คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5290/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 และ พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ตามที่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 ให้นิยามความผิดมูลฐานไว้ ไม่รวมถึงความผิดฐานเสพหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายเพราะในสภาพความผิด ผู้กระทำความผิดไม่ได้ทรัพย์สินใดจากการกระทำผิด จึงไม่มีเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดที่ศาลจะสั่งให้ทรัพย์สินของผู้นั้นตกเป็นของแผ่นดิน เมื่อ บ. ถูกศาลอาญาพิพากษาว่า มีความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษเพื่อเสพ มิใช่มีไว้เพื่อจำหน่าย บ. จึงมิใช่ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันเป็นความผิดมูลฐาน แม้ บ. จะเป็นสามีผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านก็ไม่ใช่ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินมาก่อน ส่วน ส. และ ว. พี่สาวผู้คัดค้าน ช. สามีของ ว. และ พ. หลานของผู้คัดค้านเคยต้องหาว่า ครอบครองเมทแอมเฟตามีนไว้เพื่อจำหน่ายและความผิดดังกล่าวเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 ก็ตาม แต่การที่บุคคลดังกล่าวเป็นญาติของผู้คัดค้าน ผู้ร้องต้องนำสืบให้เห็นว่ามีความเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้คัดค้านด้วย จึงจะต้องด้วยบทสันนิษฐานตามมาตรา 51 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน ให้เรียกผู้ร้องทั้งสองสำนวนว่าผู้ร้อง และเรียกนางยุพา ผู้คัดค้านในสำนวนแรกว่าผู้คัดค้าน เรียกเอกสารหมาย ร.1 ถึง ร.9 ในสำนวนแรกว่าเอกสารหมาย ร.1 ถึง ร.9 และเรียกเอกสารหมาย ร.1 ถึง ร.9 ในสำนวนที่สองว่าเอกสารหมาย ร.1/1 ถึง ร.9/1 ตามลำดับ
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอทั้งสองสำนวนขอให้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินจำนวน 117 รายการ พร้อมดอกผลที่เกิดขึ้นตกเป็นของแผ่นดิน
ศาลชั้นต้นปิดประกาศไว้ที่ศาลและประกาศในหนังสือพิมพ์ที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นสองวันติดต่อกันแล้ว
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องและสั่งคืนทรัพย์สินให้แก่ผู้คัดค้านกับพวก
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ทรัพย์สินตามบัญชีเอกสารหมาย ร.9 ลำดับที่ 1 ถึงที่ 4, ที่ 6, ถึงที่ 9, ที่ 11 ถึงที่ 13, ที่ 18 และที่ 20 ถึงที่ 94 และทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์เอกสารหมาย ร.9/1 ทุกลำดับพร้อมดอกผลที่เกิดขึ้นตกเป็นของแผ่นดิน ให้คืนทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์เอกสารหมาย ร.9 ลำดับที่ 5, ที่ 10, ที่ 14 ถึงที่ 17 และที่ 19 แก่ผู้คัดค้านตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์เอกสารหมาย ร.9 ลำดับที่ 6 ถึงที่ 9, ที่ 11 ถึงที่ 13 และที่ 21 ถึงที่ 94 รวม 81 รายการ แก่ผู้คัดค้าน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องและผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความต่างมิได้ฎีกาโต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า คดีทั้งสองสำนวนสืบเนื่องมาจากเจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นของผู้คัดค้านและนายบุญรัตน์ สามีผู้คัดค้านพบเมทแอมเฟตามีน 13 เม็ด และกัญชาแห้งน้ำหนักประมาณ 10 กรัม จึงจับกุมนายบุญรัตน์และดำเนินคดีในข้อหามียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 และในประเภท 5 ไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย พร้อมกับยึดทรัพย์สินและเอกสารจำนวนหนึ่งซึ่งเชื่อว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษส่งมายังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพิจารณาดำเนินการ ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมผู้คัดค้านดำเนินคดีอาญาในข้อหาฟอกเงิน และตรวจค้นบ้านเลขที่ 509/378 ซอยชุมชนพัฒนาใหม่ แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ยึดทรัพย์สินซึ่งเชื่อว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษเพิ่มเติม ส่งให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดำเนินการ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มีคำสั่งมอบหมายให้ร้อยตำรวจเอกสุวิทย์กับพวกเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมและทรัพย์สินของนายบุญรัตน์กับผู้คัดค้าน รวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องได้แก่นางสุภา พี่สาวของผู้คัดค้าน ต่อมาคณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินไว้ชั่วคราว สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินขายทอดตลาดทรัพย์ไปบางส่วน 2 ครั้ง และเก็บรักษาเงินสดไว้แทนทรัพย์สินที่ขายทอดตลาด นายบุญรัตน์ ผู้คัดค้าน และนางสุภายื่นคำร้องขอเพิกถอนการยึดและอายัดทรัพย์สิน คณะกรรมการธุรกรรมพิจารณารายงานการตรวจสอบและพยานหลักฐานของพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว