คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5293/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530มาตรา9วรรคสี่ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่44ลงวันที่28กุมภาพันธ์2534บัญญัติว่าในการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์และจำนวนเงินค่าทดแทนให้คณะกรรมการกำหนดโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามมาตรา18มาตรา21มาตรา22และมาตรา24ทั้งนี้ในข้อ5ของประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติดังกล่าวบัญญัติว่าบทบัญญัติมาตรา9วรรคสี่ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมนั้นให้มีผลใช้บังคับแก่การเวนคืนซึ่งการกำหนดราคาเบื้องต้นการจัดซื้อการจ่ายหรือการวางค่าทดแทนการอุทธรณ์หรือการฟ้องคดียังไม่เสร็จเด็ดขาดในวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับดังกล่าวใช้บังคับด้วยจากบทบัญญัติดังกล่าวย่อมเห็นได้ว่าเมื่อคดีของโจทก์ยังไม่เสร็จเด็ดขาดการกำหนดค่าทดแทนจึงต้องพิจารณาโดยใช้หลักเกณฑ์ทั้ง5ประการของมาตรา21มิใช่เพียงข้อหนึ่งข้อใด กรณีที่การเวนคืนทำให้ที่ดินที่เหลือของโจทก์มีราคาสูงขึ้นต้องบังคับตามหลักการเบื้องต้นที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530มาตรา21วรรคสองบัญญัติไว้กล่าวคือจะต้องเอาราคาที่สูงขึ้นนั้นมาหักออกจากเงินค่าทดแทนที่จะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ส่วนวิธีการคำนวณหาราคาที่สูงขึ้นดังกล่าวเมื่อขณะที่ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาตามที่มาตรา21วรรคสี่บัญญัติไว้ออกใช้บังคับก็จะต้องอาศัยหลักเกณฑ์หรือมาตรการที่เห็นว่าเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมเป็นส่วนรวมมาใช้ก่อนหาใช่จะต้องแปลความว่าเมื่อไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณออกใช้บังคับแล้วจะมิต้องคำนวณราคาที่สูงขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืนและไม่ต้องนำมาหักออกจากค่าทดแทนที่จะต้องจ่ายให้แก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนไม่ส่วนที่มาตรา5แห่งพระราชกฤษฎีกาแห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณราคาที่สูงขึ้นฯดังกล่าวบัญญัติว่าหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณราคาที่สูงขึ้นไม่ใช้บังคับแก่ที่ดินที่ถูกเวนคืนก่อนที่พระราชกฤษฎีกาจะมีผลบังคับนั้นก็เป็นเพียงทำให้หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณราคาดังกล่าวไม่มีผลย้อนหลังไปใช้บังคับแก่ที่ดินที่ถูกเวนคืนก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับเท่านั้นมิใช่เป็นเหตุให้จำเลยทั้งสามไม่มีอำนาจคำนวณราคาที่ดินส่วนที่เหลือของโจทก์ว่ามีราคาสูงขึ้นและนำมาหักกับค่าทดแทนที่จะต้องจ่ายแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน43,260,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ซึ่งเป็นดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดประเภทเงินฝากประจำของธนาคารออมสินนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า ในการกำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินที่จะต้องถูกเวนคืนนั้น คณะกรรมการฯซึ่งจำเลยที่ 3 แต่งตั้งได้กำหนดโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 8 และ 21 กล่าวคือถือราคาที่ดินที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่และราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม แล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่าซึ่งปรากฏว่าราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสูงกว่าจึงใช้ราคาดังกล่าวเป็นเกณฑ์กำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ ซึ่งขณะที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงยานนาวาพ.ศ. 2531 ใช้บังคับ กรมที่ดินได้ประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531-2534 ที่ดินของโจทก์อยู่ในโซน 08 เอ็ม หน่วยที่ 5 ราคาประเมินตารางวาละ 6,000 บาทคณะกรรมการฯ จึงกำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์ในราคาดังกล่าวส่วนในเรื่องการหักค่าความเจริญ แม้จะยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์ไว้ แต่คณะกรรมการฯเห็นว่า หากไม่พิจารณาถึงเรื่องราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงจะไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนเนื่องจากผู้ที่ถูกเวนคืนที่ดินทั้งแปลงจะเสียเปรียบผู้ถูกเวนคืนบางส่วน และส่วนที่เหลือราคาเพิ่มขึ้นซึ่งที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนจำนวน 910 ตารางวา เทียบได้กับที่ดินริมถนนจันทน์ คณะกรรมการฯ จึงใช้ราคาประเมินของกรมที่ดินในบริเวณถนนดังกล่าวมาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณราคาที่ดินส่วนที่เหลือคิดราคาได้ 24,830,000 บาท แต่หากไม่ได้สร้างถนนที่ดินส่วนนี้มีราคา 5,460,000 บาท ที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจึงราคาสูงขึ้นเป็นเงิน 19,370,000 บาท อันเป็นราคาที่สูงกว่าค่าทดแทนที่โจทก์จะได้รับ จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องจ่ายค่าทดแทนให้โจทก์ที่คณะกรรมการฯ ใช้ราคาประเมินของกรมที่ดินในการกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ตารางวาละ 6,000 บาท นั้น เป็นราคาที่เป็นธรรมแล้วและเรื่องนี้แม้จะยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณว่าที่ดินใดมีราคาเพิ่มขึ้นหรือลดลงนั้น คณะกรรมการฯ ก็มีอำนาจดำเนินการนำค่าทดแทนไปหักกลบกับค่าที่ดินที่เหลือจากการถูกเวนคืนได้ ตามมาตรา 21 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่โจทก์อ้างว่าที่ดินโจทก์ส่วนที่เหลือติดถนนภายใน 15 เมตร จะสร้างอาคารบางอย่างไม่ได้เนื่องจากขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนั้น หากที่ดินของโจทก์ไม่ถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวง ที่ดินของโจทก์จะไม่เป็นทำเลที่จะก่อสร้างอาคารใด ๆ ในเชิงพาณิชย์ได้เลย โจทก์จึงได้รับประโยชน์จากการถูกเวนคืนนี้มากแม้จะต้องมีการเว้นพื้นที่ดังที่อ้าง และโจทก์สามารถใช้ที่ดินที่ติดถนนทำประโยชน์อย่างอื่นนอกจากสร้างอาคารดังกล่าวก็ได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนส่วนนี้ค่าทดแทนส่วนนี้จากจำเลยทั้งสาม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า การกำหนดค่าเวนคืนที่ดินให้โจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 กำหนดไว้ว่าเงินค่าทดแทนให้กำหนดโดยคำนึงถึง (1) ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกมาตามมาตรา 6(2) ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ (3) ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม (4) สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น และ (5) เหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนมาตรา 9 วรรคสี่ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2534บัญญัติว่า ในการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์และจำนวนเงินค่าทดแทน ให้คณะกรรมการกำหนดโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 18 มาตรา 21 มาตรา 22 และมาตรา 24 ทั้งนี้ในข้อ 5ของประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติดังกล่าวบัญญัติว่าบทบัญญัติมาตรา 9 วรรคสี่ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมนั้นให้มีผลใช้บังคับแก่การเวนคืนซึ่งการกำหนดราคาเบื้องต้น การจัดซื้อ การจ่ายหรือการวางค่าทดแทน การอุทธรณ์หรือการฟ้องคดียังไม่เสร็จเด็ดขาดในวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับดังกล่าวใช้บังคับด้วย จากบทบัญญัติดังกล่าวย่อมเห็นได้ว่า เมื่อคดีของโจทก์ยังไม่เสร็จเด็ดขาดการกำหนดค่าทดแทนจึงต้องพิจารณาโดยใช้หลักเกณฑ์ทั้ง 5 ประการของมาตรา 21 มิใช่เพียงข้อหนึ่งข้อใดทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5)พุทธศักราช 2538 มาตรา 38 วรรคสอง บัญญัติว่า การกำหนดค่าทดแทนตามวรรคหนึ่ง ต้องกำหนดให้อย่างเป็นธรรม โดยคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติการได้มา สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์และความเสียหายของผู้ถูกเวนคืน สำหรับที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนได้ความว่าอยู่บริเวณชุมชนหนาแน่นมากมีความเจริญการคมนาคมสะดวก มีไฟฟ้า น้ำประปาพร้อม และอยู่ติดถนนซอย แม้การซื้อขายที่ดินข้างเคียงกับที่ดินของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.11 และ จ.15 มีการซื้อขายกันในราคาตารางวาละ42,000 บาท และ 40,000 บาท ในเดือนกันยายน 2534 และมีนาคม 2535ตามลำดับ ถือไม่ได้ว่าเป็นราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 เพราะพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับในวันที่ 22 เมษายน 2531 ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาถึงสภาพและที่ตั้งที่ดินของโจทก์ซึ่งอยู่ในบริเวณที่มีความเจริญและติดถนนซอยอยู่แล้ว เห็นควรกำหนดราคาให้ตารางวาละ 20,000 บาทที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืน เนื้อที่ 714 ตารางวา จึงเป็นเงินค่าทดแทนจำนวน 14,280,000 บาท ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสี่ บัญญัติว่า