แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์เป็นสถาบันการเงิน มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดได้ไม่เกินร้อยละ 21ต่อปี ตามประกาศกระทรวงการคลัง เมื่อสัญญากู้เงินได้มีการตกลงกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 และยินยอมให้โจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่า 1 ปีทบเข้ากับต้นเงินและให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราที่ตกลงในสัญญากู้เงินต่อไปด้วย โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยในอัตราตามที่ตกลงในสัญญาและคิดดอกเบี้ยค้างชำระเกินกว่า 1 ปี ทบต้นได้ต่อไปจนกว่าจะชำระต้นเงินและดอกเบี้ยคืนให้แก่โจทก์จนเสร็จสิ้นการที่โจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกิน 1 ปี มาทบรวมกับยอดเงินต้นดอกเบี้ยที่ทบนั้นจึงกลายเป็นเงินต้นไม่เป็นดอกเบี้ยที่ค้างอีกต่อไป ข้อตกลงตามสัญญากู้เงินดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 655 วรรคหนึ่งซึ่งไม่อยู่ในบังคับข้อห้ามไม่ให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 113,052,369.46 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปีจากต้นเงิน15,446,282.51 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระเสร็จแก่โจทก์และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 20 ต่อปี จากต้นเงิน 85,224,667 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1ชำระเงิน 35,995,813 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 20 ต่อปี จากต้นเงิน30,986,962 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 2 จะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1ไม่เคยกู้เงินไปจากโจทก์ โจทก์คิดดอกเบี้ยไม่ถูกต้อง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราเกินกว่าร้อยละ 7.5 ต่อปี เนื่องจากโจทก์มิใช่บริษัทที่รับอนุญาตให้ประกอบกิจการเงินทุนหลักทรัพย์จากกระทรวงการคลัง จำเลยที่ 2 ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไว้กับโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธินำดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่า 1 ปี มาทบเป็นต้นเงินหากศาลจะฟังว่าจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันจริง จำเลยที่ 2 ก็คงรับผิดในเงินต้น5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ที่ค้างชำระไม่เกิน 5 ปี จำเลยที่ 2 ไม่เคยได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 113,052,364.46 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี จากต้นเงิน 15,446,282.51 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 20 ต่อปี จากต้นเงิน85,224,667 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 35,995,813 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ20 ต่อปี จากต้นเงิน 30,986,962 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เดิมชื่อบริษัทมหานครทรัสต์ จำกัด ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มหานครทรัสต์ จำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์และให้กู้ยืมเงิน จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินและต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2ในประการแรกว่า จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 ตามฟ้องหรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีพยานมายืนยันว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อค้ำประกันในสัญญาค้ำประกันนั้น เห็นว่า นอกจากโจทก์จะมีนางสาวอัญชลี อมรพันธ์ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความยืนยันว่าในการทำสัญญากู้เงินของจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2ทำสัญญาค้ำประกันโดยมีข้อตกลงรับผิดในหนี้เงินที่จำเลยที่ 1 กู้ไปจากโจทก์ในวงเงิน5,000,000 บาท รวมทั้งหนี้อุปกรณ์ ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.10แล้วโจทก์ยังมีนายสุกิจ กาญจนไทรฤกษ์ ซึ่งลงชื่อเป็นพยานในสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.10 มาเบิกความยืนยันด้วยว่า ในการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกันและจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกัน และโจทก์ยังมีนายมงคล จิริยศิลป์ ผู้จัดการฝ่ายกฎหมายของโจทก์มาเบิกความว่า หลังจากที่จำเลยที่ 2ได้รับหนังสือทวงถามของทนายโจทก์แล้ว จำเลยที่ 2 ให้คนโทรศัพท์มาติดต่อนายมงคลหลายครั้ง รวมทั้งได้มีตัวแทนของจำเลยที่ 2 ไปพบนายมงคลที่บริษัทโจทก์เพื่อขอประนอมหนี้ด้วย ซึ่งหากจำเลยที่ 2 ไม่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกัน หรือสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นสัญญาปลอม จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ใหญ่และอยู่ในวงธุรกิจย่อมต้องไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้เป็นหลักฐานหรืออ้างคำพิพากษาอื่นใดเพื่อนำผู้กระทำผิดฐานปลอมเอกสารมาลงโทษ เนื่องจากสัญญาค้ำประกันดังกล่าวมีวงเงินค้ำประกันสูงจึงอาจนำความเสียหายมาสู่จำเลยที่ 2 ได้ แต่จำเลยที่ 2 ก็มิได้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งโจทก์เป็นสถาบันการเงินที่กระทรวงการคลังรับรอง คงไม่กล้าที่จะทำสัญญาค้ำประกันปลอมเพื่อให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดโดยไม่เป็นความจริง เมื่อพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ประกอบเหตุผลดังกล่าวแล้ว เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ยอมตนเข้าทำสัญญาค้ำประกันการกู้เงินของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.10 จริง ที่จำเลยที่ 2 นำนายชัชวาลย์ ดีที่สุด ผู้ช่วยเลขานุการของจำเลยที่ 2 มาเบิกความว่า ลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.10 ไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 2นั้น เป็นเพียงคำเบิกความลอย ๆ ที่ขัดกับเหตุผล จึงไม่มีน้ำหนักพอที่จะให้รับฟังหักล้างเหตุผลและพยานหลักฐานโจทก์ได้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ในประการต่อไปมีว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี คิดดอกเบี้ยทบต้นและคิดดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกิน 5 ปี ได้หรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า แม้ในสัญญากู้เงินจะระบุอัตราดอกเบี้ยไว้อัตราร้อยละ 18 หรือร้อยละ 20 ต่อปีและระบุให้โจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่า 1 ปี ทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนที่ทบเข้าด้วยกันได้ก็ตาม โจทก์ก็มีสิทธิที่จะคิดได้เฉพาะในระหว่างอายุสัญญาเท่านั้น คือภายใน 1 ปีนับแต่วันทำสัญญากู้เงินแต่ละฉบับ เมื่อสัญญาแต่ละฉบับหมดอายุแล้วผู้กู้ไม่ชำระถือว่าผู้กู้ผิดนัด นับแต่วันที่ผู้กู้ผิดนัดโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี และทบต้นได้เฉพาะปีแรกเท่านั้น หลังจากครบ 1 ปีแล้วสัญญากู้เงินเป็นอันยกเลิกโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยทบต้นต่อไปนั้น เห็นว่า โจทก์เป็นสถาบันการเงิน จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดได้ไม่เกินร้อยละ 21 ต่อปี ตามประกาศกระทรวงการคลังลงวันที่13 กรกฎาคม 2524 ในเมื่อตามสัญญากู้เงินได้มีการตกลงกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 และยินยอมให้โจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่า 1 ปี ทบเข้ากับต้นเงินและให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราที่ตกลงในสัญญากู้เงินแต่ละฉบับต่อไปด้วยแล้วโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยในอัตราตามที่ตกลงในสัญญาและคิดดอกเบี้ยค้างชำระเกินกว่า 1 ปี ทบต้นได้ต่อไปจนกว่าจะชำระต้นเงินและดอกเบี้ยคืนให้แก่โจทก์จนเสร็จสิ้นเมื่อโจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกิน 1 ปี มาทบรวมกับยอดเงินต้นแล้วดอกเบี้ยที่ทบนั้นก็กลายเป็นเงินต้นไม่เป็นดอกเบี้ยที่ค้างอีกต่อไป ทั้งข้อตกลงตามสัญญากู้เงินข้อ 3 ตามเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.9 มีผลใช้บังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 655 วรรคหนึ่ง ซึ่งไม่อยู่ในบังคับข้อห้ามไม่ให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคสอง จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันและร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้นทุกข้อ”
พิพากษายืน