เชื่อว่านายบุญรัตน์ผู้คัดค้านกับพวกเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ อันเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 และมีเหตุอันควรเชื่อว่าทรัพย์สินของนายบุญรัตน์ ผู้คัดค้านกับพวกเป็นทรัพย์สินที่ได้มาเกี่ยวกับการกระทำความผิด จึงมีมติให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้สั่งทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์เอกสารหมาย ร.9 และ ร.9/1 พร้อมดอกผลหากมีขึ้น ตกเป็นของแผ่นดิน ต่อมาในคดีที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและดำเนินคดีนายบุญรัตน์ ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษนายบุญรัตน์ในความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อเสพ จำคุก 1 ปี 2 เดือน และปรับ 18,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี อีกทั้งในคดีที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมผู้คัดค้านดำเนินคดีอาญาในข้อหากระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ศาลอาญาได้มีคำพิพากษายกฟ้องแล้วเช่นเดียวกัน โดยปรากฏข้อเท็จจริงตามท้องสำนวนว่า สำนวนแรก ผู้ร้องขอให้ทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานยึดได้ รวม 94 รายการ ตกเป็นของแผ่นดิน ส่วนสำนวนที่สอง ผู้ร้องขอให้ทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานยึดได้ รวม 23 รายการ ตกเป็นของแผ่นดิน
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องมีว่า ทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์เอกสารหมาย ร.9 ลำดับที่ 6 ถึงที่ 9, ที่ 11 ถึงที่ 13 และที่ 21 ถึงที่ 94 รวม 81 รายการ พร้อมดอกผลที่เกิดขึ้นตกเป็นของแผ่นดินหรือไม่ และตามฎีกาของผู้คัดค้านมีว่า ผู้คัดค้านควรได้คืนทรัพย์สินตามเอกสารหมาย ร.9 ลำดับที่ 1 ถึงที่ 4, ที่ 18 และที่ 20 รวมทั้งทรัพย์สินตามเอกสารหมาย ร. 9/1 ทุกรายการหรือไม่ สำหรับฎีกาของผู้ร้องที่หยิบยกปัญหาข้อกฎหมายเป็นประเด็นโต้เถียงว่า ผู้คัดค้านเป็นภรรยาของนายบุญรัตน์ ผู้ซึ่งศาลอาญามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 และในประเภท 5 ไว้ในครอบครองอันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 ที่ให้นิยาม “ความผิดมูลฐาน” ใน (1) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำผิดมูลฐาน อันต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามมาตรา 51 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงพึงต้องวินิจฉัยต่อไป ตามภาระการพิสูจน์ของผู้คัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 ให้นิยาม “ความผิดมูลฐาน” ใน (1) ว่า หมายถึง ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ทั้งให้นิยามคำว่า “ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด” อันเป็นทรัพย์สินที่ศาลพึงมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินตามอำนาจและเงื่อนไขในมาตรา 51 วรรคแรกว่า
(1) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐาน หรือจากการสนับสนุนหรือช่วยเหลือการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐาน
(2) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งเป็นเงินหรือทรัพย์สินตาม (1) หรือ
(3) ดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินตาม (1) หรือ (2) ซึ่งบทบัญญัติเหล่านี้ย่อมรวมความมีนัยว่า ทรัพย์สินที่ศาลพึงมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินได้นั้น กล่าวโดยเฉพาะตามประเด็นในฎีกา ต้องเป็นเงินหรือทรัพย์สินอันมีองค์ประกอบสำคัญคือ “ที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐาน” ดังปรากฏในเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ที่ว่า “คือ เนื่องจากในปัจจุบันผู้ประกอบอาชญากรรมซึ่งกระทำความผิดกฎหมายบางประเภท ได้นำเงินหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมากระทำการในรูปแบบต่าง ๆ อันเป็นการฟอกเงิน…ฯลฯ…” เช่นนี้ แม้ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 มาตรา 3 จะให้บทนิยามคำว่า “ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” หมายความว่า ความผิดที่บัญญัติไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดและให้นิยามคำว่า “กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด” หมายความว่า กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ กฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท กฎหมายว่าด้วยการป้องกันการใช้สารระเหย และกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ก็ต้องแปลความว่า ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ดังที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 ให้นิยาม “ความผิดมูลฐาน” ไว้นั้น ไม่รวมถึงความผิดฐานเสพหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดโดยฝ่าฝืนกฎหมาย เนื่องเพราะโดยสภาพความผิดดังกล่าวผู้กระทำความผิดนั้นๆ ไม่ได้ทรัพย์สินใดมาจากการกระทำผิดเลย