การกำหนดว่าอสังหาริมทรัพย์ใดมีราคาสูงขึ้นตามวรรคสองหรือราคาลดลงตามวรรคสาม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกากรณีของโจทก์ในขณะที่ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนและคณะกรรมการเวนคืนฯ พิจารณากำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืน ยังไม่มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา ตามมาตรา 21 วรรคสี่ เพิ่งจะมีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณราคาที่สูงขึ้นหรือลดลงของอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืนตามมาตรา 21วรรคสี่ ประกาศใช้โดยมีผลบังคับเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2537 และตามมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว บัญญัติว่า”หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณราคาที่สูงขึ้นหรือลดลงของอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกานี้ ไม่ใช้บังคับแก่การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน อยู่ก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ” จึงเห็นได้ชัดแจ้งว่าที่ดินที่ถูกเวนคืนก่อนวันที่26 มีนาคม 2537 ไม่อาจนำหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณราคาที่สูงขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืนตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมาใช้ได้ จำเลยทั้งสามจึงไม่อาจนำราคาที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนที่สูงขึ้นมาหักออกจากเงินค่าทดแทนที่ต้องจ่ายแก่โจทก์นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสอง บัญญัติว่าถ้าการเวนคืนทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลืออยู่มีราคาสูงขึ้นก็ให้เอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทน และวรรคสี่บัญญัติว่าการคำนวณว่าอสังหาริมทรัพย์ใดมีราคาสูงขึ้นตามวรรคสองให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาบทกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดเป็นหลักการเบื้องต้นไว้ว่า ถ้าการเวนคืนรายใดทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืนนั้นมีราคาสูงขึ้น ก็ให้เอาราคาที่สูงขึ้นหักออกจากเงินค่าทดแทนที่จะต้องจ่ายให้แก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืน สวนในวรรคสี่ได้กำหนดวิธีการคำนวณราคาที่สูงขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ตามวรรคสองว่า ให้ใช้หลักเกณฑ์ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ดังนั้น หากการเวนคืนทำให้ที่ดินที่เหลือของโจทก์มีราคาสูงขึ้น จึงต้องเป็นไปตามหลักการเบื้องต้นที่มาตรา 21 วรรคสอง บัญญัติไว้กล่าวคือจะต้องเอาราคาที่สูงขึ้นนั้นมาหักออกจากเงินค่าทดแทนที่จะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ ส่วนวิธีการคำนวณหาราคาที่สูงขึ้นดังกล่าวเมื่อขณะที่ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาตามที่มาตรา 21 วรรคสี่ บัญญัติไว้ออกใช้บังคับก็จะต้องอาศัยหลักเกณฑ์หรือมาตราการที่เห็นว่าเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมเป็นส่วนรวมมาใช้ก่อน หาใช่จะต้องแปลความว่าเมื่อไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณออกใช้บังคับแล้วจะมิต้องคำนวณราคาที่สูงขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืนและไม่ต้องนำมาหักออกจากค่าทดแทนที่จะต้องจ่ายให้แก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนไม่ ทั้งนี้ เพราะจะทำให้มาตรา 21 วรรคสอง ซึ่งเป็นหลักการเบื้องต้นไม่มีผลการใช้บังคับอันมิใช่เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติดังกล่าว ส่วนที่มาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณราคาที่สูงขึ้นฯ ดังกล่าวบัญญัติว่าหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณราคาที่สูงขึ้นไม่ใช้บังคับแก่ที่ดินที่ถูกเวนคืนก่อนที่พระราชกฤษฎีกาจะมีผลบังคับนั้นก็เป็นเพียงทำให้หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณราคาดังกล่าวไม่มีผลย้อนหลังไปใช้บังคับแก่ที่ดินที่ถูกเวนคืนก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับเท่านั้นหาเป็นเหตุให้จำเลยทั้งสามไม่มีอำนาจคำนวณราคาที่ดินส่วนที่เหลือของโจทก์ว่ามีราคาสูงขึ้นและนำมาหักค่าทดแทนที่จะต้องจ่ายแก่โจทก์ได้ ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเมื่อปรากฏว่าราคาที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาสูงขึ้นเป็นจำนวนมากกว่าเงินค่าทดแทนที่โจทก์มีสิทธิได้รับจำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องจ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์
พิพากษายืน

Share