กไว้ในฐานะเป็นผู้เสียหายหรือพยานให้แยกกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำนั้นด้วย” บทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่า สำหรับการสอบสวนผู้เสียหายหรือพยานอายุไม่เกิน 18 ปี พนักงานสอบสวนจะต้องกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบสวนนั้นด้วย ซึ่งเป็นบทบังคับเด็ดขาดให้พนักงานสอบสวนต้องจัดทำ เว้นแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่ง ซึ่งมีเหตุอันควรไม่อาจรอบุคคลดังกล่าวพร้อมกันได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 133 ทวิ วรรคห้า คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำเด็กหญิงวาสนา โสมสุดา ซึ่งมีอายุ 13 ปีเศษ ในฐานะพยาน โดยไม่ได้จัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำแต่อย่างใด ทั้งไม่เข้าเหตุกรณีจำเป็นเร่งด่วนตามวรรคห้าของบทบัญญัติข้างต้นด้วย ดังนี้ คำให้การของเด็กหญิงวาสนาในชั้นสอบสวนจึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว แต่ผลของการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรานี้ คงทำให้คำให้การในชั้นสอบสวนของเด็กหญิงวาสนาไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 243 วรรคสอง เท่านั้น หาเป็นเหตุให้การสอบสวนของพนักงานสอบสวนเสียไปทั้งหมดดังที่จำเลยฎีกาไม่ กรณีถือได้ว่าพนักงานสอบสวนได้มีการสอบสวนความผิดในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีเด็กหญิงวาสนา โสมโสดา เป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุพยานกำลังนั่งเด็ดผักชีอยู่ที่บริเวณหน้าร้านอาหารของจำเลยกับผู้ตาย ได้ยินเสียงผู้ตายร้องว่า “เฮียชาติอย่า” พยานจึงหันไปดูที่จำเลยกับผู้ตายซึ่งอยู่ภายในร้านอาหาร เห็นจำเลยล็อกคอผู้ตายและใช้มีดแทงที่บริเวณหน้าอกของผู้ตาย พยานจึงวิ่งออกไปเรียกให้คนช่วย ต่อมามีเจ้าพนักงานตำรวจมาที่เกิดเหตุพยานมองเข้าไปในร้านอาหารเห็นผู้ตายนอนอยู่ที่พื้น ส่วนจำเลยใช้มีดแทงตัวเอง เห็นว่า แม้การสอบสวนเด็กหญิงวาสนาซึ่งมีอายุไม่เกิน 18 ปี จะไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่เมื่อในชั้นพิจารณาโจทก์อ้างเด็กหญิงวาสนาเป็นพยาน และเด็กหญิงวาสนาได้เบิกความต่อหน้าศาลโดยผ่านนักสังคมสงเคราะห์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ตรี แล้ว ศาลย่อมรับฟังคำเบิกความของเด็กหญิงวาสนาเป็นพยานได้ เด็กหญิงวาสนาพยานโจทก์เป็นลูกจ้างทำงานอยู่ที่ร้านอาหารที่เกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุอยู่ห่างจากจำเลยและผู้ตายเพียง 2 ถึง 3 เมตร และเป็นช่วงเวลาเช้าแล้ว จึงสามารถมองเห็นเหตุการณ์ได้ถนัดชัดเจน ทั้งไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์ดังกล่าวเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุที่จะเบิกความปรักปรำจำเลย นอกจากนี้โจทก์ยังมีจ่าสิบตำรวจวิสิทธิ์ มณีขวัญ ผู้จับกุมจำเลยและพันตำรวจโทวินัย อินทร์แก้ว พนักงานสอบสวน เบิกความสนับสนุนในทำนองเดียวกันว่า หลังจากได้รับแจ้งทางวิทยุสื่อสารว่ามีเหตุทำร้ายกันที่ร้ายนำชัยโอชา พยานทั้งสองจึงเดินทางไปยังที่เกิดเหตุ พบจำเลยยืนถือมีดปลายแหลมอยู่ภายในร้านอาหาร โดยมีร่างผู้ตายนอนแน่นิ่งอยู่บริเวณใกล้เคียง จำเลยไม่ยอมให้จับกุมและใช้มีดที่ถืออยู่แทงทำร้ายตัวเอง พฤติการณ์ตามคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองซึ่งไปถึงที่เกิดเหตุในระยะเวลาใกล้ชิดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว แสดงว่าจำเลยเป็นผู้ที่ใช้มีดแทงทำร้ายผู้ตาย สอดคล้องกับคำเบิกความของเด็กหญิงวาสนาและสนับสนุนคำเบิกความของเด็กหญิงวาสนาที่ว่าเห็นจำเลยใช้มีดแทงผู้ตายให้มีน้ำหนักน่ารับฟังมากยิ่งขึ้น ประกอบกับชั้นพิจารณาจำเลยก็ให้การรับสารภาพและนำสืบว่าใช้มีดแทงผู้ตายเนื่องจากจำเลยเครียดและบันดาลโทสะ ดังนี้ คำเบิกความพยานโจทก์ทั้งสามจึงมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยใช้มีดของกลางแทงทำร้ายผู้ตายจริง และการที่จำเลยใช้มีดปลายแหลมของกลางใบมีดยาวประมาณ 20 เซนติเมตร กว้างประมาณ 3 เซนติเมตร แทงผู้ตายที่บริเวณอวัยวะสำคัญโดยแรงหลายครั้ง โดยปรากฏตามรายงานการชันสูตรพลิกศพเอกสารหมาย จ.10 ว่า ผู้ตายมีบาดแผลถูกแทงที่บริเวณหน้าอก ใต้ชายโครงขวา แขนซ้าย และบริเวณราวนมขวา บาดแผลที่หน้าอกทะลุเข้าภายในและที่ให้ชายโครงขวาทะลุช่องท้อง เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย เนื่องจากเสียโลหิตมาก พฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตาย พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน.

Share