จึงไม่มีเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดที่ศาลจะสั่งให้ทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดฐานนี้ตกเป็นของแผ่นดิน เช่นเดียวกับที่พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3 ให้บทนิยามคำว่า “ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” หมายความว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด และให้หมายความรวมถึงการสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือหรือพยายามกระทำความผิดดังกล่าวด้วย หาได้ให้นิยามรวมไปถึง ความผิดฐานเสพหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ดังนั้น ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 ให้นิยามความผิดมูลฐานไว้นั้น จึงไม่รวมถึงความผิดฐานเสพหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ดังนี้ เมื่อนายบุญรัตน์ถูกศาลอาญาพิพากษาว่า มีความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษเพื่อเสพ มิใช่มีไว้เพื่อจำหน่าย นายบุญรัตน์จึงมิใช่ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 แม้นายบุญรัตน์จะเป็นสามีผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านก็ไม่ใช่ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินมาก่อน ส่วนที่นางสุภา นางวันเพ็ญ พี่สาวผู้คัดค้าน นายวิชาญ สามีของนางวันเพ็ญ นายพิพัฒน์ หลานของผู้คัดค้านเคยต้องหาว่า ครอบครองเมทแอมเฟตามีนไว้เพื่อจำหน่าย และความผิดดังกล่าวเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 ก็ตามแต่การที่บุคคลดังกล่าวเป็นญาติของผู้คัดค้าน ผู้ร้องก็ต้องนำสืบให้เห็นว่ามีความเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้คัดค้านด้วย พยานหลักฐานของผู้ร้องจึงยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังว่า ผู้คัดค้านเป็นผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฟอกเงินมาก่อน ผู้คัดค้านจึงไม่อยู่ในฐานะผู้ต้องด้วยบทสันนิษฐานตามมาตรา 51 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ที่มีภาระนำสืบพิสูจน์แสดงตามมาตรา 50 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้คืนทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์เอกสารหมาย ร.9 ลำดับที่ 6 ถึงที่ 9, ที่ 11 ถึงที่ 13 และที่ 21 ถึงที่ 94 รวม 81 รายการ แก่ผู้คัดค้าน ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
ส่วนฎีกาของผู้คัดค้านที่ว่า ผู้คัดค้านควรได้คืนทรัพย์สิน 117 รายการทั้งหมด อันรวมทั้งทรัพย์สินตามเอกสารหมาย ร.9 อันดับที่ 1 ถึงที่ 4, ที่ 18 และที่ 20 กับทรัพย์สินตามเอกสารหมาย ร. 9/1 ทั้ง 23 รายการ พร้อมดอกผลซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ศาลล่างทั้งสองให้ตกเป็นของแผ่นดินนั้น เห็นว่า สำนวนแรก ผู้ร้องขอให้ทรัพย์สิน รวม 94 รายการ ตกเป็นของแผ่นดิน และสำนวนที่สอง ผู้ร้องขอให้ทรัพย์สิน รวม 23 รายการ ตกเป็นของแผ่นดิน เมื่อปรากฏในท้องสำนวนว่า ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้องเฉพาะสำนวนคดีแรกในวันที่ 17 มีนาคม 2547 ดังที่ผู้คัดค้านระบุในคำคัดค้านเฉพาะคดีหมายเลขดำที่ ฟ.70/2546 ซึ่งเป็นสำนวนคดีแรก แม้ขณะนั้นศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้รวมการพิจารณาพิพากษาสำนวนคดีแรกและสำนวนคดีหลัง รวมกันแล้วก็ตาม แต่เมื่อผู้คัดค้านไม่ได้ยื่นคำคัดค้านในคดีหมายเลขดำที่ ฟ.22/2547 ซึ่งเป็นสำนวนคดีหลัง ผู้คัดค้านจึงมิได้เป็นคู่ความในสำนวนคดีหลัง ถูกต้องตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ดังนั้น ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิยื่นฎีกาคัดค้านคำร้องของผู้ร้องในสำนวนคดีหลัง ซึ่งเป็นคดีที่ผู้ร้องขอให้ทรัพย์สินตามที่บัญชีทรัพย์ เอกสารหมาย ร.9/1 ทุกลำดับพร้อมดอกผลที่เกิดขึ้นตกเป็นของแผ่นดิน ผู้คัดค้านคงเพียงมีสิทธิฎีกาเฉพาะทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์ เอกสารหมาย ร.9 ลำดับที่ 1 ถึงที่ 4, ที่ 18 และที่ 20 รวม 6 รายการ พร้อมดอกผลซึ่งศาลล่างทั้งสองพิพากษาสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดิน อันเป็นทรัพย์สินในสำนวนคดีแรกที่ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านเท่านั้น แต่เมื่อปรากฏว่าทรัพย์ทั้ง 6 รายการ มีชื่อผู้อื่นเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือถือสิทธิเป็นเจ้าของ มิใช่มีชื่อผู้คัดค้านและศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยว่ามิใช่ทรัพย์สินของผู้คัดค้าน ทั้งไม่อาจแปลความอนุมานว่าผู้คัดค้านอุทธรณ์คัดค้านปัญหาดังที่ผู้คัดค้านอ้างในฎีกา ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่าทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์เอกสารหมาย ร.9 ลำดับที่ 1 ถึงที่ 4, ที่ 18 และที่ 20 รวม 6 รายการไม่ใช่ของผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิยื่นคำคัดค้านในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ถูกต้องตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองสำนวนชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share