คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5294/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ข้อเท็จจริงในสำนวนในชั้นฎีกามีเพียงว่า โจทก์ได้รับเงินเดือน48,400 บาท ค่ารับรอง-ของขวัญ 5,000 บาท และค่าตอบแทนอื่น ๆ30,000 บาท แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยจ่ายเงินค่ารับรอง-ของขวัญ และเงินค่าตอบแทนอื่น ๆ ให้แก่โจทก์ด้วยเหตุใด เป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานหรือไม่ ศาลฎีกาจึงไม่อาจวินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยที่ว่าค่ารับรองของขวัญและค่าตอบแทนอื่น ๆ ดังกล่าวเป็นค่าจ้างหรือไม่ศาลฎีกาให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานพิจารณาและวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวก่อน
ศาลแรงงานกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เนื่องจากเห็นว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม โดยมิได้กำหนดค่าเสียหายที่เกิดจากการถูกบุคคลอื่นดูหมิ่นเหยียดหยามเสื่อมเสียชื่อเสียงและเสียประวัติการทำงานการที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ค่าเสียหายส่วนที่ศาลแรงงานไม่ได้กำหนดให้โจทก์ไม่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานนั้น จำเลยมิได้โต้แย้งหรือคัดค้านว่า ศาลแรงงานกำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมให้โจทก์ไม่ถูกต้องอย่างไรและที่ถูกต้องควรเป็นเช่นไร จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างเป็นเงิน 83,400 บาทค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเงิน 49,281.70 บาทสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 83,400 บาท ค่าชดเชยเป็นเงิน 500,400 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 1,000,000 บาท แก่โจทก์

จำเลยขาดนัด ศาลแรงงานกลางพิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียว

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2537 ครั้งสุดท้ายทำหน้าที่รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและผู้อำนวยการนอกเวลาได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ83,400 บาท ต่อมาวันที่ 12 พฤศจิกายน 2541 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ทำไม่ครบ 6 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน เป็นเงิน 500,400 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 83,400 บาท จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ปรากฏเหตุจำเป็นถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม แต่โจทก์เบิกความลอย ๆ ว่าการเลิกจ้างดังกล่าวทำให้โจทก์ได้รับความอับอาย เสื่อมเสียชื่อเสียงและประวัติการทำงานเท่านั้นเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงิน 250,200 บาท นอกจากนี้โจทก์เสียสิทธิในการหยุดพักผ่อนประจำปี 2541 รวม 13 วัน เป็นเงิน 36,140 บาทจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2541 โจทก์มีฐานะเป็นลูกจ้างจำเลยเพียงถึงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2541 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างเดือนพฤศจิกายน 2541 จำนวน 30,580 บาท เท่านั้น ซึ่งจำเลยจ่ายค่าจ้างจำนวนดังกล่าวให้โจทก์แล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 83,400 บาท ค่าชดเชยจำนวน 500,400 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 250,200 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 36,140 บาท คำขออื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยว่า จำเลยให้ค่าจ้างโจทก์เดือนละ 48,400 บาท ส่วนเงินค่ารับรองจำนวน 5,000 บาท และเงินค่าตอบแทนจำนวน 30,000 บาท โจทก์ต้องนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการรับรองผู้มาเยี่ยมเยือนและผู้ที่จำเลยต้องติดต่อด้วยเพื่อการบริหารงานและเพื่อประโยชน์ในกิจการงานของจำเลยไม่ใช่เงินค่าตอบแทนการทำงานของโจทก์ จึงไม่ใช่ค่าจ้างที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ เห็นว่า ในใบสำคัญจ่ายเอกสารหมาย จ.3 ที่โจทก์อ้างประกอบคำเบิกความระบุรายละเอียดว่าโจทก์ได้รับเงินเดือน 48,400 บาทค่ารับรอง-ของขวัญ 5,000 บาท และค่าตอบแทนอื่น ๆ 30,000 บาทแต่ในสำนวนไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยจ่ายเงินค่ารับรอง-ของขวัญและเงินค่าตอบแทนอื่น ๆ ให้แก่โจทก์ด้วยเหตุใด เป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานหรือไม่ ในชั้นนี้จึงไม่อาจจะวินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยข้อนี้ได้ จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาและวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ก่อน

ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์อีกว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดจากการถูกบุคคลอื่นดูหมิ่นเหยียดหยาม เสื่อมเสียชื่อเสียงและประวัติการทำงานเพราะไม่ใช่ค่าเสียหายเนื่องจากสัญญาจ้างแรงงานหรือสืบเนื่องจากข้อพิพาทแรงงาน จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานนั้นเห็นว่า ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เนื่องจากเห็นว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม โดยมิได้กำหนดค่าเสียหายที่เกิดจากการถูกบุคคลอื่นดูหมิ่นเหยียดหยาม เสื่อมเสียชื่อเสียงและประวัติการทำงานจำเลยอุทธรณ์ว่า ค่าเสียหายส่วนที่ศาลแรงงานกลางไม่ได้กำหนดให้โจทก์นั้นไม่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงาน มิได้โต้แย้งหรือคัดค้านว่าศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมให้โจทก์ไม่ถูกต้องอย่างไร และที่ถูกต้องควรเป็นเช่นไร จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเฉพาะจำนวนเงินที่ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาใหม่ว่าโจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละเท่าไรแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดีนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share