แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การยื่นอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินมาชำระหรือวางต่อศาลชั้นต้นพร้อมกับการยื่นอุทธรณ์ 2 จำนวน คือ ค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ และเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนแก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 229 เพื่อเป็นประกันว่าหากในที่สุดศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ผู้อุทธรณ์รับผิดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนคู่ความที่ชนะคดีแล้ว ผู้ชนะคดีจะมีสิทธิได้รับค่าธรรมเนียมจากเงินที่ผู้อุทธรณ์วางไว้ได้ โดยผู้ชนะคดีไม่ต้องดำเนินการบังคับคดี เงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งนี้มิใช่ค่าธรรมเนียมศาล ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง
ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วเชื่อว่ามีความสามารถพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ได้ จึงมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาชำระ จึงถือไม่ได้ว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์อย่างคนอนาถา แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งยกเว้นให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมาวางศาล ก็ไม่ใช่กรณีที่จะถือว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลให้แต่เฉพาะบางส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 วรรคสี่และวรรคห้า เนื่องจากเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่ใช่ค่าธรรมเนียมศาล แต่การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาชำระย่อมมีผลเท่ากับว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาเสียทีเดียว จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมาวางศาลโดยไม่ได้รับการยกเว้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 157 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกเว้นให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวมาวางศาล จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว เมื่อคดีปรากฏเหตุที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจยกคำสั่งศาลชั้นต้นส่วนที่ไม่ชอบนั้นเสียได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) หาเป็นการสั่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องอุทธรณ์ไม่ คำสั่งศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 17,434,207.91 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ของต้นเงิน 12,309,632.51 บาท โดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดในหนี้ดังกล่าวเพียง 6,955,616.43 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ของต้นเงิน 5,500,000 บาท และให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในหนี้ดังกล่าวเพียง 1,896,986.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ของต้นเงิน 1,500,000 บาท ดอกเบี้ยทั้งหมดคิดนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (21 เมษายน 2547) ไปจนกว่าได้ชำระเสร็จให้แก่โจทก์ หากไม่ชำระให้บังคับจำนองหลักประกันออกขายทอดตลาดได้เงินสุทธิขาดอยู่เท่าใด ให้ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยที่ 1 มาชำระจนครบ กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ตามจำนวนหนี้ที่แต่ละคนต้องรับผิด กำหนดค่าทนายความให้ 50,000 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์พร้อมกับยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความสามารถพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ได้ แต่ในส่วนเงินที่จะต้องวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ให้ยกเว้นไม่ต้องวางศาล หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปก็ให้เสียเฉพาะค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ภายในวันที่ 27 ตุลาคม 2549
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์คำสั่ง (ที่ถูกต้องทำเป็นคำร้อง)
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า ตามทางไต่สวนพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ยังประกอบกิจการตามปกติ ย่อมมีรายได้เข้าบริษัท ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ยังมีรายได้ประจำเดือน จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงยังพอที่จะขวนขวายหาค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์มาชำระได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์อย่างคนอนาถาจึงชอบแล้ว แต่ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า “ในส่วนเงินที่จะต้องวางศาลพร้อมอุทธรณ์ให้ยกเว้นไม่ต้องวางศาล” นั้น เฉพาะผู้อุทธรณ์ที่ศาลอนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถาแล้วเท่านั้นที่จะได้รับผลให้ไม่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 157 คำสั่งศาลชั้นต้นในส่วนนี้จึงไม่ชอบ ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นส่วนที่ไม่ชอบ และให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังติดใจอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำเงินค่าธรรมเนียมศาลมาชำระต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งนี้ กับให้คืนค่าขึ้นศาล 200 บาท แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า คำสั่งศาลอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ในการยื่นอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินมาชำระหรือวางต่อศาลชั้นต้นพร้อมกับการยื่นอุทธรณ์ 2 จำนวน คือ ค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมศาลตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 เพื่อเป็นประกันว่าหากในที่สุดศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ผู้อุทธรณ์รับผิดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนคู่ความที่ชนะคดีแล้ว ผู้ชนะคดีจะมีสิทธิได้รับค่าธรรมเนียมจากเงินที่ผู้อุทธรณ์วางไว้ได้ โดยผู้ชนะคดีไม่ต้องดำเนินการบังคับคดี เงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งนี้มิใช่ค่าธรรมเนียมศาล ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 155 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้าคู่ความคนใดอ้างว่าเป็นคนยากจนไม่สามารถเสียค่าธรรมเนียมศาลในศาลชั้นต้น หรือชั้นอุทธรณ์ หรือชั้นฎีกา เมื่อศาลได้ไต่สวนเป็นที่เชื่อได้ว่า คู่ความนั้นเป็นคนยากจน ไม่มีทรัพย์สินพอจะเสียค่าธรรมเนียม ก็ให้ศาลอนุญาตให้คู่ความนั้นฟ้อง หรือต่อสู้คดีอย่างคนอนาถาได้…” คดีนี้ ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้ว เชื่อว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความสามารถพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ได้ จึงมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาชำระ จึงถือไม่ได้ว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์อย่างคนอนาถา แม้ศาลชั้นต้น จะมีคำสั่งยกเว้นให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมาวางศาล ก็ไม่ใช่กรณีที่จะถือว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลให้แต่เฉพาะบางส่วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 วรรคสี่ และวรรคห้า เนื่องจากเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่ใช่ค่าธรรมเนียมศาล แต่การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาชำระ ย่อมมีผลเท่ากับว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาเสียทีเดียว จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมาวางศาลโดยไม่ได้รับยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 157 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกเว้นให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวมาวางศาล จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว เมื่อคดีปรากฏเหตุที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจยกคำสั่งศาลชั้นต้นส่วนที่ไม่ชอบนั้นเสียได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) หาเป็นการสั่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องอุทธรณ์ไม่ คำสั่งศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