คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7092/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 จนสลบ แต่การพิจารณาได้ความว่า ผู้เสียหายที่ 3 เพียงผู้เดียวที่สลบ แม้ข้อเท็จจริงการพิจารณาจะต่างกับคำฟ้อง แต่กรณีเป็นข้อแตกต่างในรายละเอียดปลีกย่อยเล็กน้อย ไม่ถือว่าเป็นเรื่องการพิจารณาต่างจากฟ้องในข้อสาระสำคัญ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 295, 297, 310, 340, 340 ตรี ให้จำเลยคืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 12,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310, 340 วรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม (ที่ถูก ไม่ต้องปรับบทลงโทษวรรคหนี่งและวรรคสอง) ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 340 วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 24 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง เห็นควรลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 16 ปี ให้จำเลยคืนทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนหรือชดใช้ราคาแทนเป็นเงิน 12,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 และมาตรา 340 วรรคหนึ่ง ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยเป็นผู้รับเหมาแรงงานขุดบ่อน้ำบาดาลให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 ณ บริเวณที่ก่อสร้างของบริษัทซินเท็ค คอนสตรัคชั่น จำกัด ที่เกิดเหตุ วันเกิดเหตุจำเลยแจ้งผู้เสียหายที่ 1 ว่า พัฒนาบ่อน้ำบาดาลเสร็จแล้ว ผู้เสียหายที่ 1 บอกให้จำเลยพัฒนาน้ำให้นายช่างของบริษัทซินเท็ค คอนสตรัคชั่น จำกัด ตรวจสอบ จำเลยไม่ยอมดำเนินการและขอลาออก เย็นวันเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 ส่งผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 มาเฝ้าอุปกรณ์ในการขุดเจาะน้ำบาดาลในที่เกิดเหตุ จำเลยและพวกเข้ามาในบริเวณที่เกิดเหตุและเกิดเหตุชกต่อยกับผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 และจำเลยกับพวกขนแบตเตอรี่ 2 ใบ ใส่รถยนต์กระบะออกไปจากที่เกิดเหตุ ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับอันตรายแก่กาย ผู้เสียหายที่ 3 ได้รับอันตรายสาหัส
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 จนสลบ แต่ทางพิจารณาได้ความว่า ผู้เสียหายที่ 3 เพียงผู้เดียวที่สลบ ทางพิจารณาของโจทก์จึงต่างกับคำฟ้อง เห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นข้อแตกต่างในรายละเอียดปลีกย่อยเล็กน้อย ไม่ถือว่าเป็นเรื่องทางพิจารณาต่างจากฟ้อง และที่จำเลยฎีกาว่า แบตเตอรี่ 2 ใบ ที่จำเลยเอาไปจากที่เกิดเหตุเป็นทรัพย์ของจำเลย เห็นว่า ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความยืนยันว่า แบตเตอรี่ 2 ใบ ที่จำเลยขนไปจากที่เกิดเหตุเป็นทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 1 จำเลยเป็นผู้รับเหมาจ้างแรงงาน อุปกรณ์ในการขุดเจาะน้ำบาดาลเป็นทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งจำเลยเบิกความสอดรับกับคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ว่าจำเลยเป็นผู้รับเหมาแรงงานขุดเจาะน้ำบาดาล เครื่องมือในการขุดเจาะ จำเลยที่ 1 จะต้องเบิกจากผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเท่ากับจำเลยยอมรับว่าอุปกรณ์ในการขุดเจาะน้ำบาดาลเป็นทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 1 และผู้เสียหายที่ 1 เบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุ แบตเตอรี่ขนาด 120 แอมป์ 2 ใบ ของผู้เสียหายที่ 1 หายไป ซึ่งตามข้อตกลงจำเลยจะต้องเป็นผู้จัดหามาชดใช้ แต่จำเลยไม่จัดหา ผู้เสียหายที่ 1 จึงจัดซื้อมาใหม่และหักเงินค่าแรงจากจำเลยชดใช้ราคา และจำเลยก็นำสืบเจือสมกับทางนำสืบของโจทก์ว่า ในกรณีที่วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในงานสูญหาย จำเลยซึ่งเป็นผู้รับเหมาจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด จึงฟังได้ว่า ในกรณีที่อุปกรณ์ในการขุดเจาะสูญหายไป จำเลยจะต้องรับผิดจัดหามาชดใช้คืนแก่ผู้เสียหายที่ 1 แม้นหากจะฟังได้ตามที่จำเลยต่อสู้ว่าแบตเตอรี่ขนาด 120 แอมป์ 2 ใบ ตามที่ระบุในคำฟ้องเป็นแบตเตอรี่ที่ผู้เสียหายที่ 1 จัดหามาแทนแบตเตอรี่ 2 ใบ ที่หายไปและผู้เสียหายที่ 1 หักค่าแรงของจำเลยชดใช้ราคาแบตเตอรี่ทั้งสองใบนี้แล้วก็ตาม แบตเตอรี่ 2 ใบยังคงเป็นทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 1 อยู่นั่นเอง เพราะเป็นทรัพย์ที่จำเลยต้องจัดหามาใช้คืนแก่ผู้เสียหายที่ 1 ตามที่ตกลงกันไว้ หาใช่ทรัพย์ของจำเลยไม่ จำเลยไม่มีสิทธิที่จะเอาแบตเตอรี่ทั้งสองใบไป ส่วนฎีกาประการอื่น ๆ ของจำเลยนั้นเป็นข้อปลีกย่อยไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลฎีกา ไม่จำต้องวินิจฉัย พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยร่วมกับพวกกระทำความผิดจริง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ตามที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกแก่จำเลยก่อนลดโทษมีกำหนด 24 ปี ศาลฎีกาเห็นว่าหนักเกินไป ไม่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี เห็นสมควรลงโทษจำคุกแก่จำเลยในอัตราโทษขั้นต่ำสุด
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยมีกำหนด 22 ปี 6 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 15 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share