แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อเท็จจริงในสำนวนปรากฏเพียงว่าโจทก์ได้รับเงินเดือน48,400 บาท ค่ารับรอง-ของขวัญ 5,000 บาท และค่าตอบแทนอื่น ๆ30,000 บาท แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยจ่ายเงินค่ารับรอง-ของขวัญและเงินค่าตอบแทนอื่น ๆ ให้แก่โจทก์ด้วยเหตุใด เป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานหรือไม่ จึงไม่อาจวินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยที่ว่า ค่ารับรองของขวัญและค่าตอบแทนอื่น ๆ ดังกล่าวเป็น ค่าจ้างหรือไม่ศาลฎีกาให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานพิจารณา และวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวก่อน ศาลแรงงานกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เนื่องจากเห็นว่าจำเลย เลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม โดยมิได้กำหนดค่าเสียหายที่เกิด จากการถูกบุคคลอื่น ดูหมิ่นเหยียดหยาม เสื่อมเสียชื่อเสียงและ เสียประวัติการทำงาน การที่จำเลยอุทธรณ์ว่าค่าเสียหายส่วนที่ ศาลแรงงานไม่ได้กำหนดให้โจทก์ไม่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานนั้น จำเลยมิได้โต้แย้งหรือคัดค้านว่าศาลแรงงานกำหนดค่าเสียหาย จากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมให้โจทก์ไม่ถูกต้อง อย่างไร และที่ถูกต้องควรเป็นเช่นไร จึงเป็นอุทธรณ์ที่ ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงาน และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างเป็นเงิน 83,400 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเงิน 49,281.70 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 83,400 บาท ค่าชดเชยเป็นเงิน 500,400 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 1,000,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยขาดนัด ศาลแรงงานกลางพิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียว
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2537 ครั้งสุดท้ายทำหน้าที่รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและผู้อำนวยการนอกเวลา ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 83,400 บาทต่อมาวันที่ 12 พฤศจิกายน 2541 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ทำไม่ครบ 6 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วันเป็นเงิน 500,400 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 83,400 บาท จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ปรากฏเหตุจำเป็นถือว่า เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม แต่โจทก์เบิกความลอย ๆ ว่า การเลิกจ้างดังกล่าวทำให้โจทก์ได้รับความอับอายเสื่อมเสียชื่อเสียงและประวัติการทำงานเท่านั้น เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงิน 250,200 บาท นอกจากนี้โจทก์เสียสิทธิในการหยุดพักผ่อนประจำปี 2541 รวม 13 วัน เป็นเงิน 36,140 บาท จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2541 โจทก์มีฐานะเป็นลูกจ้างจำเลยเพียงถึงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2541 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างเดือนพฤศจิกายน 2541 จำนวน 30,580 บาท เท่านั้นซึ่งจำเลยจ่ายค่าจ้างจำนวนดังกล่าวให้โจทก์แล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 83,400 บาท ค่าชดเชยจำนวน 500,400 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 250,200 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 36,140 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยว่า จำเลยให้ค่าจ้างโจทก์เดือนละ 48,400 บาท ส่วนเงินค่ารับรองจำนวน 5,000 บาท และเงินค่าตอบแทนจำนวน 30,000 บาท โจทก์ต้องนำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการรับรองผู้มาเยี่ยมเยือน และผู้ที่จำเลยต้องติดต่อด้วยเพื่อการบริหารงาน และเพื่อประโยชน์ในกิจการงานของจำเลยไม่ใช่เงินค่าตอบแทนการทำงานของโจทก์ จึงไม่ใช่ค่าจ้างที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ เห็นว่าในใบสำคัญจ่าย เอกสารหมาย จ.3 ที่โจทก์อ้างประกอบคำเบิกความระบุรายละเอียดว่าโจทก์ได้รับเงินเดือน 48,400 บาท ค่ารับรอง-ของขวัญ 5,000 บาท และค่าตอบแทนอื่น ๆ 30,000 บาท แต่ในสำนวนไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยจ่ายเงินค่ารับรอง-ของขวัญและเงินค่าตอบแทนอื่น ๆ ให้แก่โจทก์ด้วยเหตุใด เป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานหรือไม่ ในชั้นนี้จึงไม่อาจจะวินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยข้อนี้ได้ จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาและวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ก่อน
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์อีกว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดจากการถูกบุคคลอื่นดูหมิ่นเหยียดหยามเสื่อมเสียชื่อเสียงและประวัติการทำงานเพราะไม่ใช่ค่าเสียหายเนื่องจากสัญญาจ้างแรงงานหรือสืบเนื่องจากข้อพิพาทแรงงาน จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เนื่องจากเห็นว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม โดยมิได้กำหนดค่าเสียหายที่เกิดจากการถูกบุคคลอื่นดูหมิ่นเหยียดหยาม เสื่อมเสียชื่อเสียงและประวัติการทำงานจำเลยอุทธรณ์ว่าค่าเสียหายส่วนที่ศาลแรงงานกลางไม่ได้กำหนดให้โจทก์นั้นไม่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงาน มิได้โต้แย้งหรือคัดค้านว่าศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมให้โจทก์ไม่ถูกต้องอย่างไร และที่ถูกต้องควรเป็นเช่นไร จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเฉพาะจำนวนเงินที่ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าชดเชย และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาใหม่ว่าโจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละเท่าไรแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง