คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2115/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยกระทำอนาจารโดยอุ้มผู้เสียหายเข้าไปในป่าแล้วกอดจูบ ผู้เสียหาย หลังจากนั้นอุ้มผู้เสียหายต่อเข้าไปอีก แล้วพยายามกระทำชำเราผู้เสียหายแม้จะมีระยะทางห่างกันถึง 20 เส้นแต่ก็เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันโดยความมุ่งหมายที่จะกระทำชำเราผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277,279, 80, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 3 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277, 279, 80, 91 (แก้ไขใหม่) เป็นความผิดหลายกรรมต่างวาระกันให้เรียกกระทงลงโทษ ฐานอนาจารให้จำคุก 4 ปี ฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเรา จำคุก 6 ปี รวมเป็นจำคุก 10 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า คดียังมีเหตุอันควรสงสัย สมควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เป็นผลดีแก่จำเลย พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว โจทก์มีผู้เสียหายเป็นพยานเห็นว่า แม้เหตุจะเกิดในเวลากลางวัน แต่ตามพฤติการณ์ในคดีเห็นได้ว่าผู้เสียหายเห็นคนร้ายในระยะใกล้เป็นเวลานาน เมื่อจำเลยกับผู้เสียหายเป็นคนหมู่บ้านเดียวกัน และรู้จักกันมาก่อน คำเบิกความของผู้เสียหายที่ยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายจึงมีน้ำหนัก รุ่งขึ้นจากวันเกิดเหตุโจทก์มีจ่าสิบตำรวจสมพงษ์เจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจเป็นพยานว่านายพุฒบิดาผู้เสียหายไปแจ้งว่าจำเลยเป็นคนร้ายรายนี้ แล้วนำจ่าสิบตำรวจสมพงษ์ไปจับจำเลยโดยผู้เสียหายเป็นคนชี้ให้จับ หลังจากนั้นโจทก์มีร้อยตำรวจตรีชนะชัยเป็นพยานว่านายพุฒนางสำอางบิดามารดาของผู้เสียหายและผู้เสียหายได้นำความเรื่องนี้ไปแจ้งต่อร้อยตำรวจตรีชนะชัยให้ดำเนินคดีแก่จำเลย ขณะมาแจ้งความจ่าสิบตำรวจสมพงษ์ได้คุมตัวจำเลยมาด้วย ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ว่าที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตัวจำเลยมาดำเนินคดีก็เพราะนายพุฒนำความไปแจ้งต่อจ่าสิบตำรวจสมพงษ์ แสดงว่าภายหลังเกิดเหตุเมื่อผู้เสียหายพบบิดามารดา ผู้เสียหายได้แจ้งให้ทราบว่าจำเลยเป็นคนร้ายรายนี้ดังนี้คำเบิกความของผู้เสียหายจึงมีน้ำหนักมั่นคงเชื่อถือและรับฟังเป็นความจริงได้ ที่นายพุฒนางสำอางบิดามารดาผู้เสียหายเบิกความว่า ผู้เสียหายแจ้งเรื่องคนร้ายให้ทราบเพียงว่าเห็นหน้าจำได้ และเจ้าหน้าที่ตำรวจจะจับจำเลยมาได้อย่างไร พยานไม่ทราบนั้นเชื่อไม่ได้ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นนายพุฒคงไม่นำจ่าสิบตำรวจสมพงษ์ไปจับจำเลย ดังนี้ คำเบิกความของนายพุฒนางสำอางจึงหาได้ทำลายน้ำหนักของคำเบิกความของผู้เสียหายลงแต่ประการใดไม่พยานฐานที่อยู่ของจำเลยเลื่อนลอยฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ไม่ได้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นคนร้ายกระทำอนาจารและพยายามข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยได้กระทำอนาจารโดยอุ้มผู้เสียหายเข้าไปในป่าแล้วกอดจูบผู้เสียหายหลังจากนั้นได้อุ้มผู้เสียหายต่อเข้าไปอีกแล้วพยานยามกระทำชำเราผู้เสียหาย แม้จะมีระยะทางห่างกันถึง 20 เส้น แต่ก็เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกัน โดยความมุ่งหมายที่จะกระทำชำเราผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท”
พิพากษากลับ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277วรรคแรก ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 และมาตรา 279วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยมีกำหนด 8 ปี.

Share